ปรากฏการณ์ คว่ำบาตร สหรัฐฯ-เทสลา

กระแสบอยคอตต์ หรือคว่ำบาตร สินค้าอเมริกันกำลังแพร่หลายในประเทศต่าง ๆ หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ เดินหน้าสงครามภาษีกับคู่ค้าหลายราย รวมถึง “แคนาดา” ที่อยู่ในรายชื่อลำดับแรก ๆ โดยสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีร้อยละ 25 สำหรับภาษีทุกรายการจากแคนาดา ก่อนจะระงับภาษีบางส่วนเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 2 เมษายนนี้ รวมถึงมีแผนเพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากแคนาดาเป็นร้อยละ 50 จากเดิมร้อยละ 25 แต่ยกเลิกไปหลังจากรัฐออนแทริโอของแคนาดาขู่จะตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีร้อยละ 25 สำหรับไฟฟ้าที่ส่งไปยังรัฐทางตอนเหนือของสหรัฐฯ และพร้อมตัดไฟทั้งหมด 


ท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์ดังกล่าวเพิ่มความไม่พอใจนอกเหนือจากคำพูดที่ว่าอยากให้แคนาดาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ชาวแคนาดาบางส่วนรณรงค์คว่ำบาตรสินค้าจากสหรัฐฯ อย่างกรณีของเว็บไซต์ “เมด อิน แคนาดา” ที่รวบรวมรายชื่อสินค้าที่ผลิตในแคนาดาเป็นทางเลือกแทนสินค้าอเมริกัน และมีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีแอปพลิเคชันสำหรับช่วยให้ผู้บริโภครู้ว่าเป็นสินค้าของสหรัฐฯ หรือไม่ อาทิ บาย บีเวอร์ (Buy Beaver) และเมเปิล สแกน (Maple Scan) ส่วนหน่วยงานท้องถิ่นที่ควบคุมเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรัฐออนแทริโอ บริติชโคลัมเบียและนิวบรันสวิก ก็สั่งให้ถอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกจากชั้นจำหน่าย 


การคว่ำบาตรสินค้าอเมริกันยังเกิดขึ้นในหลายประเทศของยุโรปเช่นกัน นับตั้งแต่สหรัฐฯ เก็บภาษีร้อยละ 25 สำหรับเหล็กและอะลูมิเนียมที่นำเข้าทั้งหมด มีผลตั้งแต่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งกระทบต่อคู่ค้าอย่างสหภาพยุโรป (EU) ที่ตอบโต้กลับด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 2.6 หมื่นล้านยูโร หรือ 2.83 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีผลตั้งแต่เดือนเมษายน และประธานาธิบดีทรัมป์ก็ขู่จะตอบโต้กลับอีกด้วยการขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 200 


ชาวเดนมาร์กจำนวนหนึ่งเลือกที่จะไม่ซื้อสินค้าแบรนด์อเมริกัน อาทิ น้ำอัดลม ไวน์ อัลมอนด์จากแคลิฟอร์เนีย และรถเทสลา โดยนอกเหนือจากการตอบโต้มาตรการภาษีของสหรัฐฯ พวกเขายังไม่พอใจที่ก่อนหน้านี้ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศอยากได้เกาะกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นดินแดนปกครองตนเองภายใต้อาณัติของเดนมาร์ก โดยเพจเฟซบุ๊กของเดนมาร์กที่แปลว่า “คว่ำบาตรสินค้าจากสหรัฐฯ” (Boykot varer fra USA) ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 81,000 คน ด้านซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่สุดของเดนมาร์กอย่าง “แซลลิง กรุ๊ป” (Salling Group) จัดทำฉลากรูปดาวสำหรับติดบนสินค้าที่ผลิตในยุโรป เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคท้องถิ่น แต่ไม่ได้แบนสินค้าจากสหรัฐฯ ที่ยังมีจำหน่ายอยู่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปฏิกิริยาของชาวเดนมาร์กที่สะท้อนความไม่พอใจชัดเจนที่สุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน


เช่นเดียวกับชาวฝรั่งเศสบางส่วนที่ไม่อุดหนุนสินค้าอเมริกัน รวมถึงรถแบรนด์เทสลา อย่างกรณีของ “โรแม็ง รอย” เจ้าของบริษัทแผงโซลาร์เซลล์ชาวฝรั่งเศส ที่สั่งซื้อรถยนต์เทสลาใหม่ทุกปีตั้งแต่ปี 2564 แต่ล่าสุดได้ยกเลิกคำสั่งซื้อรถ 15 คัน เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านนโยบายของ “อีลอน มัสก์” และประธานาธิบดีทรัมป์ พร้อมกับตั้งใจจะซื้อรถยุโรปแทน แม้จะต้องจ่ายเพิ่มอีก 150,000 ยูโร หรือ 164,000 ดอลลาร์ ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มเฟซบุ๊กที่ชื่อ “คว่ำบาตรสหรัฐฯ ซื้อสินค้าฝรั่งเศสและยุโรปแทน” (Boycott USA, Buy French and European!) ซึ่งภายในเวลาเพียง 2 สัปดาห์หลังเปิดตัวเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ก็มีสมาชิกกว่า 20,000 คน นอกจากนี้ แอปพลิเคชันส่งข้อความในฝรั่งเศสอย่าง “ทรีบัล” (Treebal) มีสมาชิกเพิ่มขึ้น 200 รายต่อวันนับตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง เพราะเป็นทางเลือกแทนแพลตฟอร์มโซเชียลของสหรัฐฯ เช่น X และวอตส์แอป (Whatsapp)


ในเยอรมนีก็เกิดปรากฏการณ์นี้เช่นกัน ผลสำรวจโดยกลุ่มวิจัยซีเวย์ (Civey) พบว่า ชาวเยอรมันร้อยละ 64 ที่ตอบแบบสอบถามต้องการหลีกเลี่ยงสินค้าอเมริกันหากทำได้ และบางส่วนยอมรับว่านโยบายของสหรัฐฯ มีส่วนต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของพวกเขา 


อย่างไรก็ตาม “อลัน แบรดชอว์”  อาจารย์ด้านการตลาดจากรอยัล ฮอลโลเวย์ แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน อธิบายว่า กระแสคว่ำบาตรที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มจะส่งผลต่อแบรนด์ต่าง ๆ มากกว่าเศรษฐกิจโดยรวม เพราะผู้บริโภคจะยังซื้อสินค้า แทนที่จะไม่ซื้อเลย และกลุ่มผู้บริโภคที่คว่ำบาตรยังมีขนาดเล็ก เมื่อเทียบผู้บริโภคหลายร้อยล้านคนทั่วยุโรป

สรุปข่าว

กระแสบอยคอตต์ หรือคว่ำบาตร สินค้าอเมริกันกำลังแพร่หลายในประเทศต่าง ๆ ทั้งแคนาดา เดนมาร์ก เยอรมนี ฝรั่งเศส หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ เดินหน้าสงครามภาษีกับคู่ค้าหลายราย ขณะที่ "เทสลา" เป็นด่านหน้าที่ได้รับแรงกระแทกจากยอดขายและหุ้นที่ร่วงหนัก รวมถึงความไม่พอใจของชาวอเมริกันที่มีต่อบทบาทของ "อีลอน มัสก์" ทำให้ความมั่งคั่งลดวูบภายในเวลา 3 เดือน

ความขัดแย้งจากสงครามการค้าดูเหมือนจะส่งผลกระทบชัดเจนต่อ “เทสลา” มากที่สุด นอกเหนือจากการเป็นแบรนด์อเมริกันชั้นนำ CEO “อีลอน มัสก์” ก็มีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงหาเสียงจนถึงขณะนี้ก็รับหน้าที่ดูแลกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล (DOGE) ซึ่งนำไปสู่การปลดพนักงานของภาครัฐจำนวนมากเพื่อลดต้นทุน แต่ก็ปลุกความไม่พอใจจนเกิดการประท้วงที่ศูนย์จำหน่ายเทสลาทั้งในสหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ เยอรมนี โปรตุเกส ซึ่งในหลายกรณีที่สร้างความเสียหายให้กับศูนย์บริการ สถานีชาร์จ และรถยนต์ของเทสลา แม้ประธานาธิบดีทรัมป์จะออกโรงปกป้อง แต่สถานการณ์ของ “เทสลา” ก็ไม่สู้ดีนัก ซึ่งซ้ำเติมจากความต้องการซื้อรถ EV ที่ชะลอตัวลง


โดยยอดขายของ “เทสลา” ในยุโรปร่วงลงถ้วนหน้าในเดือนมกราคมปีนี้ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเฉพาะเยอรมนีที่เป็นตลาดรถ EV ขนาดใหญ่สุดใน EU ข้อมูลจากสำนักงานขนส่งทางบกแห่งเยอรมนี รายงานว่า ในเดือนมกราคมปีนี้ มีรถยนต์เทสลาใหม่จดทะเบียน 1,277 คัน ลดลงร้อยละ 59.5 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนในฝรั่งเศส ยอดจดทะเบียนรถใหม่ของเทสลาในเดือนมกราคมอยู่ที่ราว 1,141 คัน ลดลงร้อยละ 63.4 จากปีที่แล้ว ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2565 และคิดเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับยอดจดทะเบียนรถ EV ใหม่โดยรวมในฝรั่งเศสที่ลดลงเพียงร้อยละ 6.2


ส่วนยอดขายรถ EV โดยรวมในเยอรมนีเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ยอดขายของ “เทสลา” กลับลดลงมากกว่าร้อยละ 70 เมื่อเทียบรายปี มีรถเทสลาใหม่จดทะเบียนในเดือนกุมภาพันธ์น้อยกว่า 1,500 คัน เช่นเดียวกับยอดขายในประเทศอื่น ๆ ของยุโรปก็ลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ ในฝรั่งเศสยอดขายลดลงร้อยละ 45 สวีเดนลดลงร้อยละ 42 และนอร์เวย์ลดลงร้อยละ 48 


ยอดขายนอกยุโรปก็ลดลงเช่นกัน อย่างในออสเตรเลีย ข้อมูลจากสมาคมรถยนต์ไฟฟ้า เผยว่า ยอดขายของ เทสลาในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้อยู่ที่ 1,592 คัน ลดลงร้อยละ 72 เมื่อเทียบกับยอดขาย 5,665 คันในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2567 สำหรับยอดขายในจีนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ข้อมูลจากสมาคมรถยนต์ส่วนบุคคลของจีน ระบุว่า มีจำนวน 26,677 คัน ลดลงร้อยละ 11.16 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และลดลงร้อยละ 20 จากเดือนมกราคม

ขณะที่ราคาหุ้นของ “เทสลา” ร่วงลงเกือบครึ่งในเวลาเพียง 3 เดือน โดยมูลค่าตลาด (market cap) ของ “เทสลา” เคยแตะระดับสูงสุดตลอดกาลที่ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับการประกาศชัยชนะอย่างเป็นทางการ แต่หลังจากนั้นก็ปรับลดลงต่อเนื่องราว 7 แสนล้านดอลลาร์ หรือลดลงร้อยละ 45 นับถึงปัจจุบันที่อยู่ที่กว่า 7.3 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนราคาหุ้นที่เคยพุ่งแตะระดับสูงสุดที่ 436 ดอลลาร์ต่อหุ้น ขณะนี้ก็เคลื่อนไหวแถว 233 ดอลลาร์


ทั้งนี้ มีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของเทสลา ซึ่งรวมถึงยอดขายรถยนต์และผลกำไรที่ลดลง ประกอบกับการประท้วงต่อต้านบทบาททางการเมืองของ “มัสก์” ที่ไม่ได้กระทบแค่ตัวบุคคล แต่ส่งผลถึงแบรนด์ด้วย ขณะเดียวกัน นักลงทุนก็กังวลว่าการทำงานการเมืองจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการดูแลธุรกิจของ “มัสก์” ที่มีหลากหลาย ทั้งเทสลา, แพลตฟอร์ม X, สเปซเอ็กซ์ ซึ่งเจ้าตัวก็เพิ่งยอมรับระหว่างการให้สัมภาษณ์กับ “ฟ็อกซ์ บิสซิเนส” ว่า เขาจัดการงานของบริษัททั้งหมดควบคู่ไปกับตำแหน่งใหม่ในรัฐบาลได้ด้วยความยากลำบาก 


การร่วงลงอย่างหนักของราคาหุ้น “เทสลา” ส่งผลให้ความมั่งคั่งของ “มัสก์” ลดลงมากเช่นกัน หากย้อนไปในวันที่ 17 ธันวาคม เขามีความมั่งคั่งสุทธิแตะ 4.86 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดทำสถิติในดัชนีบลูมเบิร์ก บิลเลียนแนร์ อินเด็กซ์ และเป็นมหาเศรษฐีคนแรกที่รวยทะลุหลัก 4 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งความมั่งคั่งส่วนใหญ่ของเขามาจาก “เทสลา” ที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นเกือบเท่าตัวหลังชัยชนะของ “ทรัมป์” 


อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นราคาหุ้นเทสลาก็ร่วงลงต่อเนื่อง และทำให้ความมั่งคั่งของ “มัสก์” หายไปราว 1.5 แสนล้านดอลลาร์ อยู่ที่ 3.3 แสนล้านดอลลาร์ นับถึงวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา และหากเทียบตั้งแต่ต้นปี 2568 ความมั่งคั่งของเขาหายไป 1.26 แสนล้านดอลลาร์


นอกเหนือจาก “มัสก์” ยังมีมหาเศรษฐีอเมริกันอีกหลายคนที่มีความมั่งคั่งลดลงในช่วง 7 สัปดาห์หลังพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยมหาเศรษฐี 5 รายสูญเสียความมั่งคั่งรวมกัน 2.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามดัชนีของบลูมเบิร์กที่ประเมินเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดิ่งแรง


“เจฟฟ์ เบโซส” ผู้ก่อตั้งแอมะซอน เป็นมหาเศรษฐีคนที่ 2 ที่ความมั่งคั่งหายไป 3.1 หมื่นล้านดอลลาร์ จากหุ้นที่ร่วงลงร้อยละ 14 ด้าน “เซอร์เกย์ บริน” ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิล มีความมั่งคั่งลดลง 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วน “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” จากเฟซบุ๊ก รวยลดลงไปราว 8 พันล้านดอลลาร์ และ “แบร์นาร์ อาร์โนลต์” เจ้าของอาณาจักร LVMH มั่งคั่งลดลง 5 พันล้านดอลลาร์ 


หลังจากนี้คงต้องจับตาว่า การคว่ำบาตรและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อยอดขายของบริษัทสหรัฐฯ ในแคนาดา ยุโรป และประเทศอื่น ๆ มากน้อยเพียงใด และสงครามการค้าจะเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งเป็นราคาที่ทุกคนต้องจ่าย

ที่มาข้อมูล : Reuters, The Guardian, AP, DW, Euronews, France 24, AFR, CBC News,

ที่มารูปภาพ : TNN