WHO ชี้ "โรคตับอักเสบ" ที่ระบาดในเด็กหลายประเทศอาจเกิดจากเชื้ออะดีโนไวรัส
องค์การอนามัยโลก ชี้ "โรคตับอักเสบ" ที่ระบาดในเด็กจากหลายประเทศ อาจเกิดจากเชื้ออะดีโนไวรัส
วันนี้ (29 เม.ย. 65) เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยในวันพฤหัสบดี (28 เม.ย.) ว่า การระบาดของโรคตับอักเสบรุนแรง (severe hepatitis) ในเด็กที่มีสุขภาพดีซึ่งทำให้เกิดอาการตับวาย (liver failure) ในเด็กบางคนนั้น อาจเชื่อมโยงกับการติดเชื้ออะดีโนไวรัส (adenovirus) แม้ว่าจำเป็นจะต้องมีการตรวจสอบกรณีดังกล่าวเพิ่มเติมก็ตาม
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า WHO เปิดเผยรายงานล่าสุดระบุว่า 11 ประเทศ รวมถึงสหรัฐรายงานผู้ป่วยโรคตับอักเสบเฉียบพลันรุนแรงอย่างน้อย 169 รายในเด็กอายุ 1 เดือนถึง 16 ปี โดยมีการระบาดมากที่สุดในสหราชอาณาจักร โดยมีเด็กอย่างน้อย 17 คนต้องทำการปลูกถ่ายตับ และมีผู้ป่วยรายหนึ่งเสียชีวิต
ทั้งนี้ โรคตับอักเสบนั้นเป็นการอักเสบของตับซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อไวรัส แต่ยาและสารพิษก็สามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะดังกล่าวได้ด้วย
ดร.ฟิลิปปา อีสเตอร์บรูก เจ้าหน้าที่ของ WHO ที่เฝ้าติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับโรคตับอักเสบกล่าวในระหว่างการประชุมถาม-ตอบในโซเชียลมีเดียของ WHO เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ระบุว่า "สิ่งที่ผิดปกติอย่างมากก็คือ เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่เคยมีสุขภาพที่แข็งแรงมาก่อน"
WHO เปิดเผยว่า เด็กอย่างน้อย 74 คนได้รับการตรวจพบว่าติดเชื้ออะดีโนไวรัส โดยอะดีโนไวรัสนั้นเป็นไวรัสที่ส่งผลให้เกิดโรคได้ในหลายระบบของร่างกาย และมักจะทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ แต่ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง ตาแดง และการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะด้วย
การระบาดของโรคตับอักเสบรุนแรงในเด็กนั้นเกิดขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นของอะดีโนไวรัสในประเทศต่างๆ เช่น สหราชอาณาจักร
ดร.อีสเตอร์บรูกกล่าวว่า "สิ่งนี้ไม่ได้พิสูจน์ว่ามีการเชื่อมโยงเชิงสาเหตุกับกรณีเหล่านี้ แต่ก็เป็นสัญญาณเริ่มต้นที่น่าสนใจที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับการพิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติม"
ด้านดร.ริชาร์ด พีบอดี ผู้นำทีมด้านเชื้อโรคที่มีอันตรายสูงซึ่งประจำอยู่ที่ WHO สาขายุโรประบุว่า ในบางกรณี อะดีโนไวรัสมีความเกี่ยวข้องกับโรคตับอักเสบในเด็กที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
อย่างไรก็ตาม WHO ระบุว่า อะดีโนไวรัสไม่ใช่สาเหตุของโรคตับอักเสบในเด็กที่มีสุขภาพดี
ข้อมูลของ WHO ระบุว่า เด็กอย่างน้อย 20 คนติดเชื้อโควิด โดย 19 คนมีผลตรวจเชื้อเป็นบวกทั้งไวรัสโควิดและอะดีโนไวรัส
แฟ้มภาพ AFP