TNN 'เกาหลีเหนือมีสิทธิป้องกันตนเอง' เจาะนัยยะทดสอบขีปนาวุธไม่ยอมหยุด สวนทางท่าที คุยยุติสงครามกับเกาหลีใต้

TNN

World

'เกาหลีเหนือมีสิทธิป้องกันตนเอง' เจาะนัยยะทดสอบขีปนาวุธไม่ยอมหยุด สวนทางท่าที คุยยุติสงครามกับเกาหลีใต้

'เกาหลีเหนือมีสิทธิป้องกันตนเอง' เจาะนัยยะทดสอบขีปนาวุธไม่ยอมหยุด สวนทางท่าที คุยยุติสงครามกับเกาหลีใต้

เกาหลีเหนือยิงทดสอบขีปนาวุธอีกครั้งในเช้าวันนี้ เป็นครั้งที่ 3 ในรอบไม่กี่สัปดาห์ ด้านทูตเกาหลีเหนือประจำ UN กล่าวปกป้องการยิงทดสอบขีปนาวุธทันที ต่อประชุมสมัชชาใหญ่ UN ว่า เกาหลีเหนือมีสิทธิ์ป้องกันตนเองและยิงทดสอบอาวุธ

สำนักข่าว Yonhap ของเกาหลีใต้ รายงานอ้างกองทัพเกาหลีใต้ระบุว่า เกาหลีเหนือยิงวัตถุไม่ทราบชนิด 1 ลูก ไปยังทะเลที่อยู่นอกชายฝั่งตะวันออกของเกาหลีเหนือในวันนี้ (28 กันยายน) ตามเวลาในเกาหลีใต้


ด้านนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะของญี่ปุ่น กล่าวว่า คาดว่า อาจเป็นขีปนาวุธแบบทิ้งตัว หรือ ballistic missile และญี่ปุ่นจะยกระดับการเตือนและเฝ้าระวังให้มากขึ้นไปอีก


นัยยะของการยิงขีปนาวุธ


การยิงทดสอบครั้งนี้ มีขึ้นสามวันหลังคิม โยจอง น้องสาวของผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ คิม จองอึน กล่าวว่า เกาหลีเหนืออาจประกาศยุติสงครามเกาหลีอย่างเป็นทางการตามที่เกาหลีใต้ และสามารถหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะจัดประชุมสุดยอดสองเกาหลี แต่เกาหลีใต้ต้องหยุดการกระทำสองมาตรฐานและทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเกาหลีเหนือก่อน


ทั้งนี้ เกาหลีเหนือกล่าวหามานานแล้วว่าเกาหลีใต้และสหรัฐฯ สองมาตรฐาน และยืนยันว่า ไม่มีความสมเหตุสมผลที่สองชาติประณามการยิงขีปนาวุธและอาวุธอื่นๆของเกาหลีเหนือว่าเป็น “การยั่วยุที่ไม่ได้รับอนุญาต” แต่ทั้งสองชาติกลับกระทำการทดสอบอาวุธเหมือนกันได้


นักวิเคราะห์คาดว่า การทดสอบครั้งล่าสุดนี้อาจเป็นการทดสอบว่าเกาหลีใต้จะเรียกการยิงครั้งนี้ว่าเป็นการยั่วยุอีกหรือไม่


เกาหลีใต้ระส่ำระส่าย


เกาหลีใต้ได้มีการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติฉุกเฉินและกล่าวแสดงความผิดหวังต่อการทดสอบครั้งล่าสุดนี้


ส่วนประธานาธิบดีมุน แจอินของเกาหลีใต้ ได้สั่งการให้มีการวิเคราะห์อย่างรอบด้านเชิงลึกของการยิงขีปนาวุธและแถลงการณ์ต่าง ๆ ที่ออกมาจากฝั่งเกาหลีเหนือด้วย


ทั้งนี้ มติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติแบนเกาหลีเหนือในการทำกิจกรรมใด ๆ เกี่ยวกับขีปนาวุธแบบทิ้งตัว (ballistic missile) ทุกประเภท ขณะที่เกาหลีเหนืออ้างว่าการทดสอบขีปนาวุธนั้นมีเป้าหมาย เพื่อยกระดับการป้องกันตนเองจากภัยคุกคามของเกาหลีใต้และสหรัฐฯ


การทดสอบขีปนาวุธแบบทิ้งตัวครั้งที่สามในปีนี้


หากการทดสอบล่าสุดนี้ เป็นการยิงขีปนาวุธแบบทิ้งตัวจริง จะถือเป็นการทดสอบขีปนาวุธแบบทิ้งตัวครั้งที่สามของเกาหลีเหนือในช่วงปีนี้แล้ว และเป็นการทดสอบยุทโธปกรณ์หลักครั้งที่หก


ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา เกาหลีเหนือเพิ่งยิงทดสอบขีปนาวุธพิสัยใกล้สองลูก ซึ่งเชื่อกันว่าคล้ายขีปนาวุธอิสกันเดอร์ของรัสเซีย และก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน เกาหลีเหนือได้ทดสอบขีปนาวุธร่อน หรือ cruise missile รุ่นใหม่ด้วย


เมื่อเดือนที่แล้ว เกาหลีเหนือเตือนว่ากำลังเกิดวิกฤตความมั่นคงครั้งใหญ่ขณะประท้วงการซ้อมรบฤดูร้อนระหว่างสหรัฐฯและเกาหลีใต้ โดยเกาหลีเหนือประณามว่าเป็นการซ้อมรบเพื่อเตรียมรุกราน


เกาหลีเหนือยังตำหนิเกาหลีใต้ที่ยกระดับอาวุธยุทโธปกรณ์กองทัพให้ก้าวหน้า โดยเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธทิ้งตัวที่ยิงมาจากเรือดำน้ำ และยังเปิดตัวโครงการพัฒนาขีปนาวุธร่อนความเร็วเหนือเสียง เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามด้านขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ


นอกจากนี้ กองทัพเรือเกาหลีใต้ยังมีกำหนดการเปิดตัวเรือดำน้ำชั้น 3000 ตัน ที่สามารถใช้ยิงขีปนาวุธด้วยในวันนี้ (28 กันยายน)


เกาหลีเหนือเรียกร้อง UN แก้กฎวีโต้


คิม ซอง ทูตเกาหลีเหนือประจำสหประชาชาติ UN ได้กล่าวปกป้องการยิงทดสอบ ต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ UN ที่นิวยอร์กเมื่อวานนี้ (27 กันยายน) ตามเวลาท้องถิ่นว่า เกาหลีเหนือมีสิทธิ์ป้องกันตนเองและทดสอบอาวุธ เนื่องจากสหรัฐฯ มีนโยบายเป็น “ปฏิปักษ์” ต่อเกาหลีเหนือ และกองทัพเกาหลีใต้และสหรัฐฯ เพิ่มการคุกคามต่อเกาหลีเหนือ


เขายังเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยุติการซ้อมรบร่วมกับกาหลีใต้และการวางอาวุธทางยุทธศาสตร์ไว้ในเกาหลีใต้เป็นการถาวร เพื่อส่งเสริมสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี และประกาศว่าเกาหลีเหนือไม่เคยละเมิดหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ เกาหลีใต้ และประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ


นอกจากนี้ ทูตเกาหลีเหนือยังเสนอให้แก้กฎการใช้สิทธิยับยั้ง หรือวีโต้ ให้เสียงส่วนใหญ่ของประเทศสมาชิก UN ที่มี ทั้งหมด 193 ประเทศ สามารถยับยั้งมติของคณะมนตรีความมั่นคงได้ จากเดิมที่มีเพียง 5 ประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงเท่านั้น ที่สามารถใช้สิทธิ์วีโต้ได้ คือ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส รัสเซียและจีน


ทั้งนี้ เกาหลีเหนือเป็น 1 ในประมาณ 66 ประเทศสมาชิก UN ที่ยังไม่เคยได้เข้าเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงเลย โดยคณะมนตรีความมั่นคงมีสมาชิกทั้งหมด 15 ชาติ ถาวร 5 ชาติ และไม่ถาวรอีก 10 ชาติ สมาชิกไม่ถาวรดำรงตำแหน่งวาระละ 2 ปี

ข่าวแนะนำ