อิสราเอลระงับการย้ายถิ่นฐานชั่วคราว แต่ฝ่ายขวาจัดต้านข้อตกลงกับปาเลสไตน์
อิสราเอล-ปาเลสไตน์ บรรลุข้อตกลงเพื่อยุติความรุนแรง จากการเจรจาที่จอร์แดนช่วยไกล่เกลี่ย
อิสราเอล-ปาเลสไตน์ บรรลุข้อตกลงร่วมกัน
เจ้าหน้าที่ของอิสราเอลและปาเลสไตน์ ให้คำมั่นว่าจะดำเนินมาตรการเพื่อลดความรุนแรง หลังมีการเจรจากันที่จอร์แดนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยแถลงการณ์ร่วมระบุว่า เจ้าหน้าที่สองฝ่ายจะทำงานร่วมกันใกล้ชิดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงอีก ในขณะที่อิสราเอลให้คำมั่นว่า
- จะหยุดการพิจารณาการตั้งถิ่นฐานใหม่ ๆ เป็นเวลา 4 เดือน
- จะระงับการอนุมัติการตั้งถิ่นฐานใหม่ เป็นเวลา 6 เดือน
แถลงการณ์นี้มีขึ้นหลังการหารือระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ร่วมด้วย สหรัฐฯ อียิปต์ และจอร์แดน ท่ามกลางความกังวลว่า สถานการณ์จะรุนแรงขึ้นแก่ก่อนที่เดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมจะเริ่มต้นขึ้นช่วงปลายเดือนมีนาคม
แถลงการณ์ร่วมยังระบุว่า อิสราเอลและองค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ ย้ำความพร้อมพันธะสัญญาร่วมกันที่จะทำงานทันที เพื่อยุติมาตรการแต่เพียงฝ่ายเดียว เป็นเวลา 3-6 เดือน โดยทั้งจอร์แดน สหรัฐฯ และอียปต์ ถือว่า บันทึกความเข้าใจนี้ คือความก้าวหน้าหลัก ที่จะนำไปสู่การกลับมาสถาปนาความสัมพัน์ระหว่างสองฝ่าย
นอกจากนี้ สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกลับมาหารือกันอีกครั้งในเดือนหน้า ทีเมืองชาร์ม เอล-ชีค ของอียิปต์ด้วย
การกลับเข้าสู่อำนาจของ ‘เนทันยาฮู’
การเจรจาเกิดขึ้นในวันเดียวกับที่มีชาวอิสราเอลถูกยิงเสียชีวิตสองรายในเขตเวสต์แบงก์ โดยรัฐบาลอิสราเอล ระบุว่า นี่คือการก่อการร้ายของปาเลสไตน์
การสังหารดังกล่าวเกิดขึ้นหลังกองทัพอิสราเอล โจมตีเขตเวสต์แบงก์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากสุดในรอบเกือบ 20 ปี โดยมีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิต 11 คน ในเมืองนาบลัส
ขณะเดียวกัน การกลับเข้าสู่อำนาจของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ซึ่งเป็นผู้นำแนวร่วมรัฐบาลฝ่ายขวามากสุดในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล กำลังทำให้บรรดาชาติอาหรับกังวลว่าสถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลง
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อิสราเอลยังได้อนุญาตการตั้งถิ่นฐาน 9 จุดในเขตเวสต์แบงก์ โดยมีผลย้อนหลัง และยังประกาศโครงการก่อสร้างขนานใหญ่ของบ้านใหม่ ภายในเขตจัดตั้งถิ่นฐานต่าง ๆ
การอนุญาตดังกล่าว ทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ประณามแผนการของอิสราเอลในการขยายการตั้งถิ่นฐานภายในดินแดนที่ปาเลสไตน์ครอบครอง ซึ่งถือเป็นปฏิกิริยาต้านอิสราเอลครั้งแรกในรอบ 6 ปี ของคณะมนตรีฯ
ความขัดแย้งที่ยังไร้จุดสิ้นสุด
ทั้งนี้ จากสงครามหกวันในปี 1967 อิสราเอลได้เข้ายึดครองแหลมไซนาย ฉนวนกาซา เขตเวสต์แบงก์ เยรูซาเลมตะวันออก และบางส่วนของที่ราบสูงโกลัน และสถาปนาเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ซึ่งไม่ได้รับการรับรองจากประชาคมโลก
ต่อมา ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหญ่ โดยยอมรับเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวง และย้ายสถานทูตสหรัฐฯ ไปในพื้นที่ดังกล่าว แต่ประเทศอื่น ๆ ยังไม่ได้มีความเคลื่อนไหวเช่นนี้
ปัจจุบัน เขตเวสต์แบงก์เป็นที่พักอาศัยของชาวปาเลสไตน์ราว 2.9 ล้านคน และมีชาวอิสราเอลราว 475,000 คน ที่ย้ายมาอาศัยในการนิคมการตั้งถิ่นฐานใหม่ที่รัฐบาลอิสราเอลอนุมัติ ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายระหว่างประเทศ
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า กองทัพอิสราเอลสังหารชาวปาเลสไตน์ไปแล้ว 65 คนในปีนี้ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน ทำให้สองเดือนแรกของปี กลายเป็นช่วงเวลาที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2000
ส่วนฝั่งปาเลสไตน์ ได้สังหารพลเรือนอิสราเอลไปแล้ว 11 คน และตำรวจ 1 คน
จับตาฝ่ายขวาจัดอิสราเอล ไม่ยอมรับผลการประชุม
อย่างไรก็ตาม มีหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกันการตกลงในครั้งนี้ โดยกลุ่มฮามาส ซึ่งปกครองฉนวนกาซา ประณามองค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ที่เข้าร่วมการเจรจา โดยมองว่า การประชุมนั้นไร้ค่า และจะไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้
ขณะที่พรรคฟาตาห์ของประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ระบุว่า การตัดสินใจเข้าร่วมประชุมแม้มีความเจ็บปวดและการสังเวยของประชาชนชาวปาเลสไตน์ นั้นเกิดขึ้นจากความปรารถนาที่จะทำให้มีการยุติการนองเลือด
ด้านเบซาเลล สโมทริช รัฐมนตรรีคลังของอิสราเอล ซึ่งเป็นฝ่ายขวาจัดและดูแลรับผิดชอบเรื่องการตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอลในเขตเวสต์แบงก์ ประกาศว่า เขาจะไม่ทำตามข้อตกลงที่ระงับโครงการก่อสร้างการย้ายถิ่นฐาน
สโมทริช ทวีตข้อความว่า “ผมไม่รู้ว่าพวกเขาพูดอะไรหรือไม่ในจอร์แดน แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้คือ จะไม่มีการระงับการก่อสร้างหรือการพัฒนาในนิคมการตั้งถิ่นฐานใด ๆ ไม่แม้แต่วันเดียว”
————
แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง
ภาพ: Reuters
ข้อมูลอ้างอิง: