เปิดเส้นทางพายุไซโคลน "ยาอาส" YASS ถล่มอินเดียพรุ่งนี้!
อินเดียสั่งอพยพประชาชนเกือบครึ่งล้านคนออกจากพื้นที่แนวพาดผ่านของพายุไซโคลน "ยาอาส" (YASS) จะขึ้นฝั่งพรุ่งนี้ที่รัฐโอริสสา และเวสต์เบลกอล นับเป็นไซโคลนลูกที่ 2 ในรอบ 10 วัน ต่อจากไซโคลน “เตาะแต่” ที่ถล่มอินเดียสัปดาห์ที่แล้ว
วันนี้ (25 พ.ค.64) ศูนย์พยากรณ์อากาศอินเดีย รายงานว่า พายุไซโคลน “ยาอาส (YASS)” เป็นชื่อภาษาอาหรับมีความหมายถึง "ดอกมะลิ" ตั้งโดยประเทศโอมาน เป็นพายุไซโคลนลูกที่ 2 ที่จะพัดเข้าอินเดียในรอบ 10 วัน ขณะนี้กำลังเคลื่อนตัวอยู่ที่อ่าวเบงกอลตอนบน ความเร็วลมสูงสุด 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวไปทางเหนือ - ตะวันตกเฉียงเหนือ และจะทวีกำลังแรงขึ้น จนกลายเป็นพายุไซโคลนระดับรุนแรงมากในเช้าวันพรุ่งนี้ (26 พ.ค.) ก่อนจะพัดถล่มรัฐโอริสสา ด้วยความเร็วลมสูงสุด 165 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะพัดถล่มรัฐเวสต์เบงกอล โดยเป็นไปได้ที่จะเกิดคลื่นพายุซัดฝั่งสูงกว่า 4 เมตรในพื้นที่ต่ำบริเวณชายฝั่ง จากนั้นคาดว่าพายุจะเริ่มอ่อนกำลังเป็นดีเปรสชั่นในวันถัดไป
ทั้งนี้ อิทธิพลจา ไซโคลน ยาอาส ทำให้เกิดคลื่นลมแรงที่เมืองดิกาห์ (Digha) รีสอร์ทริมทะเล ในรัฐ เบงกอลตะวันตก ขณะนี้ เรือประมงหลายร้อยลำ ต่างเร่งกลับเข้าฝั่ง
ทางการรัฐโอริสสา และเวสต์เบลกอล ประกาศเตือนภัยพายุไซโคลนระดับสีแดงล่วงหน้า พร้อมสั่งอพยพประชาชนกว่าครึ่งล้านใน 2 รัฐ ไปอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว นอกจากนี้ ยังได้ส่งทีมกู้ภัย รวมไปถึงส่งเรือและเฮลิคอปเตอร์ไปเพื่อเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชน รวมไปถึงการฟื้นฟูความเสียหายที่จะตามมา
ไซโคลนยาอาส นับเป็นพายุลูกที่ 2 ในรอบ 10 วัน ต่อจากพายุไซโคลน "เตาะแต่" ที่พัดถล่มอินเดียไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 165 คน
กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศ เตือนประชาชนภาคใต้ ระวังฝนตกหนัก ลมแรงคลื่นสูง 2-4 เมตร ในวันที่ 25-29 พ.ค.นี้ โดยเฉพาะจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ จากอิทธิพลพายุไซโคลน ยาอาส ทำให้เกิดผลกระทบทางอ้อม จากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงขึ้น ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรงดเว้นการเดินเรือ ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสาน 9 จังหวัดในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ฝั่งตะวันตก เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักและคลื่นลมแรง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก
ขณะเดียวกัน ยังพบร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง -ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำ 97W ทางตะวันออกของเวียดนามจะเคลื่อนตามแนวร่อง ทำให้ภาคเหนือฝนเพิ่มและมีฝนตกหนักที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วง 25-27 พ.ค.64 โดยจังหวัดที่เฝ้าระวัง ได้แก่ หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี นครพนม สกลนคร ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด