สทนช.คาดปีนี้ฝนหนัก ปรับระบบเตือนภัยลงลึกพื้นที่โรงพยาบาล

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)เป็นประธานการประชุมสัมมนาถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำและมาตรการรับมือในช่วงฤดูฝน ปี 2567 โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจาก 4 กระทรวง 37 หน่วยงาน คณะกรรมการลุ่มน้ำและเครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำ นักวิชาการ ภาคประชาชน ร่วมงาน 

โดย เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมบูรณาการบริหารจัดการน้ำ ทั้งก่อนฤดู ระหว่างฤดู และสิ้นสุดฤดู โดยได้เตรียมการและสร้างการรับรู้ โดยการคาดการณ์ฝนและพายุ กำหนดแผนบริหารจัดการน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันเหตุการณ์ เมื่อสิ้นสุดฤดูฝน ได้มีการประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูฝนที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงกลไกการแจ้งเตือนอุทกภัยในปีถัดไป โดยในวันนี้ยังได้มีการรายงานผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2567 และการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในภาคต่างๆ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ  ภาคกลาง  ภาคตะวันออก  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้  และหน่วยย่อยในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่ 

เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปีนี้ไทยยังอยู่ในสถานการณ์ลานีญาที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว โดยกรมอุตุนิยมวิทยาและ สสน. คาดการณ์ว่า ภาพรวมในปี 2568 ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ และมีโอกาสเกิดฝนตกหนัก  จึงอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้บางแห่ง รวมทั้งอาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงด้วย ดังนั้น การจัดประชุมสัมมนาถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำและมาตรการรับมือในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ในครั้งนี้ เพื่อจะได้นำข้อคิดเห็นปัญหาและอุปสรรค และข้อคิดเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนา ไปประกอบการจัดทำ (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 ที่มีความเข้มแข็งมากขึ้นพร้อมตั้งรับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ 

โดยเฉพาะในส่วนของ สทนช. จะใช้จุดแข็งจากการใช้ผังน้ำที่จัดทำแล้วเสร็จเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ร่วมกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการแจ้งเตือนภัยที่ต้องเพิ่มความละเอียดในระดับพื้นที่ ซึ่ง จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงการพัฒนาข้อมูล เพื่อให้การชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมล่วงหน้า ให้มีความถูกต้องและแม่นยำมากที่สุด สอดคล้องกับแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ให้มากที่สุด  อีกทั้งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพแจ้งเตือนในระดับพื้นที่ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ประปา และให้สื่อสารด้วยภาษาถิ่นเพื่อให้เข้าใจง่ายรวมทั้งเร่งสร้างการรับรู้และสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายด้านน้ำ เพื่อรับทราบและเข้าใจสถานการณ์น้ำ ลดความวิตกกังวลและเตรียมพร้อมรับมืออย่างถูกต้อง อีกทั้งเป็นเกราะป้องกันข่าวปลอม (Fake News) ให้กับสังคมด้วย

สทนช.คาดปีนี้ฝนหนัก ปรับระบบเตือนภัยลงลึกพื้นที่โรงพยาบาล

สรุปข่าว

ที่มาข้อมูล : TNN

ที่มารูปภาพ : TNN