โครเอเชียเปิดศักราชใหม่ เริ่มใช้สกุลเงินยูโร-เข้าร่วมเขตเชงเกน
‘โครเอเชีย’ กลายเป็นประเทศล่าสุดที่เปลี่ยนไปใช้สกุลเงินยูโร และเข้าร่วมเขตยูเชงเกน หลังรอคอยมาเกือบสิบปี
---รับศักราชใหม่ เริ่มใช้เงิน ‘ยูโร’---
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา โครเอเชียยกเลิกการใช้สกุลเงินคูนา และเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินยูโรแล้ว ทำให้โครเอเชียได้กลายเป็นสมาชิกลำดับที่ 20 ของกลุ่มยูโรโซน และเข้าร่วมเป็นสมาชิกลำดับที่ 27 ของเขตเชงเกน
ทั้งนี้ ยูโรโซน คือ สหภาพเศรษฐกิจและการเงิน ประกอบด้วยรัฐสมาชิกสหภาพยุโรป ที่ใช้สกุลเงินยูโรเป็นสกุลเงินร่วม และเป็นสกุลเงินเดียวที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย โดยมีธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินนโยบายการเงินของยูโรโซน
ส่วนเขตเชงเกน คือ การเปิดเสรีด้านการเดินทางข้ามพรมแดนที่ใหญ่สุดของโลก มีประชากรมากกว่า 400 ล้านคนที่สามารถเดินทางข้ามแดนชาติสมาชิก โดยไม่ต้องใช้หนังสือเดินทาง
สำหรับโครเอเชีย นั้นเคยเป็นส่วนหนึ่งของยูโกสลาเวีย ที่ล่มสลายไปแล้ว มีประชากรราว 3.9 ล้านคน และได้ผ่านสงครามประกาศอิสรภาพในช่วงทศวรรษที่ 90 จนกระทั่งได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปี 2013
---เปิดประตูสู่ยุโรปที่ไร้พรมแดน---
ความเคลื่อนไหวทั้งสองดังกล่าว ถือเป็นสองหมุดหมายสำคัญของโครเอเชีย หลังเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู เมื่อเกือบหนึ่งทศวรรษก่อน
ผู้คนในโครเอเชียต่างพากันมาเฉลิมฉลองบนท้องถนน เมื่อนาฬิกาหมุนชี้เวลาเข้าสู่ปีใหม่ ขณะที่ดอวอร์ โบซิโนวิค รัฐมนตรีมหาดไทยของโครเอเชีย ปรากฏกายที่ด่านข้ามแดนเบรกานา ซึ่งติดกับประเทศสโลวีเนีย เพื่ออวยพรแก่นักเดินทางกลุ่มสุดท้ายที่ต้องตรวจด่านผ่านแดน
โบซิโนวิคกล่าวว่า “โครเอเชียได้เปิดประตูสู่ยุโรปที่ไร้พรมแดนแล้ว ซึ่งไปไกลนอกเหนือจากเรื่องการขจัดการควบคุมชายแดน แต่มันคือการยืนยันท้ายสุดเรื่องอัตลักษณ์ของพวกเราชาวยุโรป”
ขณะที่ เออร์ซูลา ฟอน เดอ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้เข้าร่วมการเฉลิมฉลอง การยกเลิกด่านตรวจชายแดนระหว่างโครเอเชียและสโลวีเนีย พร้อมกับผู้นำของทั้งสองชาติ
พร้อมกล่าวว่า คนโครเอเชียรุ่นต่อไปจะเติบโตในเขตเชงเกน และตอนนี้ การควบคุมทั้งทางบก และทางทะเล ของบรรดาประเทศเพื่อบ้านทั้งอิตาลี ฮังการี และสโลวีเนียได้ยุติลงแล้ว ส่วนการตรวจหนังสือเดินทางผ่านเที่ยวบินระหว่างโครเอเชียและเขตเชงเกนอื่น ๆ จะยุติตั้งแต่เดือนมีนาคม
---ความเปลี่ยนแปลงหลังใช้เงินยูโร---
ขณะที่ชาวโครเอเชียจำนวนมากยินดีที่ไม่มีการควบคุมชายแดนแล้ว แต่ก็ยังมีความกลัวว่า การเปลี่ยนไปใช้เงินยูโรจะทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น เพราะภาคธุรกิจเห็นว่าเมื่อแปลงค่าเงินแล้วต้นทุนสูงขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของโครเอเชีอยู่ที่ 13.5% เมื่อเทียบกับกลุ่มยูโรโซนซึ่งอยู่ที่ 10%
สำนักข่าว Al Jazeera รายงานอ้างผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การที่โครเอเชียเปลี่ยนไปใช้เงินยูโรในช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้ออันเป็นผลพวงมาจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนนั้น จะช่วยปกป้องเศรษฐกิจของโครเอเชียได้ และการใช้เงินยูโรนั้นจะช่วยลดเงื่อนไขในการกู้ยืมเงินท่ามกลางความยากลำบากทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน
บรรดานักวิเคราะห์ยังมองว่า กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกที่เป็นสมาชิกอียู แต่ไม่ได้ใช้สกุลเงินยูโร เช่น โปแลนด์ และฮังการี นั้น เปราะบางต่อการพุ่งสูงของอัตราเงินเฟ้อมากกว่า
ขณะเดียวกัน การที่โครเอเชียได้เข้าร่วมเขตเชงเกน จะยิ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวของโครเอเชีย ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ มีสัดส่วนราว 20% ของ GDP
อย่างไรก็ตาม โครเอเชียเผยว่า จะยังคงใช้มาตรการผ่านแดนที่เข้มงวดต่อไปกับชายแดนฝั่งตะวันออกของประเทศที่ติดกับประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอียู เช่น บอสเนียและเฮอร์เซโกวินา มอนเตเนโกร และเซอร์เบีย
—————
แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง
ภาพ: Reuters
ข้อมูลอ้างอิง: