ทำความรู้จัก ‘ตาลีบัน’ เหตุใดโลกจึงจับตามองหลังยึดอัฟกานิสถาน
ทำความรู้จัก ‘ตาลีบัน’ เหตุใดโลกถึงจับตามองหลังยึดครองอาฟกานิสถานและเหตุใดปชช.ถึงประหวั่นพรั่นพรึงอยากหนีออกนอกประเทศหนีการปกครองของกลุ่มนี้
อัฟกานิสถานเปลี่ยนมือ (กลับคืน) สู่การปกครองของกลุ่มติดอาวุธตาลีบันแล้ว แล้วประเทศที่เผชิญสงครามกับการต่อสู้มายาวนานนี้ จะเปลี่ยนไปอย่างไร อยู่ภายใต้การปกครองแบบไหน
1.กลุ่มตาลีบันคือใคร?
ตาลีบัน ที่แปลว่า “นักศึกษา” เกิดจากนักรบมูจาฮีดีน ที่ต่อสู้กับกองทัพรัสเซีย ในช่วงที่สหภาพโซเวียตรุกรานอัฟกานิสถานตั้งแต่ปี 1979 กลุ่มตาลีบันก่อตั้งโดยอิหม่าม ชื่อ โมฮัมหมัด โอมาร์ ในเมืองกันดาฮาร์ ช่วงปี 1994 เริ่มจากสมาชิกกลุ่มเล็ก ๆ จากนักเรียนศาสนาที่โกรธเคืองการปล้นสะดมและกดขี่ ใต้ผู้นำทางทหารในช่วงสงครามกลางเมือง ภายหลังสหภาพโซเวียตถอนทัพในปี 1989 แต่ไม่นานหลังจากนั้น อิทธิพลของกลุ่มตาลีบันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
2. อุดมคติของตาลีบันคืออะไร?
ในเมื่อเกิดจากอิหม่าม และนักเรียนศาสนา ตาลีบันจึงถูกมองว่ายึดมั่นในกฎหมายอิสลาม หรือชารีอะห์อย่างสุดโต่ง โดยในช่วงที่ปกครองอัฟกานิสถาน (จนถึงปี 2001) ทางกลุ่มออกกฎหมายที่ ‘ตีความ’ หลักอิสลามแบบฉบับชนเผ่าปัสตุนที่เรียกว่า ปัสตุนวาลี (Pashtunwali )
-ผู้หญิงไร้อิสระในที่สาธารณะ
-ผู้หญิงถูกห้ามไม่ให้ทำงาน หรือเรียนหนังสือ
-ผู้หญิงต้องอยู่แต่ที่บ้าน ยกเว้นมีผู้ปกครองชายอยู่ด้วย
-การประหารและเฆี่ยนประจานในที่สาธารณะ
-สั่งห้ามภาพยนตร์และหนังสือจากชาติตะวันตก
-ทำลายวัตถุที่ ‘ตีความ’ ว่าหมิ่นศาสนา
ภายหลังกองทัพที่สหรัฐฯ สนับสนุน บุกยึดกรุงคาบูล (หลังเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001) กลุ่มตาลีบันแตกพ่าย แต่ไม่ย่อยยับ ยังกระจายตัวอยู่ตามชนบท และทำการต่อสู้กับกองทัพอัฟกานิสถาน และกองกำลังพันธมิตรชาติตะวันตกอย่างต่อเนื่อง
และดูเหมือนแนวความคิดของตาลีบันไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก เพราะหลังยึดกรุงคาบูลได้ กลุ่มตาลีบันก็เริ่มกีดกันผู้หญิงในที่สาธารณะ ตัดรูปผู้หญิงออกจากภาพต่าง ๆ วางเจ้าหน้าที่หน้าบ้านผู้หญิงที่ทรงอิทธิพล รวมถึงการสังหารนักการเมืองที่เห็นต่างกับตนเอง
3.ตาลีบันจะปกครองอัฟกาฯ ครั้งนี้อย่างไร?
อาห์หมัด ราชิด เคยเขียนหนังสือเชิงประวัติศาสตร์ กล่าวถึงการปกครองของกลุ่มตาลีบันช่วงก่อนปี 2001 ว่า ปัญหาของทางกลุ่มคือ “ยึดติดกังสังคมแบบชนเผ่าที่พยายามเพิกเฉยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างรัฐเสียใหม่”
แล้วพอกลุ่มตาลีบัน ยึดอัฟกานิสถานได้แบบสายฟ้าฟาด อดีตรองรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเตือนว่า “กลุ่มตาลีบันไม่มีเงินทุน ไม่มีแผน ไม่มีโครงการที่จะบริหารประเทศ นอกเหนือไปจากแนวคิดแบบกว้าง ๆ และคลุมเครือสำหรับรัฐบาลที่จะปกครองด้วยระบบชารีอะห์”
แต่คำถามสำคัญคือ ตาลีบัน 2021 เปลี่ยนไปจากตาลีบันเวอร์ชันก่อนปี 2001 แค่ไหน? โดยเอกสารด้านการต่อต้านก่อการร้ายเขียนโดย โทมัส รุตติก ชี้ว่า กลุ่มตาลีบันกำลังเรียนรู้และปรับตัว
“เกิดความตระหนักรู้ภายในกลุ่มว่า นโยบายแบบเดิม ๆ ทำให้ทางกลุ่มถูกโดดเดี่ยว และถูกต่อต้านจากชาวอัฟกันจำนวนมาก แม้แต่ชาวอัฟกันหัวเก่า ที่เคยอ้าแขนรับกลุ่มตาลีบันมาปกครองมาแล้ว ภายหลังสงครามชิงอำนาจช่วงปี 1990s”
นั่นหมายความว่า ตาลีบันใหม่ จะดำเนินนโยบายที่เปิดกว้างและยึดหลักปฏิบัตินิยมมากขึ้นนั่นเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การตัดสินใจและดำเนินนโยบายต่าง ๆ จะยังอ้างอิงตามแนวคิดทางศาสนาที่เข้มงวดเช่นเดิม ดังนั้น สรุปคร่าว ๆ ได้ว่า หน้าตาของรัฐบาลอัฟกานิสถานใต้การปกครองตาลีบัน จะมีลักษณะดังนี้
- รัฐบาลแบบรวมศูนย์ โครงสร้างอำนาจแบบ ‘บนลงล่าง’ ภายใต้ผู้นำสูงสุด แต่ยังไม่แน่ชัดว่าใครจะขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาล
- การตั้งสภาศาสนาแบบอิหร่าน ที่มีอำนาจเหนือประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง
- ใช้กฎหมายชารีอะห์ (กฎหมายอิสลาม) ที่เข้มงวด แต่ผ่านการตีความใหม่ ให้มีความเปิดกว้าง ทันต่อยุคสมัยมากขึ้น
- สิทธิสตรีจะลดทอนลง ‘ปานกลาง-มาก’ ในอัฟกานิสถาน
- ดำเนินนโยบายเปิดประเทศและวิถีทางการทูตกับหลายประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะ จีนและรัสเซีย
- ใช้ประโยชน์จากสื่อมวลชน และการประชาสัมพันธ์ที่มากขึ้น เห็นได้จากการให้สำนักข่าวถ่ายทำกิจกรรมต่าง ๆ และให้สัมภาษณ์แบบ Exclusive มากขึ้น
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ กลุ่มตาลีบันให้คำมั่นจะต่อสู้กับการก่อการร้าย และจะไม่ยอมให้อัฟกานิสถานเป็นฐานปฏิบัติการก่อการร้ายให้กับกลุ่มอย่างอัลกออิดะห์
แต่ต้องอย่าลืมว่า อัฟกานิสถานมีโอกาสที่กลุ่มอัลกออิดะห์ และกลุ่มไอเอส จะกลับมาเติบโตได้มากขึ้น เพราะชัยชนะของกลุ่มตาลีบัน ถูกมองว่าเป็นชัยชนะเหนือสหรัฐฯ ด้วย