‘จีน-สหรัฐฯ’ จับตาผลการเลือกตั้งท้องถิ่นในไต้หวันอย่างใกล้ชิด
‘ไช่ อิงเหวิน’ ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค DDP หลังแพ้การเลือกตั้งท้องถิ่น เรื่องนี้จะส่งผลต่อการทำงานของเธออย่างไรต่อไป และจะส่งผลต่อจีนและสหรัฐฯ อย่างไร
---พรรคฝ่ายค้านคว้าชัยเลือกตั้งท้องถิ่นไต้หวัน---
ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นของไต้หวันช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏว่า พรรคก๊กมินตั๋ง หรือ KMT ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและผู้บริหารท้องถิ่น 13 เก้าอี้จากจำนวน 21 เก้าอี้ ซึ่งรวมถึงการได้ชัยชนะที่ไทเป ตามความคาดหมายด้วย
ผู้ที่ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่มีใครกล่าวโดยตรงถึงนโยบายเกี่ยวกับจีนแต่อย่างใด ขณะที่พรรค KMT มักจะมีแนวนโยบายใกล้ชิดกับจีน แต่ปฎิเสธมาโดยตลอดว่าไม่ได้เป็นพรรคที่สนับสนุนรัฐบาลจีน
เอริก ชู ประธานพรรค KMT กล่าวว่า พรรค KMT เข้าใจว่า ความสามัคคีทำให้ได้ชัยชนะ ประชาชนไต้หวันให้โอกาสกับพรรคแล้ว การไม่เห็นแก่ตัวจะเป็นโอกาสเดียวที่จะทำให้พรรค KMT ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 และว่า นโยบายแข็งกร้าวกับจีนไม่สามารถเรียกคะแนนเสียงจากประชาชนได้
---‘ไช่ อิง-เหวิน’ ลาออกจากประธานพรรค DPP---
ด้านประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวิน ประกาศลาออกจากประธานพรรค DPP หลังจากพ่ายแพ้ ซึ่งย่ำแย่ที่สุดในรอบ 36 ปี โดยมีนายกเทศมนตรีหรือผู้บริหารรัฐบาลท่องถิ่นเหลือเพียง 5 ที่นั่งเท่านั้น
เป็นที่สังเกตว่า แม้การเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์ จะเป็นเพียงการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี สมาชิกสภาเทศบาล และผู้นำชุมชน ไม่มีผลต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลกลาง ที่ยังคงมีความตึงเครียดกับจีน เนื่องจากประเด็นของการหาเสียงล้วนเป็นเรื่องภายในของไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 และการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม แต่พรรค DPP หาเสียงโดยเชื่อมโยงสถานการณ์เหล่านี้กับจีน ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อปกป้องประชาธิปไตยและผลประโยชน์ของไต้หวัน
การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ ยังมีจำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งต่ำเป็นประวัติการณ์ ในเมืองสำคัญ 6 แห่งมีผู้ไปลงคะแนนเสียงเพียงร้อยละ 59 เปรียบเทียบกับตัวเลขผู้ออกไปหย่อนบัตรทั้งหมดในปี 2020 ที่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 75
เลขาธิการพรรค DPP กล่าวว่า ทางพรรคจะทบทวนว่ามีอะไรผิดพลาดในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ปฎิเสธที่จะพาดพิงถึงยุทธศาสตร์ในการหยิบยกเรื่องจีนมาเป็นประเด็นหาเสียง
---ชัยชนะครั้งใหญ่ของก๊กมินตั๋งจะส่งผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดี?---
South China Morning Post รายงานว่า การที่พรรคก๊กมินตั๋งชนะการเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่ได้หมายความเสมอไปว่า จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 แต่แน่นอนว่า รัฐบาลจีนยินดีต่อผลการเลือกตั้งครั้งนี้
นักวิเคราะห์มองว่า การที่พรรคก๊กมินตั๋งชนะการเลือกตั้งนั้น เหมือนเป็นการลงมติไม่เห็นด้วยกับผลการทำงานของรัฐบาลไต้หวัน เช่น การรับมือโควิด-19 ปัญหาการว่างงาน การปิดตัวของบรรดาธุรกิจ และโดยทั่วไปแล้ว ประชาชนมักจะตั้งมาตรฐานการทำงานของพรรครัฐบาลไว้สูงกว่าอยู่แล้ว เพราะมีความรับผิดชอบมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งท้องถิ่น ทำให้พรรคก๊กมินตั๋งกลับมาฟื้นฟูได้สำเร็จ และเตรียมพร้อมกลับมาสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในอีกสองปีข้างหน้า ในขณะที่ผลคะแนนชี้วัดในฝั่งพรรครัฐบาลเต็มที่ไม่ได้ เพราะคนออกมาใช้สิทธิ์น้อย และผู้ที่ออกมา กลับเป็นผู้ที่เลือกพรรคฝ่ายค้าน
ทั้งนี้ ยังต้องรอดูตัวผู้สมัครชิงประธานาธิบดีของพรรคก๊กมินตั๋งด้วยว่าจะส่งใครชิงประธานาธิบดี เพราะในพรรคมีนักการเมืองรุ่นใหญ่หลายคนที่อาจลงชิงชัย ซึ่งหากพรรคฝ่ายค้านไม่เป็นเอกภาพ ก็อาจทำลายโอกาสของพรรคเองเช่นกัน
ด้าน The Straits Times ระบุว่า ผลเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่สามารถชี้ชะตาเลือกตั้งประธานาธิบดีได้เสมอไป เพราะในปี 2020 ประธานาธิบดีไช่ ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แม้ในปี 2018 พรรคของเธอพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นให้กับพรรคก๊กมินตั๋งอย่างหนักก็ตาม ดังนั้น พรรค DPP จึงยังมีโอกาสอยู่เมื่อไช่ออกจากตำแหน่ง เพราะครบวาระสองสมัยแล้ว
---จีน-สหรัฐฯ จับตาผลเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด---
แม้การเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่รัฐบาลจีนและสหรัฐฯ จับตาผลอย่างใกล้ชิด
ที่จีน โฆษกสำนักงานกิจการไต้หวัน จู เฟิงเหลียน กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งสะท้อนความเห็นกระแสหลักในไต้หวัน ที่ต้องการมีสันติภาพ เสถียรภาพ และชีวิตที่ดีกว่า โดยจีนแผ่นดินจะเดินหน้าทำงานร่วมกับชาวไต้หวัน เพื่อส่งเสริมสันติภาพข้ามช่องแคบ และต่อต้านความพยายามในการแบ่งแยกดินแดน
ขณะที่ อเล็ก โหล ผู้อำนวยการบริการของศูนย์ศึกษาสังคมทางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศในไต้หวัน กล่าวว่า ในช่วงสองปีที่เหลือ ไช่ อิงเหวิน จะกลายเป็นเป็ดง่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ และดูเหมือนจะเป็นการยากที่จะดำเนินนโยบายแข็งกร้าวในการต่อต้านจีน
โหล กล่าวว่า แม้พรรคก๊กมินตั๋งจะปรับจุดยืน แต่ในอดีต นี่คือพรรคการเมืองนิยมจีน ดังนั้น จีนน่าจะพอใจในผลการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะยังดีกว่าที่จะให้พรรค DPP ซึ่งนิยมการเป็นเอกราช ชนะการเลือกตั้ง
ขณะที่ จีนไม่นิยมพรรค DPP และตัดช่องทางการสื่อสารกับไต้หวัน นับตั้งแต่ประธานาธิบดีไช่ เข้ารับตำแหน่งในปี 2016
นักวิเคราะห์ของ The Straits Times ระบุว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ใช่ชัยชนะสำหรับจีน แต่จีนสามารถตีความว่าเป็นชัยชนะได้ และใช้ผลการเลือกตั้งเป็นข้ออ้างที่ชอบธรรมของการดำเนินนโยบาย “อดทนทางยุทธศาสตร์” กับไต้หวัน
โดยจีนสามารถกล่าวได้ว่า ฝั่งที่เป็นมิตรกับจีนมากกว่าในไต้หวันกำลังจะชนะแล้ว ดังนั้น จึงมีโอกาสที่จะรวมชาติอย่างสันติได้ เวลาอยู่ข้างเรา จีนต้องอดทนนั่นเอง
ขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐฯ คงจับตาดูว่าพรรคก๊กมินตั๋ง จะดำเนินนโยบายนิยมอเมริกาจริงหรือไม่ เพราะประธานพรรคก๊กมินตั๋งที่เข้ารับตำแหน่งในปี 2021 เคยประกาศว่าจะดำเนินนโยบาย “ใกล้ชิดสหรัฐฯ เป็นมิตรกับญี่ปุ่น และมีส่วนร่วมกับจีนแผ่นดินใหญ่”
โดยเขาได้เปิดสำนักผู้แทนพรรคก๊กมินตั๋ง ในกรุงวอชิงตัน ดีซี และเจ้าหน้าที่ของพรรคมีการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รวมถึงหน่วยงานคลังสมองต่าง ๆ มากขึ้นด้วย
—————
แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง
ภาพ: Reuters
ข้อมูลอ้างอิง: