ญี่ปุ่น ผ่านกฎหมายกำหนดนิยาม การข่มขืนใหม่ เพิ่มอายุยินยอมมีเพศสัมพันธ์
Japan: ญี่ปุ่นได้ผ่านกฎหมายกำหนดนิยามการข่มขืนใหม่ และเพิ่มอายุความยินยอมมีเพศสัมพันธ์จากเดิม 13 ปี เป็น 16 ปี นับเป็นการปฏิรูปกฎหมายอาชญากรรมทางเพศครั้งสำคัญของประเทศ
สภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นผ่านร่างกฎหมายฉบับใหม่เมื่อวานนี้ (16 มิถุนายน) โดยเพิ่มอายุความยินยอม (Age of Consent) หรืออายุที่ยอมให้ร่วมประเวณีได้ จากเดิม 13 ปี เป็น 16 ปี ถือเป็นการปฏิรูปกฎหมายอาชญากรรมทางเพศครั้งสำคัญของประเทศ นี่เป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นเปลี่ยนอายุความยินยอม นับตั้งแต่มีการประกาศใช้ในปี 1907
ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีอายุความยินยอมน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม บุคคลที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้เยาว์ที่มีอายุระหว่าง 13 ถึง 15 ปี จะถูกลงโทษก็ต่อเมื่อบุคคลนั้น มีอายุมากกว่าผู้เยาว์ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังยืดระยะเวลาอายุความ หรือขยายกรอบเวลาทางกฎหมาย ในการแจ้งความว่าถูกข่มขืนจากเดิม 10 ปี เป็น 15 ปี เพื่อให้ผู้เสียหายมีเวลาดำเนินการมากขึ้น
คดีข่มขืนที่สามารถฟ้องร้องได้ รวมถึงคดีที่เหยื่อถูกข่มขืนเพราะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์ ยาเสพติด หรือถูกทำให้หวาดกลัว หรือคดีที่ผู้ก่อเหตุข่มขืนฉวยโอกาสจากสถานะทางสังคม
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ยังรวมถึง การห้ามแอบถ่าย ซึ่งรวมถึงการถ่ายใต้กระโปรงและแอบถ่ายกิจกรรมทางเพศด้วย
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังจากมีการตัดสินคดีข่มขืนหลายครั้งที่ผู้ก่อเหตุพ้นผิด สร้างความไม่พอใจเป็นวงกว้าง และทำให้เกิดการรณรงค์ต่อต้านทั่วประเทศ ในวันที่ 11 ของทุกเดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2019 เป็นต้นมา โดยนักเคลื่อนไหวได้รวมตัวกันทั่วประเทศเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมและแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้รอดชีวิตจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
การดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุข่มขืนภายใต้กฎหมายฉบับก่อนหน้านี้มีความยากลำบาก เนื่องจากต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเหยื่อนั้นไร้ความสามารถขัดขืนจริง ซึ่งข้อกำหนดนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการกล่าวโทษผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเพราะไม่ต่อต้านเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวบางคนมองว่า การปฏิรูปกฎหมายครั้งนี้ เป็นการแก้ปัญหาเพียงส่วนเดียว
คาซูโกะ อิโตะ รองประธาน Human Rights Now ซึ่งมีสำนักงานในกรุงโตเกียว กล่าวว่า "ความคิดที่ผิดเพี้ยน" เกี่ยวกับเรื่องเพศและความยินยอมที่แพร่หลายมาหลายชั่วอายุคนต้องได้รับการแก้ไข แม้ว่าการปฏิรูปจะมีผลบังคับใช้ แต่ผู้รอดชีวิตควรต้องรู้สึกว่าได้รับอำนาจในแจ้งความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพวกเขา
รายงาน ยังระบุว่า ผู้รอดชีวิตจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ที่เผยแพร่สู่สาธารณะมักได้รับคำขู่และได้รับความคิดเห็นที่น่ารังเกียจทางสื่อสังคมออนไลน์
ในญี่ปุ่น ผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงทางเพศมักลังเลที่จะออกมาเผชิญหน้า เพราะความอัปยศและความอับอาย ผลสำรวจของรัฐบาลในปี 2021 พบว่ามีผู้หญิงและผู้ชายเพียง 6% เท่านั้น ที่รายงานว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศ ครึ่งหนึ่งของผู้หญิงที่ตอบแบบสำรวจรู้สึกว่า พวกเธอไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เนื่องจาก "ความอับอาย"
อิโตะ ยังกล่าวด้วยว่า การเรียนรู้และการศึกษาทั่วประเทศเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้บรรทัดฐานนี้ฝังอยู่ในสังคม นี่เป็นวิธีเดียวที่จะป้องกันความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้น และสามารถยุติวัฒนธรรมแห่งการไม่ต้องรับโทษได้
ขณะที่ ซากุระ คามิทานิ ทนายความและผู้สนับสนุนด้านสิทธิ ระบุว่า ญี่ปุ่นควรให้ความช่วยเหลือทางการเงินและจิตใจมากขึ้น สำหรับผู้รอดชีวิตจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และแม้แต่ผู้ก่อเหตุก็ควรได้รับการดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้กระทำผิดซ้ำอีก
ภาพ: Getty Images
————
📲 อัปเดตข่าวไฮไลต์และบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจ มาเป็นเพื่อนใน LINE กับ TNN World คลิก https://lin.ee/LdHJXZt
ติดตาม TNN World ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่
Website : https://bit.ly/TNNWorldWebsite
Youtube : https://bit.ly/TNNWorldTodayYouTube
TikTok : https://bit.ly/TNNWorldTikTok
Instagram: https://www.instagram.com/tnn_worldtoday/