เปิดขั้นตอนกู้เรือยักษ์เกยตื้น พ้นคลองสุเอซ
เปิดขั้นตอนปฏิบัติการกู้เรือยักษ์ Ever Given หลังเกยตื้นขวางคลองสุเอซราว 1 สัปดาห์
เรือ Ever Given ถูกสร้างขึ้นในปี 2018 และดำเนินกิจการโดยบริษัท Evergreen Marine ในไต้หวัน ซึ่งหนัก 220,000 ตัน ความกว้าง 59 เมตร และยาวประมาณ 400 เมตรซึ่งเป็นความยาวที่เท่ากับความสูงของตึกเอ็มไพร์ สเตทในสหรัฐ ได้เกยตื้นขวางคลองสุเอซเป็นเวลานานเกือบ 1 สัปดาห์เต็ม ส่งผลให้เกิดการระงับการเดินเรือในคลองสุเอซชั่วคราวและทำให้เรือลำอื่นๆ ต้องจอดรออย่างน้อย 321 ลำ
บริษัทกู้เรือ “บอสกาลิส” ของเนเธอร์แลนด์ ได้ส่งทีมกู้เรือที่มีความเชี่ยวชาญร่วมปฏิบัติการกู้เรือ Ever Given โดยเริ่มต้นด้วยการขุดลอกทรายราว 30,000 ลูกบาศก์เมตรอยู่บริเวณรอบๆเรือลากจูงรวม 11 ลำ และใช้เรือเดินสมุทร 2 ลำช่วยลากจูงเรือออกมา ขณะที่ทีมเจ้าหน้าที่ก็ได้เคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์บางส่วนลงมาจากเรือเพื่อให้น้ำหนักบนเรือเบาลง และสะดวกในการลากจูง
ขณะที่อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภารกิจนี้สำเร็จ คือการที่เกิดปรากฎการฟูลมูน หรือ การที่ดวงจันทร์เข้าใกล้โลก ทำให้เกิดการดึงดูดสสารบนโลก รวมถึงน้ำทะเลให้สูงขึ้นกว่า 2 เมตรเทียบเท่าได้กับแรงลอยตัวที่เพิ่มมากขึ้นกว่า 45,000 ตัน จนทำให้เรือสามารถลอยลำได้อีกครั้ง โดยเรือ Ever Given ถูกลากไปยังทะเลสาบ “Great Bitter” ซึ่งอยู่ระหว่าง 2 ส่วนของคลองทางเหนือของจุดที่เรือติดทราย เพื่อทำการตรวจสอบความปลอดภัย
โดยทันทีที่เรือ Ever Given เคลื่อนออกจากฝั่ง ในเวลา 15.05 น.วันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่นในอียิปต์ หรือตรงกับ 20.05 น.ของคืนวันเดียวกันตามเวลาในไทย บรรดาเรือลากก็พากันเปิดหวูดเสียงดังฉลอง
โอซามา ราบี้ ประธานองค์การคลองสุเอซ ระบุว่า หลังจากที่ได้นำเรือ The Ever Given ออกจากจุดเกยตื้นแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ทำการสำรวจจุดดังกล่าว ว่าคลองมีความเสียหายใดหรือไม่ ซึ่งผลจากการตรวจสอบไม่พบปัญหาทีพื้นคลองแต่อย่างใด และจะทำให้เรืออื่นๆสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี นอกจากนี้ ราบี้ ระบุว่า ในวันอังคาร น่าจะสามารถจัดการเรือที่ติดค้างอยู่ให้ออกจากคลองได้ราว 113 ลำ ส่วนเรือทั้งหมด 422 ลำ ที่ติดค้างอยู่นั้น คาดว่าจะใช้เวลา 3 วันครึ่งในการจัดการ
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาวด้านการเดินเรือเชื่อว่า ผลกระทบต่อการเดินเรือสินค้าในคลองสุเอซนี้ อาจยาวนานหลายสัปดาห์หรืออาจจะนานนับเดือน จึงสามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้ ผลจากการสอบสวนเบื้องต้น ได้ตัดปัญหาทางเทคนิกหรือเครื่องยนต์ล้มเหลว ที่เป็นเหตุให้เรือเกยต้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วออกไปแล้ว
จากวิกฤตคลองสุเอซ หน่วยงานด้านพลังงานนิวเคลียร์ของรัสเซีย Rosatom ได้เสนอเส้นทางเดินเรือทะเลสายเหนือ หรือ Northern Sea Route ทางแถบมหาสมุทรอาร์กติก อาจกลายเป็นตัวเลือกที่ดีแทนคลองสุเอซ โดยยกตัวอย่างหากเดินทางจากญี่ปุ่น ผ่านเส้นทางเดินเรือสายเหนือไปยุโรปนั้นมีระยะทางเพียง 5,770 ไมล์ แต่หากต้องเดินทางผ่านคลองสุเอซต้องใช้เวลเดินเรือถึง 12,840 ไมล์ผ่าน ทั้งนี้กองเรืออาร์กติกของ Rosatom มีเรือตัดน้ำแข็งพลังนิวเคลียร์ 5 ลำ ใช้สำหรับนำทางและปฏิบัติการกู้ภัยต่างๆในเส้นทางเดินเรือทะเลสายเหนือ สำหรับเส้นทางเดินเรือสายเหนือ ทางการรัสเซียได้ทุ่มเทในการพัฒนาให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของรัสเซียและประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน
ปัจจุบันโลกมีคลองที่มีคนขุดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่คลองที่มีชื่อเสียง มีอยู่ 2 แห่ง คือ คลองสุเอซ (Suez Canal) คลองปานามา (Panama Canal) ซึ่งทั้งสองคลองนี้ขุดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินเรือไม่ต้องอ้อมทวีปใหญ่ๆ
โดย คลองสุเอซเป็น เส้นทางเดินเรือสินค้าทางทะเลที่สำคัญของโลก ช่วยย่นระยะทางทางทะเลระหว่างยุโรปกับอินเดียได้ประมาณ 7,000 กิโลเมตร