

สรุปข่าว
วันนี้ ( 12 ก.พ. 67)องค์การพลังงานปรมาณูอังกฤษ หรือ UKAEA รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่สถาบันวิจัยในเมืองออกซ์ฟอร์ด ประสบความสำเร็จในการสร้างพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันโดยได้ปริมาณสูงสุดเป็นสถิติใหม่ โดยใช้เครื่องที่เรียกว่า Joint European Torus หรือ JET ซึ่งเป็นเครื่องจักรรูปทรงโดนัทขนาดใหญ่ เรียกอีกอย่างว่า เครื่องโทคามัก (Tokamak) สร้างพลังงานฟิวชั่นออกมาได้ 69 เมกะจูล ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วินาที โดยใช้เชื้อเพลิงเพียง 0.2 มิลลิกรัม พลังงานปริมาณดังกล่าวเพียงพอที่จะจ่ายไฟ 5 วินาทีให้กับบ้านเรือนประมาณ 12,000 หลัง
สำหรับกระบวนการสร้างพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันครั้งนี้ของ UKAEA นักวิทยาศาสตร์ได้ป้อนดิวทีเรียม และทริเทียม ซึ่งเป็นไอโซโทปของไฮโดรเจนที่เหมาะนำมาใช้สร้างพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน เข้าไปในเครื่องโทคามัก จากนั้นทีมงานได้เพิ่มอุณหภูมิในเครื่องเป็น 150 ล้านองศาเซลเซียส ร้อนกว่าแกนกลางดวงอาทิตย์ประมาณ 10 เท่า จนดิวทีเรียมและทริเทียมหลอมรวมเข้าด้วยกันและก่อตัวเป็นฮีเลียม ในกระบวนการนี้ ก็จะปล่อยความร้อนจำนวนมหาศาลออกมาด้วย ซึ่งความร้อนก็จะถูกควบคุมและนำไปใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
อัมโบรจิโอ ฟาโซลี ซีอีโอของ EUROfusion ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ 300 คนที่อยู่เบื้องหลังการทดลองนี้ กล่าวว่า นี่ถือเป็นการทดลองครั้งสุดท้ายของ JET ซึ่งดำเนินการมากว่า 40 ปี โดยการทดลองครั้งสุดท้ายและสถิติใหม่ของบริษัทถือเป็นข่าวที่น่ายินดีสำหรับโครงการฟิวชันใหม่ ๆ ในอนาคต
ฟาโซลีบอกด้วยว่า ขณะนี้ มี ITER ซึ่งเป็นเครื่องโทคามักที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ถูกสร้างขึ้นทางตอนใต้ของฝรั่งเศส และเครื่อง DEMO ที่จะสร้างต่อจาก ITER มีเป้าหมายในการผลิตพลังงานในปริมาณที่สูงขึ้น คล้ายกับโรงงานพลังงานฟิวชั่นต้นแบบ ช่วยให้เกิดความมั่นใจมากขึ้นในการพัฒนาพลังงานฟิวชันในอนาคต
อย่างไรก็ตาม อานีกา ข่าน นักวิจัยด้านพลังงานฟิวชัน จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ในอังกฤษ ระบุว่า ถึงแม้ว่าพลังงานฟิวชันจะเป็นทางออกของวิกฤตสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ที่สาเหตุหลักมาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลฝีมือมนุษย์ แต่การจะผลิตในเชิงพาณิชย์ยังต้องใช้เวลาพัฒนาเทคโนโลยีอีกหลายปี กว่าที่เทคโนโลยีนี้จะเสร็จสมบูรณ์ ก็อาจสายเกินไปแล้วที่จะใช้มันเป็นเครื่องมือหลักในการแก้ปัญหาโลกร้อน
ภาพจาก: AFP
ที่มาข้อมูล : -