TNN สิงคโปร์จ่อประหารชีวิคนักโทษ IQ ต่ำ กับคำถามกฎหมายยาเสพติดโหดเกินไปหรือไม่

TNN

World

สิงคโปร์จ่อประหารชีวิคนักโทษ IQ ต่ำ กับคำถามกฎหมายยาเสพติดโหดเกินไปหรือไม่

สิงคโปร์จ่อประหารชีวิคนักโทษ IQ ต่ำ กับคำถามกฎหมายยาเสพติดโหดเกินไปหรือไม่

สิงคโปร์เตรียมประหารชีวิตนักโทษคดียาเสพติดชาวมาเลเซียที่มี ‘ไอคิวต่ำ’ เพียง 69 ซึ่งกำลังกลายเป็นประเด็นถกเถียง และเพิ่มรอยร้าวให้ความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์


นากาเอ็นทรัน ธรรมาลิงกัม ชาวมาเลเซียวัย 33 ปี กำลังจะกลายเป็นนักโทษคนแรกของสิงคโปร์ ที่ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอนับแต่ปี 2019 โดยมีกำหนดประหารชีวิตในเช้าวันพรุ่งนี้ (10 พฤศจิกายน)


สำนักข่าว BBC และ Reuters รายงานว่า นากาเอ็นทรัน กระทำความผิดลักลอบชนเฮโรอีน หนัก 43 กรัมจากมาเลเซียเข้ามาในสิงคโปร์ เมื่อปี 2009 โดยเขาซุกซ่อนเฮโรอีนด้วยการมัดไว้กับน่องขาข้างซ้าย ตอนนั้น เขาอายุเพียง 21 ปีเท่านั้น


ตามกฎหมายสิงคโปร์แล้ว บุคคลที่ครอบครองเฮโรอีนหนักกว่า 15 กรัม จะถูกตัดสินประหารชีวิต


นากาเอ็นทรันโต้แย้งในชั้นศาลว่า เขาถูกล่อลวงให้ลักลอบขนยาเสพติด และยอมรับว่า ทำไปก็เพื่อเงิน แต่ศาลชี้ว่า คำให้การของเขาเป็นเรื่องที่กุขึ้นมา และถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในเวลาต่อมา


◾◾◾

🔴 การประหารชีวิตที่เหมาะสม หรือช่างโหดร้าย


การตัดสินประหารชีวิตนากาเอ็นทรัน เป็นประเด็นถกเถียงในเวลานี้ เพราะเขามีไอคิว หรือ ความฉลาดทางสติปัญญาเพียง 69 เท่านั้น ซึ่งเป็นระดับที่ถือว่า เป็นผู้มีความบกพร่องทางสถิติปัญญา


โดยเมื่อปี 2015 นากาเอ็นทรันยื่นอุทธรณ์ขอลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต เพราะเขามีปัญหาความบกพร่องทางสติปัญญา


เมื่อปี 2017 จิตแพทย์ คือ ดร.เค็น อึ้ง วินิจฉัยว่าเขามีความบกพร่องทางสถิติปัญญาจริงในระดับปานกลาง แล้วยังมีความผิดปกติเรื่องการดื่มอีกด้วย ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจอย่างมีนัยยะสำคัญ


แต่จิตแพทย์คนอื่นอีก 3 คน วินิจฉัยว่า นากาเอ็นทรันไม่ได้บกพร่องทางสถิติปัญญาถึงจุดที่ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ท้ายสุด ศาลยืนคำตัดสินประหารชีวิตว่า เขาไม่ได้เป็นผู้บกพร่องฯ ส่วนคำร้องขอผ่อนผันโทษต่อประธานาธิบดีสิงคโปร์ ก็ถูกปฏิเสธเมื่อปีที่แล้ว


แต่รัฐบาลสิงคโปร์ชี้แจงว่า ผู้ต้องหาเข้าใจถึงผลลัพธ์ของการกระทำของเขาดี และแม้จะมีสติปัญญาที่บกพร่อง แต่ก็รู้ถึงความผิดชอบชั่วดี


◾◾◾

🔴 โทษประหาร เพียงเพราะพกยาเสพติด


แอมเนสตี อินเทอร์เนชันแนล และฮิวแมน ไรท์ส วอช ประณามคำตัดสินดังกล่าวว่า “การพรากชีวิตผู้คนเป็นการกระทำที่โหดร้ายพออยู่แล้ว”


“แต่การแขวนคอคนเพียงเพราะพกพายาเสพติด อีกทั้งผู้ต้องหาอาจยังไม่รู้ว่า สิ่งที่เขาทำนั้นเป็นเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจอย่างมาก” เรเชล ชิฮัว-โฮวาร์ด นักวิจัยของแอมเนสตี อินเทอร์เนชันแนลในสิงคโปร์ ระบุ


สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีกฎหมายเอาผิดกรณีการลักลอบและค้ายาเสพติดรุนแรงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และการตัดสินประหารชีวิตไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่กรณีของนายนากาเอ็นทรัน กำลังสร้างแรงกระเพื่อมและต่อต้านจากสังคมสิงคโปร์


◾◾◾

🔴 “ฉันสู้หน้าแม่ไม่ได้ด้วยซ้ำ”


เวลานี้ มีชาวประชาชนมากกว่า 6 หมื่นคนที่ลงนาม เพื่อร้องขอให้ประธานาธิบดีสิงคโปร์อภัยโทษให้แก่นากาเอ็นทรัน เพราะการประหารชีวิตบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ถือเป็นเรื่องต้องห้ามตามกรอบกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล


กระแสเรียกร้องให้อภัยโทษนากาเอ็นทรันยังโหมกระพือในสังคมออนไลน์ ทั้งแสดงความโกรธเคืองต่อการลงโทษประหาร และเห็นใจผู้ต้องหา เพราะด้วยสติปัญญาที่บกพร่อง เขาอาจถูกประหารโดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตนเองทำผิดร้ายแรงแค่ไหน


นายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ ร้องขอนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เป็นการส่วนตัว เพื่อให้ระงับการประหารชีวิตนากาเอ็นทรัน ไม่เพียงเท่านั้น ชาวมาเลเซียจำนวนหนึ่งยังออกมาประท้วงขอชีวิตให้เขาอีกด้วย


ซาร์มิลา ธรรมะลิงกัม พี่สาวของนากาเอ็นทรัน ภาวนาขอให้ศาลรับคำอุทธรณ์ร้องขอชีวิตของนากาเอ็นทรัน ซึ่งจะตัดสินภายในวันนี้ (9 พฤศจิกายน)


“พอฉันอยู่คนเดียว ฉันก็คิดถึงน้องชายฉัน มันเจ็บปวด แต่เราต้องเข้มแข็งและภาวนาต่อไป เพราะอะไรก็อาจเกิดขึ้นได้” เธอบอกกับ BBC


แต่เธอยอมรับว่า ตอนที่ได้รู้กำหนดประหารของน้องชาย เธอได้แต่ร้องไห้ ยอมรับไม่ได้ ไม่กล้าบอกมารดา เพราะแม่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว “ฉันสู้หน้าแม่ไม่ได้ด้วยซ้ำ”

—————

เรื่อง: ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล

ภาพ: Reuters

ข่าวแนะนำ