TNN สตรีแกร่งจีนทลายเพดานแก้ว นักอวกาศหญิงคนแรกแห่งสถานีอวกาศจีน สู่แรงบันดาลใจทลายกำแพงทางเพศ

TNN

World

สตรีแกร่งจีนทลายเพดานแก้ว นักอวกาศหญิงคนแรกแห่งสถานีอวกาศจีน สู่แรงบันดาลใจทลายกำแพงทางเพศ

สตรีแกร่งจีนทลายเพดานแก้ว นักอวกาศหญิงคนแรกแห่งสถานีอวกาศจีน สู่แรงบันดาลใจทลายกำแพงทางเพศ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ จีนเพิ่งส่งยานเสินโจว- 13 พร้อมกับนักบินอวกาศชุดใหม่ 3 คน ไปยังอวกาศเพื่อเดินหน้าสร้างสถานีอวกาศเทียนกง ให้แล้วเสร็จในปีหน้า นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าด้านอวกาศของจีน ยังหมายถึงก้าวกระโดดครั้งสำคัญในอาชีพของผู้หญิงจีนด้วย

เพราะหนึ่งในนักบินชุดนี้ เป็นผู้หญิงจีนคนแรก ที่จะได้ปฏิบัติงานบนสถานีอวกาศ โดยสื่อฮ่องกงมองว่า การที่นักบินหญิงจีนคนแรกจะได้ฝากรอยเท้าไว้ในอวกาศ เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญแก่ผู้หญิงในสาขาอาชีพอื่น ๆ เช่น นักวิทยาศาสตร์และ วิศวกร ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายด้วย


South China Morning Post ระบุว่า จีนตั้งเป้าที่จะเป็นมหาอำนาจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ โดดเด่นภายในกลางศตวรรษนี้ แต่การกีดกันทางเพศที่มีอยู่ในสังคมและในวิชาชีพด้านเทคนิค จะขัดขวางเป้าหมายดังกล่าว เพราะประชากรกว่าครึ่งยังถูกด้อยค่า

รายงานระบุว่า ผู้หญิงจีนมีอัตราส่วนในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยและระดับแรงงานสูง ในปี 2019 บัณฑิตวิทยาลัย 49% เป็นผู้หญิง แต่เป็นเรื่องน่าเศร้า ที่ตำแหน่งด้านการวิจัยที่มีชื่อเสียงที่สุดนั้น ยังมีผู้หญิงไม่เพียงพอ

ในบรรดาผู้ที่มีตำแหน่งนักวิชาการอันทรงเกียรติของ Chinese Academy of Sciences หรือ สถาบันวิทยาศาสตร์จีน มีผู้หญิงเพียง 6% ขณะที่ Chinese Academy of Engineering หรือสถาบันบัณฑิตวิศกรรมจีน มีผู้หญิงเพียง 5.3% เท่านั้น

แม้แต่ ถู โยวโยว (Tu Youyou) นักวิทยาศาตร์หญิงคนแรกของจีนที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ในปี 2015 จากการคิดค้นยาต้านมาลาเรียจากสมุนไพรจีนและตำรายาโบราณ ก็เคยถูกปฏิเสธให้ดำรงตำแหน่งนักวิชาการมาแล้วหลายครั้ง

◾◾◾
🔴 หญิงจีนทะลุเพดานปิตาธิปไตย

ในแวดวงอวกาศจีน ปัจจุบัน มีนักบินอวกาศหญิงชาวจีนเพียง 2 คน จากทั้งหมด 12 คน ที่เคยเดินทางไปในอวกาศ คนแรกคือ หลิว หยาง หนึ่งในนักบินอวกาศที่ปฏิบัติภารกิจเสินโจว 9 ในปี 2012

เธอถูกส่งขึ้นไปกับยานอวกาศเสินโจว 9 ด้วยจรวดลองมาร์ช 2F และเข้าเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศเทียนกง-1 ของจีน 2 ครั้ง โดยมีภารกิจทดลองทางการแพทย์ในอวกาศด้วย เธอปฏิบัติภารกิจในอวกาศรวมทั้งสิ้น 13 วัน

และคนที่ 2 คือ หวัง ย่าผิง หนึ่งในนักบินอวกาศ ที่ถูกส่งขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศเทียนกงชุดล่าสุด

ย่าผิงได้รับคัดเลือกให้เป็นนักบินอวกาศหญิงคนที่ 2 ในภารกิจยานเสินโจว-10 เมื่อปี 2013 เธอได้รับสมญานามว่า เป็นคุณครูอวกาศคนแรกของจีน หลังจากบรรยายให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ผ่านทางโทรทัศน์แก่เด็กนักเรียนกว่า 60 ล้านคน ขณะปฏิบัติภารกิจอยู่ในยานเสินโจว -10

และในภารกิจที่ 2 กับการสร้างสถานีอวกาศเทียนกง ย่าผิงกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ทำงานบนสถานีอวกาศของจีน และจะเป็นผู้หญิงจีนคนแรกที่ได้ฝากรอยเท้าไว้ในอวกาศ กับทำภารกิจ Spacewalk หรือ เดินอยู่ในอวกาศด้วย

นอกจากนี้ เธอยังกลายเป็นสัญลักษณ์ของสตรีผู้บุกเบิกด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งในประเทศจีน ส่วนใหญ่อาชีพเหล่านี้เป็นของผู้ชาย โดยเฉพาะตำแหน่งระดับบนสุด

◾◾◾
🔴 ภารกิจสร้างสถานีอวกาศจีน

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา หวัง ย่าผิง และนักบินอวกาศชายอีก 2 คน คือ ไจ๋ จื้อ กัง และ เย่ กวง ฟู่ เดินทางไปกับยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมเสินโจว-13 ถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศด้วยจรวดลองมาร์ช 2 เอฟ (Longmarch-2F) จากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียนทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เพื่อการก่อสร้างสถานีอวกาศของจีน

โดยมีไจ๋เป็นผู้บัญชาการ และหวังย่าผิง เป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกของจีน ที่ได้เยือนสถานีอวกาศจีนและปฏิบัติกิจกรรมนอกยานอวกาศ ขณะที่เย่เป็นนักบินอวกาศหน้าใหม่ที่จะได้ขึ้นสู่ห้วงอวกาศเป็นครั้งแรก

นักบินอวกาศทั้ง 3 คน จะอาศัยอยู่ในอวกาศเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีมาของนักบินอวกาศจีน

ทีมนักบินอวกาศจะประจำการอยู่ในโมดูลหลัก เพื่อปฏิบัติงานและใช้ชีวิตตามตารางเวลาที่เหมือนกันกับบนโลก แต่ภารกิจหลักคือการก่อสร้างสถานีอวกาศให้แล้วเสร็จทันตามกำหนดในปี 2022

◾◾◾
🔴 แรงบันดาลใจของหญิงจีน

South China Morning Post ระบุว่า ทั้งหวัง ย่าผิง และหลิว หยาง คือแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่แก่ผู้หญิงจีน ในการต่อสู้บนเส้นทางอาชีพที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายครอบครอง

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน ได้เล็งเห็นถึงความไม่สมดุลระหว่างเพศ จึงได้จัดตั้งโครงการเฟ้นหาและส่งเสริมผู้หญิงที่มีพรสวรรค์มาหลายปีแล้ว

ล่าสุดคือการให้ความสำคัญกับนักวิจัยหญิง ด้วยการให้ทุนสนับสนุนโครงการของพวกเธอ หากผลงานได้มาตรฐาน
—————
เรื่อง: สุภาพร เอ็ลเดรจ
ภาพ: Xinhua and Reuters

ข่าวแนะนำ