ทรัมป์ จ่อรีดค่าธรรมเนียม เรือสินค้าผลิตจีนเข้าท่าเรือสหรัฐฯ หวังฟื้นฟูอุตฯต่อเรือในประเทศ

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา ยังคงเดินหน้ามาตรการกดดันทางการค้าและสกัดกั้นอิทธิพลของจีน 


ล่าสุดสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่ามีเอกสารของทำเนียบขาวเผยให้เห็นว่า สหรัฐอมเริกากำลังมีแผนจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากสินค้านำเข้าที่มาจากเรือที่ผลิตโดยจีน และเสนอเครดิตภาษี เพื่อฟื้นฟูการต่อเรือภายในประเทศ และลดการควบคุมของจีนในอุตสาหกรรมการขนส่งทางทะเลทั่วโลกมูลค่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์


ข้อมูลจากเอกสาร ระบุว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังร่างคำสั่งฝ่ายบริหารที่จะจัดตั้งกองทุนทรัสต์ฟันด์ด้านความมั่นคงทางทะเล (Maritime Security Trust Fund) ในฐานะแหล่งสนับสนุนเงินทุนและสร้างแรงจูงใจในการต่อเรือโดยใช้เครดิตภาษี เงินช่วยเหลือ และเงินกู้


เอกสารยังระบุอีกว่า ทำเนียบขาวกำลังจัดตั้งสำนักงานที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อเป็นผู้นำความพยายามของทั้งรัฐบาลในการเสริมสร้างรากฐานอุตสาหกรรมทางทะเล หลังจากที่ทรัมป์ประกาศแผนดังกล่าวระหว่างการแถลงต่อสภาคองเกรสในวันอังคาร (4 มีนาคม 2568 )

ทรัมป์ จ่อรีดค่าธรรมเนียม เรือสินค้าผลิตจีนเข้าท่าเรือสหรัฐฯ หวังฟื้นฟูอุตฯต่อเรือในประเทศ

สรุปข่าว

ทรัมป์ เตรียมเก็บค่าธรรมเนียม เรือสินค้านำเข้าที่ผลิตในจีน ที่เข้าท่าเทียบเรือในสหรัฐฯ หวังฟื้นฟูอุตสาหกรรมต่อเรือในประเทศ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า โครงการริเริ่มดังกล่าวของทรัมป์ได้รับเสียงชื่นชมจากเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ระบุว่า การปฏิบัติด้านการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากจีนตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ส่งผลเสียต่อการต่อเรือเพื่อการพาณิชย์และการทหารของสหรัฐฯ


ซัลลิแวน กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า "การต่อเรือของอเมริกามีความสำคัญต่อการปกป้องความมั่นคงของชาติและเศรษฐกิจของเรา ตอนนี้ถึงเวลาที่ต้องลงมือแล้ว เพื่อจัดการกับผลกระทบจากนโยบายจีนและฟื้นฟูศักยภาพและแสนยานุภาพทางทะเลของอเมริกาอีกครั้ง"


ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้  ทางสมาชิกสภาของพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันได้เตือนมานานหลายปีแล้วถึงอิทธิพลของจีนในทะเลต่าง ๆ ที่ขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความพร้อมรบของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่ลดลง


โดยเมื่อเดือนที่แล้ว สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้เสนอให้เรียกเก็บเงินสูงถึง 1.5 ล้านดอลลาร์จากเรือที่สร้างโดยจีนที่เข้าสู่ท่าเรือของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของจีนในภาคการต่อเรือ การเดินเรือ และโลจิสติกส์ระดับโลก

ที่มาข้อมูล : Reuters

ที่มารูปภาพ : Freepik canva

avatar

ทิฆัมพร อยู่กำเหนิด