ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า คิม โยจอง อาจกลายเป็นผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือคนใหม่ต่อจากพี่ชาย
หนังสือพิมพ์ SCMP วิเคราะห์ถึงย่างก้าวของเกาหลีเหนือในการแต่งตั้ง คิม โยจอง น้องสาวของผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือวัย 34 ปี เข้าสู่คณะกรรมการกิจการแห่งรัฐ พร้อมกับสมาชิกอีก 7 คน ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ชายที่อายุมากกว่าเธอทั้งหมด ถือเป็นการกระชับอำนาจให้กับคิม โยจอง เปรียบเป็นผู้นำหมายเลขสองของเกาหลีเหนือ
คณะกรรมการกิจการแห่งรัฐ หรือ SAC นั้นเป็นองค์กรสูงสุดของอำนาจรัฐ มีนายคิม จองอึนเป็นประธาน โดย SAC มีหน้าที่คิดและตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายหลัก ๆ ของประเทศ เช่น กลาโหมและความมั่นคง รวมถึงดูแลเรื่องการบังคับใช้นโยบายด้วย
ศาสตราจาร์ยยัง มู-จีน ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งกรุงโซล กล่าวว่า การเข้าสู่ SAC ของคิม โยจอง นั้นสำคัญมาก เพราะเป็นการกระชับบทบาทของเธอที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ศาสตราจารย์ยังกล่าวว่า การปรับตำแหน่งครั้งใหม่นี้เป็นการนำบรรยากาศใหม่ๆมาสู่คณะกรรมการ SAC โดยหน้าที่ของคิม โยจอง เน้นไปที่การดูแลเรื่องการเปลี่ยนแปลงบุคลากร โฆษณาชวนเชื่อ กิจการสองเกาหลี และความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ
สตรีผู้เสียงดังขึ้น ๆ เรื่อย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา คิม โยจอง มีปากมีเสียงมากขึ้นเรื่อยๆในกิจการระหว่างประเทศ มีการออกแถลงการณ์ที่ใช้ถ้อยคำรุนแรงในเรื่องการทูตที่สำคัญ ๆ เช่น การเจรจาเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เธอแสดงการสนับสนุนคำกล่าวของประธานาธิบดีมุน แจอิน ของเกาหลีใต้ ที่เสนอว่าสองเกาหลี สหรัฐฯและจีน ควรเจรจาเพื่อประกาศยุติสงครามเกาหลีอย่างเป็นทางการที่การแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ซึ่งจีนจะเป็นเจ้าภาพในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า
คิม โยจอง กล่าวว่า เป็นความคิดที่น่าชื่อชม แต่การประกาศยุติสงครามนั้น จะมีขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเกาหลีใต้ต้องยกเลิกนโยบายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเกาหลีเหนือก่อน
วางบทบาทคนหนึ่งดี คนหนึ่งร้าย
อย่างไรก็ตาม โซจิน ลิม ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีศึกษาจาก University of Central Lancashire กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีความไม่แน่นอนในเรื่องของอำนาจความสัมพันธ์ระหว่างสองพี่น้อง
โดยเห็นได้จากการที่คิม โยจอง ตำหนิผู้นำเกาหลีใต้อย่างรุนแรงในเดือนมีนาคม
แต่สองวันต่อมา คิม จองอึนส่งสารแสดงความเสียใจต่อสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในเกาหลีใต้และยังระบุด้วยว่ามีความไว้ใจในประธานาธิบดีมุน แจอิน
ลิม ระบุว่า ข้อความเหล่านี้ ทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญตีความไปหลายทาง เช่น สองพี่น้องมีความไม่ลงรอยกัน หรือไม่ก็เป็นการวางบทบาทให้คนหนึ่งดี คนหนึ่งร้าย
ลิมกล่าวว่า ครอบครัวคิมนั้นมีการสังหารหรือไม่ก็ประหารชีวิตสมาชิชายในครอบครัวไปแล้วหลายคน รวมถึงคิม จองนัม พี่ชายต่างมารดาของคิม จองอึน ที่ถูกป้ายยาพิษที่สนามบินกัวลาลัมเปอร์ในปี 2017
ดังนั้น สถานะความสัมพันธ์ระหว่างคิม โยจอง และคิม จองอึน จึงเป็นที่จับตา โดยเฉพาะเมื่อสุขภาพของคิม จองอึนไม่แข็งแรง และคิม โยจองนั้นจึงอยู่ในสถานะที่ท้าทายอำนาจสูงสุดได้
ความเป็นไปได้ผู้นำหญิงโสมแดง
แม้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่คิม โยจอง จะขึ้นเป็นผู้นำสูงสุด เพราะเกาหลีเหนือนั้นเป็นสังคมปิตาธิปไตย แต่ก็มีความเชื่อกันว่า หากคิม จองอึนเสียชีวิตก่อนที่ลูกชายคนโตของเขา ซึ่งเกิดในปี 2010 จะโต ก็น่าจะเป็นคิม โยจอง ที่สืบทอดอำนาจต่อจากเขาก่อน
ลิมกล่าวว่า นอกจากคิม โยจองจะได้รับการเลื่อนขั้นหลายครั้งและมีบทบาทในกรมโฆษณาชวนเชื่อแล้ว ยังมีความเชื่อกันว่าเธอสมรสกับโช ซอง ซึ่งเป็นลูกชายของโช รียอง แฮ เลขาธิการพรรคแรงงานเกาหลีเหนือ ซึ่งทำให้เธอมีอำนาจทางการเมืองในอีกทาง
ลิมอธิบายว่า สิ่งที่จะชี้ชัดว่าคิม โยจอง จะเป็นผู้สืบทอดอำนาจตัวจริงต่อจากพี่ชายก็คือ เมื่อใดที่มีการแต่งตั้งเธอเข้าสู่คณะกรรมการกลาโหมแห่งชาติ และหากมีการแต่งตั้งเร็ววันนี้ ก็หมายความว่า เกาหลีเหนือกำลังเตรียมพร้อมที่จะมีผู้นำหญิงคนแรกนั่นเอง
ต่อสายด่วนเหนือ-ใต้อีกครั้ง
สำนักข่าว KCNA ของเกาหลีเหนือ รายงานว่า เกาหลีเหนือจะรื้อฟื้นโทรศัพท์สายด่วนระหว่าง 2 เกาหลีที่ถูกตัดไป เริ่มวันจันทร์นี้ โดยโทรศัพท์สายด่วนถูกเชื่อมต่อสัญญาณในเวลา 09.00 น.ของวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลา 07.00 น.ตามเวลาในไทย
แต่สื่อเกาหลีเหนือยังเรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีใต้ ดำเนินการตาม “ภารกิจ” เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ข้ามพรมแดนที่ตึงเครียดให้สำเร็จ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
ก่อนหน้านี้ คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ แสดงความตั้งใจเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่จะกลับมาใช้งานโทรศัพท์สายด่วนอีกครั้ง ซึ่งเกาหลีเหนือตัดไปในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อเป็นการประท้วงการซ้อมรบร่วมของกองทัพเกาหลีใต้และสหรัฐฯ เพียงไม่กี่วันหลังกลับมาเปิดใช้ใหม่เป็นครั้งแรกในรอบหนึ่งปี
และเขายังเรียกร้องให้เกาหลีใต้ เลิกพฤติกรรม “สองมาตรฐาน” และ “ความเข้าใจผิด” กรณีกิจกรรมด้านการทหารเพื่อป้องกันตนเองของเกาหลีเหนือ ขณะเดียวกันเกาหลีใต้ก็พัฒนาอาวุธของตนเช่นกัน