‘ซูนัค’ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว หลังขึ้นเป็นนายกฯ อังกฤษอย่างเป็นทางการ
‘ริชี ซูนัค’ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ ประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว
หลังจากที่ ‘ซูนัค’ เข้าเฝ้ากษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 เพื่อรับการโปรดเกล้าให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษวันแรก เมื่อวานนี้ (25 ตุลาคม) เขาก็ประกาศแต่งตั้งและปรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของเขาทันที
---‘ซูนัค’ จะรีบแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง---
ในแถลงการณ์แรกที่บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่งนั้น ซูนัคกล่าวว่า สหราชอาณาจักรกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ และเขาได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม เพื่อแก้ไขปัญหาความผิดพลาดของ ‘ลิซ ทรัสส์’ อดีตนายกรัฐมนตรี และบอกว่า เขาจะรีบตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง
ขณะเดียวกันซูนัค กล่าวด้วยว่า เขาพร้อมนำพาประเทศชาติ ไปสู่อนาคต และจะสร้างรัฐบาลที่ทำหน้าที่แทนพรรคอนุรักษ์นิยมให้ดีที่สุด และเขาจะบรรจุประเด็นเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นในวาระแห่งชาติของรัฐบาลชุดนี้
นอกจากนี้ ซูนัคยังบอกด้วยว่าเขาจะไม่ท้อถอยต่อปัญหา และจะฟื้นฟูความไว้วางใจ กับความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา รวมถึงนำพาสหราชอาณาจักรฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ
--- ‘เจเรมี ฮันต์’ ยังคงได้อยู่ในตำแหน่งรมว.คลังต่อไป---
ซึ่งหลังจากเขาแถลงต่อประชาชนแล้วซูนัค ยังให้ ‘เจเรมี ฮันต์’ ยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง หลังเพิ่งได้รับแต่งตั้งจากอดีตนายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ เมื่อ 11 วันที่แล้ว และเป็นคนประกาศยกเลิกนโยบายลดภาษีเกือบทั้งหมดของทรัสส์เพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ทั้งซูนัคและฮันต์ต่างพูดคุยกันถึงความยากลำบากในการตัดสินใจเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ โดนจะทราบรายละเอียดต่ไปในวันที่ 31 ตุลาคม หลังจากรัฐบาลกำหนดงบประมาณต่อไป
ขณะที่ ‘โดมินิก ราบ’ ยังคงควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรียุติธรรม
ด้าน ‘เจมส์ เคลฟเวอร์ลี’ ก็ยังคงได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศอีกครั้ง โดยแหล่งข่าวอาวุโสของรัฐบาลระบุว่า การที่ ‘เคลฟเวอร์ลี’ ถูกแต่งตั้งอีกครั้งจะทำให้เกิดเสถียรภาพในกระทรวงการต่างประเทศ และจะทำให้เกิดความต่อเนื่องในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระหว่างสหราชอาณาจักรนานาชาติ
ส่วน ‘เบน วอลเลซ’ ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมตามเดิม
---จับตา ‘เบรเวอร์แมน’ รับตำแหน่งรมว.มหาดไทยอีกครั้ง---
อีกหนึ่งคนที่น่าจับตามอง คือ ’ซูเอลลา เบรเวอร์แมน’ ได้รับการแต่งตั้งกลับมาเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยอีกครั้ง เพียงไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ หลังจากเธอลาออกจากรัฐบาลของทรัสส์ เพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีใช้อีเมลส่วนตัวส่งเอกสารราชการ
การลาออกของเธอเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้ทรัสส์ลาออก สำหรับความผิดพลาดเรื่องแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเธอได้สนับสนุนให้ซูนัคขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่องสองวันก่อนด้วย
บางแหล่งข่าวในรัฐบาลก็จับตามองว่า การสนับสนุนครั้งนี้มีส่วนได้ส่วนเสียว่าจะได้อะไรกลับมาหรือไม่
มาดูกันต่อว่าซูนัคเอาใครออกบ้าง
ซูนัคไม่เก็บผู้ที่สนับสนุน ‘บอริส จอห์นสัน’ และ ‘ลิซ ทรัสส์’ ไว้ โดย ‘เจค เบอร์รี’ อดีตประธานพรรคอนุรักษ์นิยม ไม่ได้ไปต่อ เช่นเดียวกับ ‘ไซมอน คลาร์ก’ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเคหะ ชุมชน และรัฐบาลท้องถิ่นแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทรัสส์และนโยบายของเธออย่างเต็มตัว
ด้าน ‘เจคอบ รีส์-ม็อกก์’ อดีตรัฐมนตรีธุรกิจ พลังงานและยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม ก็ไม่ได้ไปต่อ หลังจากที่เขาวิพากษ์วิจารณ์ซูนัคอย่างหนัก
---นายกฯ ผู้เปิดหน้าประวัติศาสตร์หน้าใหม่---
ริชี ซูนัค วัย 42 ปี กำลังสร้างประวัติศาสตร์ใหม่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น
- การเป็นนายกรัฐมนตรีเชื้อสายอินเดียหรือเอเชียคนแรกของอังกฤษ
- นายกรัฐมนตรีที่นับถือศาสนาฮินดูคนแรกของประเทศ
- นายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในรอบ 210 ปี
- นักการเมืองที่ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวดเร็วที่สุดในยุคสมัยใหม่โดยใช้เวลาเพียง 7 ปีนับจากได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- นายกรัฐมนตรีคนแรกในรัชสมัยของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3
ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 57 ซึ่งถือนายกรัฐมนตรีคนของพรรครัฐบาลอนุรักษนิยม คนที่ 5 ในรอบ 6 ปีจะต้องเผชิญความท้าทายในการสร้างเสถียรภาพ หลังจากอังกฤษประสบกับความยุ่งเหยิงทางการเมือง และความผันผวนของตลาดเงินครั้งประวัติศาสตร์ และต้องบริหารเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากภาวะถดถอย
การก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองของชายเสื้อสายเอเชียที่นับถือศาสนาฮินดู จึงถือเป็นหมุดหมายสำคัญของพัฒนาการของอังกฤษ ในการเป็นสังคมที่มีความหลากหลายวัฒนธรรมและความเชื่อ
---นายกฯ เชื้อสายเอเชีย---
ทั้งนี้ ซูนัคได้รับการยืนยันนั่งเก้าอี้ผู้นำอังกฤษในวันเทศกาลดิวาลี หรือเทศกาลแห่งแสงสี หนึ่งในเทศกาลที่สำคัญที่สุดของชาวฮินดูทั่วโลก เพื่อเฉลิมฉลองการเริ่มต้นใหม่และชัยชนะของความดีเหนืออธรรม
เมื่อสองปีที่แล้ว ครั้งที่ซูนัคเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เขาได้จุดเทียนเนื่องในเทศกาลดิวาลี ที่หน้าประตูบ้านเลขที่ 11 ถนนดาวนิ่ง ซึ่งเป็นทำเนียบทางการของรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และกล่าวว่า นี่คือหนึ่งในความภาคภูมิใจที่สุดที่เขาสามารถทำสิ่งนี้ได้ที่บันไดด้านหน้าทำเนียบ
อีกทั้งซูนัคยังเคยกล่าวว่า ความเชื่อนั้นทำให้เขาแข็งแกร่ง ทำให้เขามีเป้าหมาย และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เป็นเขาในวันนี้
นอกจากนี้ ตอนที่ซูนัค สาบานตนต่อรัฐสภา เขายังทำพิธีต่อภควัทคีตา คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดูด้วย
ด้าน ทารีค โมดุด นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และการเมืองของมหาวิทยาลัยบริสทอล กล่าวว่า การที่ซูนัคได้เป็นนายกรัฐมนตรี กลายเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ความความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความเท่าเทียมกันทางชาติพันธุ์ ซึ่งเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ทุกคนคาดคิด และไม่มีใครคิดด้วยซ้ำว่า นายกรัฐมนตรีจากชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยจะมาจากพรรคอนุรักษ์นิยม
—————
แปล-เรียบเรียง: พิชญาภา สูตะบุตร
ภาพ: Reuters
ข้อมูลอ้างอิง: