TNN ‘คิชิดะ’ เตือนแก้วิกฤตประชากรลดลงแบบเร่งด่วน ชี้ รอไม่ได้แล้ว

TNN

World

‘คิชิดะ’ เตือนแก้วิกฤตประชากรลดลงแบบเร่งด่วน ชี้ รอไม่ได้แล้ว

‘คิชิดะ’ เตือนแก้วิกฤตประชากรลดลงแบบเร่งด่วน ชี้ รอไม่ได้แล้ว

ญี่ปุ่นเผชิญวิกฤตสังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดลดน้อยลง ด้านนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เตือนนี่เป็นโอกาสเดียวที่จะแก้วิกฤตประชากร




‘ฟูมิโอะ คิชิดะ’ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประกาศคำเตือนอย่างรุนแรงเป็นวาระแห่งชาติ ว่านี่เป็นโอกาสเดียวที่จะแก้วิกฤตประชากร


--- “คิชิดะ” เตือนต้องแก้วิกฤตประชากรลดลงทันที---


‘คิชิดะ’ แถลงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ตอนนี้จำนวนประชากรในประเทศอยู่ในภาวะอันตราย เหมือนยืนอยู่บนปากเหว เนื่องจากอัตราการเกิดที่ลงลงอยางต่อเนื่อง


เขาย้ำว่าวิกฤตนี้ต้องแก้ทันที รอไม่ได้อีกแล้วเพราะนี่เป็นโอกาสเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ โดยเขาต้องการผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ และตั้งใจสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเป็น 2 เท่าในการเพิ่มประชากร ภายในเดือนมิถุนายน และจะจัดตั้งหน่วยงานด้านเด็กและครอบครัวภายในเดือนเมษายน เพื่อเข้ามากำกับดูแลเรื่องนี้


‘คิชิดะ’ เตือนแก้วิกฤตประชากรลดลงแบบเร่งด่วน ชี้ รอไม่ได้แล้ว


---สาธารณสุขญี่ปุ่น เผย  ปีที่แล้วมีเด็กเกิดใหม่ไม่ถึง 8 แสนคน---


ด้านกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก ซึ่งทางกระทรวงเผยว่าในปี 2022 ที่ผ่านมา มีเด็กเกิดใหม่ไม่ถึง 8 แสนคน นับเป็นครั้งแรกที่น้อยที่สุดที่มีการบันทึก นับตั้งแต่ปี 1899 และเป็นจุดผกผันที่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์เอาไว้ถึง 8 ปี


ขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่คนอายุยืนที่สุดในโลก โดยจากสถิติในปี 2020 มีผู้สูงอายุ 1,500 คน มีอายุเกินหรือเท่ากับ 100 ปี 


แนวโน้มดังกล่าวคาดว่าจะทำให้จำนวนประชากรญี่ปุ่นยิ่งลดลงเรื่อยๆ โดยปัจจุบันญี่ปุ่นมีค่าอายุมัธยฐาน (median age) ซึ่งหมายถึงอายุตรงกลางซึ่งแบ่งประชากรออกเป็นสองส่วนเท่าๆ กัน อยู่ที่ 49 ปี สูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากโมนาโก


อัตราการเกิดที่ลดลงนี้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นวิกฤต จนทำให้ญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุขนาดใหญ่ ขาดแคลนคนวัยทำงาน และมีคนหนุ่มสาวไม่เพียงพอในภาวะชะชักงันทางเศรษฐกิจ


---ทัศนคติต่อการแต่งงานและการมีลูกเปลี่ยนไป ทำให้คนมีบุตรน้อยลง---


ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤตนี้ขึ้น อย่างค่าครองชีพสูง พื้นที่สำหรับดูแลเด็กในเมืองไม่เพียงพอ ทำให้ยากลำบากต่อการเลี้ยงเด็ก จึงทำให้คู่แต่งงานมีลูกน้อยลง ขณะที่คนในต่างจังหวัดก็มีลูกน้อยลงเช่นกัน เนื่องจากห่างไกลจากความสะดวกสบาย 


ทัศนคติต่อการแต่งงานและการมีลูกของคนญี่ปุ่นก็เปลี่ยนไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยคู่รักหลายคู่ก็ยกเลิกทั้งการแต่งงานและการมีลูก เนื่องจากเกิดวิกฤตโควิด-19 รวมถึงคนหนุ่มสาวก็ยังกังวลเกี่ยวกับอนาคตของตนเองในที่ทำงานและภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ


---วิกฤตยังคงอยู่แม้รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามสร้างแรงจูงใจใหม่---


อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นพยายามออกแรงจูงใจใหม่ ๆ หลายแนวทางให้คนมีลูกมากขึ้น ทั้งนโยบายการปรับปรุงพื้นที่ดูแลเด็ก และปรับการสร้างบ้านให้สะดวกต่อการเลี้ยงเด็กมากขึ้น หรือในต่างจังหวัด ท้องถิ่นต่าง ๆ ก็เริ่มจ่ายเงินสนับสนุนให้คนมีลูกมากขึ้นด้วย


นอกจากนี้ ผลสำรวจโดย YuWa Population Research พบว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรสูงเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจาก “จีน” และ “เกาหลีใต้” ซึ่งก็เป็นอีก 2 ชาติที่เสี่ยงเผชิญผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการลดลงของประชากรเช่นกัน

—————

แปล-เรียบเรียง: พิชญาภา สูตะบุตร

ภาพ: Reuters


ข้อมูลอ้างอิง:

1, 2



ข่าวแนะนำ