เจาะสาเหตุ ทำไมเยอรมนีไม่ยอมส่งรถถังทรงพลังช่วยยูเครน
หลายชาติได้ประกาศส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ยูเครนเพิ่มมากมาย แต่ยังไร้เงาของรถถัง ส่งผลให้แรงกดดันตกไปอยู่ที่เยอรมนี
---ประชุมพันธมิตรยูเครน---
การประชุมพันธมิตรยูเครน 50 ชาติที่ฐานทัพอากาศแรมสไตน์ของสหรัฐฯ ในเยอรมนีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ยังไม่มีการประกาศส่งรถถังให้ยูเครน ทั้งจากสหรัฐฯ และเยอรมนี
สัปดาห์ที่แล้ว สหราชอาณาจักรกลายเป็นประเทศแรกที่ให้คำมั่นสัญญาว่า จะส่งรถถังประจัญบาน ที่ผลิตจากชาติตะวันตกให้แก่ยูเครน ได้แก่ รถถังชาแลนเจอร์ 2 จำนวน 14 คัน ภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้
ในขณะที่สหรัฐฯ แม้ประกาศเพิ่มความช่วยเหลือด้านการทหารให้ยูเครนมูลค่าอีกกว่าเก้าหมื่นล้านบาท แต่ไม่มีรถถัง M1 เอบรามส์รวมอยู่ด้วย โดยให้เหตุผลว่า มีความกังวลต่อความสามารถในการดูแลรักษารถถังของยูเครน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ความสนใจถูกพุ่งมาอยู่ที่ รถถังเลพเพิร์ดที่ผลิตโดยเยอรมนี ซึ่งมีประมาณ 2,000 คัน กระจายอยู่ทั่วยุโรป แต่รัฐบาลของโอลาฟ โชลซ์ นายกฯ เยอรมนี ได้ประกาศออกมาว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจในการส่งรถถังดังกล่าวไปช่วยยูเครน ท่ามกลางแรงกดดันมากมาย ที่มองว่า เยอรมนี “ไม่เต็มใจ” ที่จะส่งมอบอาวุธไปยูเครน
ด้านโปแลนด์ และฟินแลนด์ แสดงเจตนารมณ์ว่า ต้องการส่งรถถังเลพเพิร์ดบางส่วนของตนไปยังยูเครน แต่การจะส่งรถถังดังกล่าว ไปยังยูเครนได้นั้น ทั้ง 2 ประเทศจะต้องได้รับการลงนามการถ่ายโอนจากทางรัฐบาลเยอรมนีก่อน
---เหตุใดต้องรอเยอรมนีอนุมัติ---
ประเทศต่าง ๆ ที่ซื้อรถถังรุ่นที่ผลิตโดยเยอรมนีดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากเยอรมนีก่อน หากต้องการส่งรถถังไปยังประเทศที่ 3 โดยการอนุมัตินั้นขึ้นอยู่กับ โอลาฟ โชลซ์ นายกฯ เยอรมนีก่อน ตามข้อตกลงการซื้อขายอาวุธ
ทั้งนี้ รถถังเลพเพิร์ด 2 เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 1979 นับว่าเป็นหนึ่งในรถถังที่ดีที่สุดของโลก และเป็นยุทโธปกรณ์ที่สำคัญสำหรับกองทัพมากกว่าสิบแห่งทั่วยุโรป รวมถึงแคนาดา และตุรกี รถถังดังกล่าว มีขนาดน้ำหนักถึง 67 ตัน
---ปัจจัยที่ทำให้เยอรมนีลังเลใจ---
1. บทเรียนจากสงครามโลก
ความลังเลใจที่มีมาอย่างยาวนาน ในการเข้าสู่ความขัดแย้งของเยอรมนีนั้น เกิดจากบรรทัดฐาน และนโยบายที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกผิดที่มีต่อสงครามโลกครั้งที่ 2 และพยายามหลีกเลี่ยงการถูกมองว่า “เป็นกองทัพที่แข็งกร้าว” นานหลายทศวรรษนับตั้งแต่นั้นมา โดยส่วนใหญ่เยอรมนีจะหลีกเลี่ยงการส่งออกอาวุธไปยังพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง
ทั้งนี้ เยอรมนีมักจะอธิบายในแวดวงความมั่นคง และนโยบายต่างประเทศว่า ตนเองเป็นผู้รักสงบ แต่นักวิเคราะห์บางคน ได้ปฏิเสธคำอธิบายนี้ โดยอ้างถึงการทุ่มทรัพยากรของเยอรมนีตะวันตกในการสร้างกองทัพในช่วงยุคสงครามเย็น และการอนุญาตให้สหรัฐฯ นำอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาประจำการในดินแดนของเยอรมนีได้ เช่นเดียวกับ การแทรกแซงทางทหารของเยอรมนี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนาโตในเซอร์เบียเมื่อปี 1990 และอัฟกานิสถานในเวลาต่อมา
2. ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับรัสเซีย
Washington Post รายงานว่า สงครามในยูเครนได้ผลักให้เยอรมนีตกอยู่ในสถานะที่ “น่าอึดอัดเป็นพิเศษ” เนื่องจากครั้งหนึ่ง เยอรมนีเคยถูกแบ่งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหภาพโซเวียต และชาติตะวันตก และเยอรมนียังคงรักษาความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับรัสเซียมากกว่าประเทศอื่น ๆ การที่เยอรมนีจะส่งรถถัง ซึ่งเป็นอาวุธหนัก ให้แก่ยูเครน จึงเท่ากับว่าเยอรมนีเข้าสู่สงครามโดยตรงและเสี่ยงที่จะทำให้รัสเซียไม่พอใจ
นอกจากนี้ อังเกลา แมร์เคิล อดีตนายกฯ เยอรมนี ซึ่งเติบโตในเยอรมนีตะวันออก และพูดภาษารัสเซียได้อย่างคล่องแคล่ว ได้เคยเป็นตัวกลางในการทำข้อตกลงการหยุดยิงระหว่างรัสเซีย และยูเครน เมื่อปี 2014 ในภูมิภาคดอนบาส และเธอยังทำให้เยอรมนีต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลจากรัสเซียเป็นหลัก
ส่วนพรรคสังคมประชาธิปไตยของโชลซ์ ถูกมองว่า ยังคงรักษาท่าทางที่เห็นอกเห็นใจเป็นพิเศษต่อรัสเซีย แม้หลังจากที่รัสเซียเปิดใช้ปฏิบัติการทางทหารในยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว นักการเมืองบางคนในพรรคของเขา ยังกล่าวว่า ความร่วมมือกับรัสเซียจะมีความสำคัญต่อความมั่นคงของยุโรป
3. ชาวเยอรมันยังเสียงแตก
ผลสำรวจของ ARD พบว่า ชาวเยอรมันยังมีความเห็นต่างต่อเรื่องนี้ โดย 46% เห็นด้วยให้มีการส่งรถถังช่วยยูเครน ขณะที่ 43% คัดค้าน
ความเห็นต่างยังพบในพรรคสังคมประชาธิปไตย พรรคแกนนำรัฐบาลด้วย ซึ่งสมาชิกพรรค 49% เห็นด้วย และหากเจาะไปที่กลุ่มอายุจะพบว่า คนรุ่นใหม่ไม่เห็นด้วยในการส่งรถถัง มากกว่ากลุ่มคนที่มีอายุมาก
---เยอรมนียืนยันจะไม่ทำอะไรเพียงลำพัง---
สัปดาห์ที่ผ่านมา โชลซ์ ได้กล่าวกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ทางโทรศัพท์ว่า เขาต้องการให้สหรัฐฯ ตกลงที่จะส่งรถถัง M1 เอบรามส์ที่ผลิตในสหรัฐฯ ไปยังยูเครนด้วย
“เราไม่เคยทำอะไรเพียงลำพัง แต่ทำร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา”
แต่สหรัฐฯ เผยว่า จะไม่มีการส่งรถถังเอบรามส์เร็ว ๆ นี้ และวอชิงตันต้องการให้เบอร์ลินเป็นคนหนึ่งที่ก้าวขึ้นมา
ความล้มเหลวในเรื่องนี้ ทำให้เยอรมนีถูกหลายวิจารณ์หนัก โดยรัฐบาลยูเครนกล่าวว่า “ทุกวันที่ล่าช้า หมายถึงความตายของชาวยูเครน ช่วยคิดให้เร็วขึ้นหน่อย”
ขณะที่นายกรัฐมนตรีมาเตอุซ โมราเวียกกี ของโปแลนด์ กล่าวว่า เขารอแถลงการณ์ที่ชัดเจนจากรัฐบาลเยอรมนีว่าประเทศที่มีรถถังเลพเพิร์ดจะสามารถส่งต่อให้ยูเครนได้หรือไม่ การที่เยอรมนีปฏิเสธที่จะส่งรถถังให้ยูเครนนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ คนบริสุทธิ์เสียชีวิตทุกวัน
ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศของสามชาติบอลติก ได้แก่ ลัตเวีย เอสโตเนีย และลิทัว ได้ออกแถลงการณ์ร่วมให้เยอรมรีจัดหารถถังเลพเพิร์ดให้แก่ยูเครนในตอนนี้ทันทีเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม อันนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีกล่าวเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาว่า เยอรมนีพร้อมไฟเขียวให้โปแลนด์ส่งรถถังดังกล่าวได้ หากโปแลนด์ส่งคำร้องมาก่อน
ขณะที่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้นำเยอรมนีย้ำอีกครั้ง ระหว่างการเยือนฝรั่งเศสว่า การตัดสินใจทุกเรื่องเกี่ยวกับการจัดส่งอาวุธจะต้องดำเนินการร่วมกับพันธมิตร ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ ด้วย
ในขณะที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส กล่าวว่า ฝรั่งเศสไม่ตัดความเป็นไปได้ในการส่งรถถัง Leclerc ให้แก่ยูเครน แต่การส่งอาวุธหนักใด ๆ เพื่อรบต้านรัสเซียนั้น ต้องมีการตัดสินใจและประสานงานร่วมกันกับชาติพันธมิตร ซึ่งรวมถึงเยอรมนีด้วยเช่นกัน
————
แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง และ พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
ภาพ: Reuters
ข้อมูลอ้างอิง: