"สมศักดิ์" โชว์ศักยภาพ "นับคาร์บ" ทะลุ 14 ล้านคน ชง NCDs เป็นวาระแห่งชาติ มี.ค.นี้

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานแถลงข่าวเผยแพร่ผลการขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ภูวเดช สุระโคตร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมต่างๆ และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม ที่กระทรวงสาธารณสุข 


โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นปัญหาสำคัญของโลก รวมถึงไทย  ทำให้รัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข จึงให้ความสำคัญในการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ขับเคลื่อนผ่าน 4 กลไก คือ  1. อสม. จำนวน 1,070,00 คน ปัจจุบันนับคาร์บเป็น 100% 2.ศูนย์ NCDs  3.ศูนย์ป้องกันโรคไม่ติดต่อ และ 4.คลินิก NCDs ซึ่งในขั้นตอนต่อไป กระทรวงสาธารณสุข จะผลักดัน เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม จะได้ลดผู้ป่วย ลดการเสียชีวิต และลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ โดยจะเสนอครม. ภายในเดือน มี.ค.นี้ 


“NCDs มีจุดเริ่มต้น จากความสนใจหลายประเด็น ทั้งการใช้เงินในการล้างไต ฟอกไต ที่มีการเพิ่มเงินในแต่ละปีกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งถ้ายังปล่อยให้เพิ่มขึ้น ก็จะมีปัญหาแน่ รวมถึงเห็นตัวเลขการใช้เงินถึง 52% ของงบประมาณ สปสช. หรือ กว่า  7.9 หมื่นล้านบาทในการรักษา จึงหันมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยการขับเคลื่อนนโยบาย NCDs ในปี 2568 จะเน้น 4 ประเด็น คือ 1.ลดบริโภคเกลือ 2.ส่งเสริมการออกกำลังกาย 3.เพิ่มโปรตีน 4.เพิ่มไขมันดี ส่วนเป้าหมายในการขับเคลื่อน ปี 2568 คือ 1.คลินิก NCDs รักษาหาย ครบทุกโรงพยาบาล 2.ศูนย์ป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทุกอำเภอ 3.ศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs ทุกตำบล 4. NCDs ดีได้ด้วยกลไก อสม.ในทุกหมู่บ้าน 5. วันที่ 20 มี.ค.68 นับคาร์บได้ 20 ล้านคน และ 6. วันที่ 30 ก.ย.68 นับคาร์บได้ 50 ล้านคน โดยต้องยอมรับว่า เราเดินนำหน้าหลายประเทศ เพราะนโยบายประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ และ รมว.สาธารณสุข สหรัฐอเมริกา ก็มีความมุ่งมั่นจัดการโรคอ้วน เบาหวาน เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีให้กับชาวอเมริกา ผมจึงขอเน้นย้ำว่า ถ้าไม่อยากอัมพฤกษ์ อัมพาต ก็ขอให้นับคาร์บ” รมว.สาธารณสุข กล่าว


ขณะที่ นายแพทย์ภูวเดช ได้กล่าวถึงความสำเร็จของการดำเนินงานนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรังว่า การขับเคลื่อนโครงการที่ผ่านมา ได้คิกออฟไปแล้ว 6 ครั้ง และอีก 2 แห่ง คือ ครั้งที่ 1 จ.สงขลา มีผู้เข้าร่วม Onsite 2,000 คน Online 29,700 คน ครั้งที่2 จ.นครพนม มีผู้เข้าร่วม Onsite 3,000 คน Online 153,000 คน ครั้งที่ 3 จ.นครสวรรค์ มีผู้เข้าร่วม Onsite 2,000 คน Online 212,000 คน ครั้งที่ 4 จ.ชลบุรี มีผู้เข้าร่วม Onsite 1,200 คน Online 135,000 คน ครั้งที่ 5 จ.อุบลราชธานี มีผู้เข้าร่วม Onsite 4,500 คน Online 223,000 คน ครั้งที่ 6 จ.เชียงใหม่ มีผู้เข้าร่วม Onsite 5,000 คน Online 250,000 คน และมีเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง คือ จ.เชียงราย มีผู้เข้าร่วม Onsite 1,500 คน Online 15,000 คน และ จ.ศรีสะเกษ มีผู้เข้าร่วม Onsite 2,000 คน โดยเป็นกิจกรรม ที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทุกพื้นที่รับทราบ ซึ่งเป้าหมายหลักคือ อสม.ที่จะไปแนะนำประชาชนต่อ โดยจากการคิกออฟ มีอสม. 1,075,255 คน นับคาร์บเป็น 100% แล้ว และมีประชาชน นับคาร์บเป็น 13,517,169 คน รวมเป็น 14,592,424 คน ส่วนการจัดตั้งหน่วยบริการตามนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs มีการจัดตั้งคลินิก NCDs รักษาหาย 1.รพศ./รพท. ดำเนินการได้ จำนวน 131 แห่ง จาก 134 แห่ง 2.รพช. ดำเนินการได้ จำนวน  563 แห่ง จาก 770 แห่ง 3.รพ.สต. ดำเนินการได้ จำนวน 2,343 แห่ง จาก 4,794 แห่ง จัดตั้งศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs ใน รพ.สต. จำนวน 1,567 แห่ง จาก 7,256 แห่ง และจัดตั้งศูนย์ป้องกันโรคไม่ติดต่อในชุมชน จำนวน 878 แห่ง 


นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การขับเคลื่อนโครงการ NCDs ได้พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้นแบบ เพื่อผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากที่จังหวัดนครราชสีมา มีตัวเลขที่ได้ผลอย่างชัดเจน เมื่อข้อมูลครบถ้วน ก็จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยการขับเคลื่อนที่ผ่านมา ยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มโรค แต่ก็ได้ผลเป็นอย่างดี เช่น ที่จังหวัดนครราชสีมา เก็บตัวอย่าง 5,810 คน ลดเงิน 1 ปี กว่า 24 ล้านบาท ถ้าหากเพิ่มคนเป็น 5 แสนคน ก็จะประหยัดได้กว่า 2,400 ล้านบาท และถ้า 5 ล้านคน ก็จะประหยัดได้กว่า 24,000 ล้านบาท ดังนั้น เป้าหมาย เรามี อสม. 1,070,000 คน ซึ่งได้มอบนโยบาย 1 อสม.ต่อประชาชน 50 คน ที่ต้องไปประชาสัมพันธ์ NCDs ก็จะทำให้ประชาชน 50 ล้านคน เข้าถึงการรับรู้ 


เมื่อถามถึงกรณีการดูแลผู้ลี้ภัยด้านสาธารณสุข นายสมศักดิ์ กล่าวว่า วันที่ 21 ก.พ.นี้ ตนจะเดินทางไปติดตามที่ รพ.แม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ประกาศหยุดการช่วยเหลือ 90 วัน แต่ถ้าหยุดยาว ก็จะเป็นปัญหา แต่จากการสอบถามข้อมูลในศูนย์ผู้ลี้ภัย 9 แห่ง มีโรงพยาบาลรักษาโรคปฐมภูมิอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นโรคทุติยภูมิ ตติยภูมิ ก็จะส่งมารักษาต่อที่โรงพยาบาลของเรา ซึ่งมีตัวเลขไม่เยอะ 


"สมศักดิ์" โชว์ศักยภาพ "นับคาร์บ" ทะลุ 14 ล้านคน  ชง NCDs เป็นวาระแห่งชาติ มี.ค.นี้

สรุปข่าว

ที่มาข้อมูล : กระทรวงสาธารณสุข

ที่มารูปภาพ : กระทรวงสาธารณสุข