อียิปต์ประกาศจะเรียกค่าเสียหายกว่า 30,000 ล้าน เหตุเรือยักษ์ขวางคลองสุเอซ
อียิปต์ประกาศจะเรียกค่าเสียหายกว่า 30,000 ล้านบาท จากเหตุเรือสินค้ายักษ์เกยตื้นขวางคลองสุเอซ จนเป็นอัมพาตนานเกือบ 1 สัปดาห์
วันนี้ (2เม.ย.64) โอซามา เรบี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของบริษัทบริหารจัดการคลองสุเอซของอียิปต์ ให้สัมภาณ์สถานีข่าวท้องถิ่นในอียิปต์เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ว่า อียิปต์จะเรียกร้องค่าเสียหายเงินชดเชยราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทย 31,000 กว่าล้านบาท จากกรณีเรือสินค้าขนาดยักษ์ชื่อ “Ever Given” เกยตื้นขวางคลองสุเอซตลอดสัปดาห์ที่แล้ว
เรบีระบุว่า ตัวเลขค่าเสียหาย 1,000 ล้านดอลลาร์ดังกล่าว มาจากการประเมินความเสียหายทั้งหมด ที่เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการผ่านคลองสุเอซ ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคลองสุเอซ จากการขุดทรายใต้เรือและปฏิบัติการช่วยให้เรือสินค้ายักษ์ที่ขวางคลอง กลับมาแล่นได้อีกครั้ง รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ในปฏิบัติการดังกล่าว และค่าแรงของทีมปฏิบัติการช่วยเรือยักษ์ด้วย
เรบีระบุว่า เป็น “สิทธิ” ของอียิปต์ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายได้ เนื่องจากเหตุที่เกิดขึ้นนี้ ทำลายชื่อเสียงของอียิปต์ และอียิปต์สมควรได้รับการชดใช้
อย่างไรก็ตาม เรบีกลับมิได้ระบุว่า จะเรียกค่าเสียหายมหาศาลดังกล่าว จากใคร
ด้านอีริค เซี่ย กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท Evergreen Marine Corporation เจ้าของเรือ Ever Given ได้ออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบการส่งสินค้าล่าช้า สำหรับสินค้าที่บรรทุกอยู่บนเรือ Ever Given และยังปฏิเสธความเป็นไปได้ว่า ทางบริษัทจะชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าชดเชยด้วย
เรือสินค้ายักษ์ Ever Given ความยาว 400 เมตร เพิ่งกลับมาลอยลำได้อีกครั้งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (29 มีนาคม) หลังจากถูกกระแสลมแรงพัดจนเกยตื้น และลำตัวเรือได้หันเป็นแนวทแยงมุม ขวางคลองสุเอซมานานเกือบ 1 สัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้การจราจรในคลองสุเอซกลายเป็นอัมพาตทั้งหมด เรือสินค้าอื่น ๆ กว่า 400 ลำ ไม่สามารถแล่นผ่านคลองสุเอซได้ ปฏิบัติการช่วยเรือจนกลับมาลอยลำได้อีกครั้ง เป็นไปอย่างยากลำบากและล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า ต้องใช้เรือขุดทรายและเรือลากจูงหลายลำ ขุดทรายใต้เรือลงไปลึก 18 เมตร และยังต้องตัดตลิ่งตามแนวคลองสุเอซหลายจุดด้วย
ขณะเดียวกัน ทีมสอบสวนหาสาเหตุที่ทำให้เรือ Ever Given เกยตื้น ได้ลงไปตรวจสอบภายในตัวเรือแล้ว ซายเอ็ด เชียชา หัวหน้าทีมสอบสวน เปิดเผยว่า การตรวจสอบภายในตัวเรือครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อตรวจสภาพความปลอดภัยของเรือว่า จะสามารถการออกทะเลได้อีกหรือไม่ และตรวจสอบพฤติกรรมของกัปตันเรือด้วย เพื่อหาสาเหตุของการเกยตื้นของเรือ.