ตาลีบันยึดอัฟกานิสถาน ‘สหรัฐฯ’ ย้ำไม่แพ้สงครามซ้ำรอยไซ่ง่อน
สถานการณ์ตาลีบันยึดอัฟกานิสถานคล้ายกับสมัยสงครามเวียดนาม กำลังสะท้อนความปราชัยของสหรัฐฯหรือไม่
สถานการณ์ในอัฟกานิสถาน กำลังสะท้อนความปราชัยของสหรัฐฯ คล้ายกับสมัยสงครามเวียดนาม ที่กองทัพอเมริกันถอนทหารในปี 1975 ซึ่งไม่นานหลังจากนั้น กองทัพเวียดนามเหนือ (คอมมิวนิสต์) ได้ยึดครองไซ่ง่อนสำเร็จ แต่สหรัฐฯยืนยัน ไม่ได้พ่ายแพ้ในสงครามอัฟกานิสถานนี้
อัฟกานิสถาน = ไซ่ง่อน
สัญลักษณ์แห่งการปราชัยของสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม คือ ภาพเฮลิคอปเตอร์อพยพชาวอเมริกันและชาวเวียดนามใต้จำนวนหนึ่ง ออกจากชั้นดาดฟ้าสถานทูตสหรัฐฯ ในไซ่ง่อน
และในช่วงเวลานี้ ก็ปรากฎภาพในลักษณะนี้เหนือท้องฟ้ากรุงคาบูล กับภารกิจอพยพเจ้าหน้าที่สถานทูคสหรัฐฯและคนอเมริกันออกจากอัฟกานิสถานเช่นกัน กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯยืนยันว่า ได้อพยพเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯไปที่สนามบินฮามิด คาไซหมดแล้ว และกำลังทยอยนำเจ้าหน้าที่ออกจากอัฟกานิสถาน โดยมีการส่งกำลังพลกว่า 6,000 นายเข้ามาช่วยปฏิบัติการนี้ และทหารอเมริกันกำลังให้ความคุ้มครองสนามบินด้วย
ทิม แอช นักวิเคราะห์กล่าวกับ Reuters ว่า “เทียบกับสงครามเวียดนามแล้ว...สิ่งที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานตอนนี้ มันคล้ายกับไซ่ง่อนเลย กับภาพเฮลิคอปเตอร์ลำสุดท้ายของสหรัฐฯ หนีออกมา”
อย่างไรก็ตาม แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวปกป้องการตัดสินของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ยืนยันต้องถอนทหารสหรัฐฯออกภายในสิ้นเดือนนี้ แม้จะมีคำเตือนมาตลอดว่าจะทำให้สถานการณ์ในอัฟกานิสถานแย่ลง
บลิงเคนบอกกับสำนักข่าว CNN ว่า “นี่ไม่ใช่ไซ่ง่อน เพราะเราไปอัฟกานิสถานเมื่อ 20 ปีที่แล้วด้วยภารกิจเดียว นั่นก็คือการรับมือกับคนที่โจมตีเราในเหตุการณ์ 9/11 และเราก็ได้บรรลุผลสำเร็จในภารกิจนั้นแล้ว”รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯยังเตือนกลุ่มตาลีบันว่าจะเผชิญการตอบโต้ที่ทันทีและเด็ดขาดจากสหรัฐฯหากแทรกแซงภารกิจถอนบุคลากรนี้
ด้านไฮดี โจว คาสโตร ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวอัล จาซีรา ประจำวอชิงตันดีซี กล่าวว่าการนำเรื่องของไซ่ง่อนมาเปรียบเทียบกับอัฟกานิสถานนั้นสร้างความอับอายให้กับรัฐบาลไบเดนเพราะนายไบเดนเพิ่งกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จะไม่มีการอพยพผู้คนด้วยเฮลิคอปเตอร์ออกมาจากหลังคาของอาคารสถานทูต
การล่มสลายของรัฐบาลอัฟกานิสถาน ทำให้เกิดเสียงตำหนิจากบรรดานักการเมืองสหรัฐฯด้วย เช่น มิตช์ แมคคอนเนล ผู้นำเสียงข้างในน้อยวุฒิสภาจากพรรครีพับบลิกัน ออกแถลงการณ์ว่า การตัดสินใจของประธานาธิบดีไบเดนทำให้เกิดผลที่ตามมาแย่ยิ่งกว่าความอับอายที่ไซ่ง่อนในปี 1975 เสียอีก
ส่วนลิซ เชนีย์ สส.รีพับบลิกัน ออกมาประณามทั้งไบเดน และอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ยอมแพ้ในอัฟกานิสถาน ทั้งนี้ เธอเป็นลูกสาวของดิค เชนีย์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯในช่วงที่เริ่มโจมตีอัฟกานิสถาน เธอกล่าวว่า หายนะจากทรัมป์/ไบเดนที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน เริ่มต้นตั้งแต่รัฐบาลทรัมป์ เจรจากับตาลีบันซึ่งเป็นผู้ก่อการร้ายแล้ว และทำประหนึ่งว่าพวกเขาคือพันธมิตรเพื่อสันติภาพ และจบลงด้วยการที่รัฐบาลไบเดนยอมแพ้ ทิ้งอัฟกานิสถานให้กับศัตรูผู้ก่อการร้ายเธอย้ำว่า นี่ไม่ใช่จุดจบของสงครามที่ไม่มีวันสิ้นสุด นี่คือการยอมแพ้ของอเมริกา ส่งเสริมให้ศัตรูเข้มแข็งขึ้น และรุ่นลูกรุ่นหลานาของเราต้องมาต่อสู้สงครามนี้ต่อในราคาที่แพงขึ้น
งบฝึกทหารมหาศาลที่สูญเปล่า
ตลอด 20 ปีที่สหรัฐฯ ประจำการในอัฟกานิสถาน ได้ทุ่มเงินเกือบ 3 ล้านล้านบาท เพื่อฝึกฝนกองทัพอัฟกานิสถาน ให้พร้อมสู้รบกับตาลีบัน โดยยืนบนลำแข้งตนเองให้ได้ แต่สหรัฐฯ ถอนทหารออกไปได้ไม่ถึง 1 เดือน ตาลีบันกลับคว้าชัยชนะเหนือทหารอัฟกันได้อย่างง่ายดาย ยึดเมืองต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว บางเมืองยึดได้โดยแทบไม่เสียเหงื่อ
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า กองทัพอัฟกานิสถานในบางเมือง แทบไม่ทำหน้าที่ของตนเอง ละทิ้งจุดประจำการ บางหน่วยแปรพักตร์ไปเข้ากับกลุ่มตาลีบัน หรือไม่ก็ยอมแพ้ วางอาวุธอย่างรวดเร็วม่เพียงเท่านั้น ผู้ว่าการจังหวัดหลายคน เป็นคนร้องขอให้กองกำลังฝ่ายรัฐบาลยอมแพ้ หรือไม่ก็หนีไป เพื่อไม่ให้เกิดการเสียเลือดเนื้อของประชาชน เพราะใจไม่เชื่อว่าจะชนะ และยอมแพ้ตั้งแต่เนิ่น ๆ แล้ว
อัฟกานิสถานล่มเพราะประชาชนขาดความวางใจในรัฐบาล
ปีเตอร์ กัลเบรธ อดีตทูตพิเศษของสหประชาชาติด้านอัฟกานิสถานกล่าวกับสำนักข่าวบีบีซีว่า การล้มสลายเร็วของอัฟกานิสถานนั้นเป็นเพราะประชาชนไม่ไว้วางใจรัฐและเกิดปัญหาทุจริตในรัฐฐาลมายาวนาน
เขาระบุว่า กองกำลังของตาลีบันนั้นเล็กกว่ากองทัพของรัฐบาลอย่างมีนัยยะสำคัญ พวกเขาไม่มีอาวุธทันสมัยแบบที่รัฐบาลมี และไม่มีกองทัพอากาศด้วย แต่รัฐบาลมีการทุจริตจนตำรวจและทหารไม่ได้รับเงินเดือนมากันหลายเดือน ไม่มีการเติมกระสุนพร้อมรบและเสบียงอาหารให้เจ้าหน้าที่ การล่มสลายจึงเกิดขึ้น ซึ่งชัดเจนว่า ไม่มีใครต้องการต่อสู้และเสี่ยงชีวิตในสงครามที่แพ้อยู่แล้ว
กัลเบรธระบุว่า ไม่ใช่เรื่องที่จะมาถกเถียงว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯคนไหนที่ทำให้นโยบายสหรัฐฯนั้นล้มเหลวอย่างหนัก เพราะปัญหาของอัฟกานิสถานและสหรัฐฯนั้นต้องย้อนไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการแทรกแซงตั้งแต่การตั้งกลุ่มการเมืองท้องถิ่นอย่าง กลุ่มพันธมิตรฝั่งเหนือ หรือ 'Northern Alliance' เพื่อกำจัดตาลีบันออกไปแล้ว
การปราชัยของกองทัพอัฟกานิสถานยัง สะท้อนถึงความล้มเหลวของสหรัฐฯ ในการฝึกฝน เพิ่มแสนยานุภาพให้กองกำลังท้อนถิ่น ทั้งที่มอบอาวุธชั้นสูงให้มากมาย Reuters วิเคราะห์ว่า อุดมคติที่จะสร้างกองกำลังแบบตะวันตกในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง อาจเป็นความฝันที่ไกลเกินเอื้อม และความพยายามที่สูญเปล่า ทหารอัฟกานิสถานจำนวนไม่น้อยมองการรับใช้ชาติ เป็นงานหาเงินเท่านั้น ไม่คุ้มที่จะแลกชีวิตสู้กับตาลีบัน
ริชาร์ด อาร์มิเทจ อดีตนักการทูตสหรัฐฯ และเป็นคนที่จัดหาเรือรบเวียดนามใต้ เพื่อพาผู้อพยพชาวเวียดนามกว่า 3 หมื่นคนออกจากไซ่ง่อน ก่อนจะถูกเวียดนามเหนือตีแตกในเดือนเมษายน ปี 1975 มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับคาบูลมันช่างคล้ายกับไซ่ง่อนเสียเหลือเกิน
“ผมได้ยินคนพร่ำบ่นว่า กองทัพอัฟกันสู้ศึกระยะยาวไม่ได้...แต่ประเด็นคือ รัฐบาลชุดนี้มันคุ้มกับการแลกชีวิตหรือเปล่า”
ทั้งนี้ ตาลีบันเริ่มปฏิบัติการโจมตีกองกำลังรัฐบาลอัฟกานิสถานตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม เปิดฉากที่จังหวัดเฮลมันด์ ทางตอนใต้ เป็นแห่งแรก หลังจากประธานาธิบดีไบเดน ประกาศเมื่อวันที่ 14 เมษายนว่า จะเริ่มถอนทหารอเมริกันออกจากอัฟกานิสถานตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม สิ้นสุดวันที่ 11 กันยายน ยุติการติดหล่มสงครามยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐนานถึง 20 ปี
ชาวอัฟกันจำนวนมากหวั่นกลัวว่าตาลิบันจะกลับสู่แนวทางปฏิบัติอันเข้มงวดเหมือนในอดีตครั้งที่บังคับใช้กฎหมายชะรีอะฮ์ระหว่างการปกครองในปี 1996-2001 ผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน และมีบทลงโทษต่างๆนานา เช่นปาหิน เฆี่ยน และแขวนคอ อย่างไรก็ตาม พวกนักรบบอกว่าพวกเขาได้หันหน้าสู่ยุคสมัยใหม่มากขึ้น สัญญาจะปกป้องสิทธิของผู้หญิง และปกป้องทั้งชาวต่างชาติและชาวอัฟกัน
ด้านประธานาธิบดี อัชราฟ กานี หลบหนีออกจากอัฟกานิสถานแล้ว โดยเจ้าตัวโพสต์เฟซบุ๊คว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือดและเหตุปะทะกับตาลิบันที่อาจเป็นอันตรายต่อประชาชนหลายล้านคนในกรุงคาบูล ขณะที่รักษาการรัฐมนตรีมหาดไทยอัฟกานิสถานระบุว่า จะมีการส่งมอบอำนาจแก่รัฐบาลเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ