ลดหย่อนภาษี ปี 2564 มีค่าใช้จ่ายอะไรใช้ลดหย่อนได้บ้าง พร้อมเทคนิคคืนภาษีเร็ว เช็กที่นี่!
ลดหย่อนภาษี ปี 2564 ค่าใช้จ่ายประเภทไหนนำไปลดหย่อนได้บ้าง ต้องเตรียมหลักฐานอะไรบ้าง จึงจะได้คืนภาษีครบ จบ เร็ว ที่สุด เช็กเลย ที่นี่!!
หลายคนน่าจะเริ่มวางแผน ลดหย่อนภาษี ปี 2564 กันบ้างแล้ว เพราะปกติจะถึงรอบยื่นภาษีกันในช่วงสิ้นปีต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีถัดไป ในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยปกติเหมือนกับปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ทำให้กรมสรรพากรเองขยายระยะเวลายื่นออกไปเรื่อยๆ เพื่อยืดหยุ่นและบรรเทาผลกระทบช่วยประชาชนอีกทางหนึ่ง โดยการยื่นภาษีนั้น สามารถทำได้ทั้งที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และรูปแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.rd.go.th แต่การยื่นภาษีออนไลน์ ก็นับเป็นช่องทางที่ประชาชนนิยมกันมากขึ้นและสะดวกสบาย ไม่ต้องเดินทางออกจากบ้าน ยื่นเมื่อไหร่ก็ได้
แม้จะยื่นภาษีกันมาแทบจะทุกปี แต่ก็ยังจะต้องทบทวนกันบ้างสำหรับค่าใช้จ่ายที่สามารถนำไป ลดหย่อนภาษี ปี 2564 นี้ได้ รวมทั้งเอกสารที่จำเป็นที่ใช้ประกอบการยื่นภาษี
เอกสารสำหรับการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี มีอะไรบ้าง??
โดยการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอยู่ 2 แบบ คือ ภ.ง.ด.90 (สำหรับผู้มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน) และ ภ.ง.ด.91 (สำหรับผู้มีรายได้เป็นเงินเดือนโดยไม่มีรายได้เสริมอื่น) และจะต้องเตรียมเอกสาร ดังนี้
1. หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับใบ 50 ทวิ
2. รายการลดหย่อนภาษีที่รวบรวมทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา
3. เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี เพื่อกรอกแบบฟอร์มการยื่นจ่ายภาษี เช่น ใบเสร็จรับเงินเบี้ยประกันชีวิตหรือ หนังสือรับรองการจ่ายเงินเบี้ยประกันชีวิต เป็นต้น
สำหรับค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาใช้หัก ลดหย่อนภาษี ปี 2564 ได้นั้น มีทั้งหมดด้วยกัน 4 ประเภท ได้แก่
1. ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว
ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว | |
ลดหย่อนส่วนตัว | 60,000 บาท |
ลดหย่อนคู่สมรส | 60,000 บาท |
ลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร | ไม่เกิน 60,000 บาท |
ลดหย่อนภาษีบุตร คนที่ 2 เป็นต้นไป เกิดตั้งแต่ปี 2561 | คนละ 30,000 บาท |
ลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดา | คนละ 30,000 บาท |
ลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพลภาพ | คนละ 60,000 บาท |
ข้อมูลจาก: กรมสรรพากร |
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว จำนวน 60,000 บาท สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ
- ค่าลดหย่อนคู่สมรส จำนวน 60,000 บาท สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องถามกฎหมาย และคู่สมรสจะต้องไม่มีรายได้
- ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ที่จ่ายให้กับสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 60,000 บาทต่อปี โดยสามีสามารถลดหย่อนภาษีในกรณีที่ภรรยาไม่มีเงินได้ เอกสารหลักฐานที่ใช้สำหรับการลดหย่อนภาษีคือ ใบเสร็จรับเงินและใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาล
- ค่าลดหย่อนภาษีบุตร คนละ 30,000 บาท โดยจะต้องเป็นบุตรโดยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม และบุตรมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาอยู่ หรือในกรณีที่บุตรอายุเกิน 25 ปี ขึ้นไป แต่มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้ในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป และเกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท แต่ก็จะแบ่งแยกย่อยเป็นอีก 3 กรณี ได้แก่ 1. กรณีมีเฉพาะบุตรชอบด้วยกฎหมาย: สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรกี่คนก็ได้ตามจำนวนบุตรจริง 2. กรณีมีเฉพาะบุตรบุญธรรม: สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้คนละ 30,000 บาท สูงสุด 3 คนและ 3. กรณีมีทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม: ให้ใช้สิทธิบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก่อน และหากบุตรบุญธรรมเป็นคนที่ 4 จะไม่สามารถใช้สิทธิได้ แต่ถ้าบุตรบุญธรรมอยู่ในคนที่ 1-3 สามารถใช้สิทธิบุตรบุญธรรมได้
- ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส จำนวนคนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 4 คน กล่าวคือ สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท (และจะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม) โดยบิดามารดาจะต้องมาอายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำระหว่างพี่น้องได้ ต้องมีการระบุลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองการเลี้ยงดู (ลย.03) ว่าบุตรคนใดจะเป็นฝ่ายเลี้ยงดูบิดา/มารดา
- ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพลภาพ จำนวนคนละ 60,000 บาท และผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และมีบัตรประจำตัวผู้พิการ รวมถึงจะต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ
ในกรณีที่ผู้พิการหรือทุพลภาพเป็นบิดามารดา – บุตร – คู่สมรสของตนเอง สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้งสองส่วน ตัวอย่างเช่น คู่สมรสไม่มีรายได้และเป็นผู้พิการ สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 120,000 บาท (ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท และค่าลดหย่อนอุปการะผู้พิการ 60,000 บาท)
2. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน
ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน | ||
เงินประกันสังคม | สูงสุดไม่เกิน 5,100 บาท | รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท |
เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ | ไม่เกิน 100,000 บาท | |
ประกันสุขภาพ | ไม่เกิน 25,000 บาท | |
ประกันสุขภาพของบิดามารดา | ไม่เกิน 15,000 บาท | |
เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ | 15% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท | รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท |
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF | 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท | |
กองทุนรวมเพื่อการออม SSF | 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท | |
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน | 15% ของเงินได้ไม่เกิน 500,000 บาท | |
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) | ไม่เกิน 13,200 บาท | |
ข้อมูลจาก: กรมสรรพากร |
- เงินประกันสังคม สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 5,100 บาท (จากปกติ 9,000 บาท) สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 3,003 บาท เนื่องจากปี พ.ศ. 2564 มีการปรับลดอัตราเงินสะสมประกันสังคม และผู้ประกันตนมาตรา 40 จะลดหย่อนได้ไม่เกิน 700-3,000 บาท ตามที่จ่ายจริง (จำนวนเงินประกันสังคมที่ลดหย่อนได้สูงสุดเป็นข้อมูลในเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ หากมีประกาศปรับลดส่งเงินสมทบอีกครั้งในช่วงปลายปี)
- เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ สามารถลดหย่อนค่าเบี้ยประกันของคู่สมรสได้สูงสุด 10,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และถ้าหากมีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไข ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
- เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิต ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (บิดามารดามีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป)
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และมีการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุน RMF ได้ที่ “RMF” คืออะไร? ทบทวนเงื่อนไขพร้อมกองทุนแนะนำ!
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds) เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว สามารถนำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท โดยให้สิทธิประโยชน์สำหรับลดหย่อนภาษี 5 ปี
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถนำมาลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท
*** สำหรับกลุ่มค่าลดหย่อนประกันชีวิตและการลงทุนในการวางแผนเกษียณ ได้แก่ กองทุน RMF กองทุนรวม SSF กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกันทั้งหมด ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ***
3. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค
ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค | |
บริจาคทั่วไป | ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อน |
บริจาคเพื่อการศึกษา กีฬา การพัฒนาสังคม ประโยชน์สาธารณะ และสถานพยาบาลของรัฐ | 2 เท่าของเงินบริจาคจริง ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อน |
พรรคการเมือง | ไม่เกิน 10,000 บาท |
ข้อมูลจาก: กรมสรรพากร |
- เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ สามารถนำมาลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
- เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง นำมาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งมาจากมาตรา 70 ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้บริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองสามารถนำจำนวนเงินบริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีหรือรายจ่ายเพื่อการบริจาคตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากร
4. ค่าลดหย่อนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
- ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท
กรณียกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีอะไรบ้าง?
1. กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้พิการ และมีบัตรประจำตัวคนพิการว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษี จะได้รับยกเว้นเงินได้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น
2. กรณีเป็นผู้สูงอายุ และมีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ ในปีภาษี จะได้รับยกเว้นเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น
3. กรณีมีเครดิตภาษีเงินปันผล สำหรับคนที่ลงทุนในหุ้น สามารถใช้ยกเว้นภาษีได้ตามสัดส่วนที่ได้รับจากเงินปันผล
อยากได้เงิน คืนภาษีเร็ว ต้องทำอย่างไร?
1. เตรียมเอกสารให้พร้อมก่อนยื่นภาษี เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ ใครที่จะยื่นภาษี ควรเตรียมเอกสารทุกอย่างให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือรับรองเงินเดือนและการหักภาษี หรือใบทวิ 50 ซึ่งบริษัทจะออกให้ รวมไปถึงหลักฐานค่าลดหย่อนต่าง ๆ ทั้งเอกสารการซื้อประกัน กองทุนรวม SSF, RMF ,เอกสารรับรองบุตร ต่างๆ เป็นต้น ที่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ และหากยื่นภาษีออนไลน์ แนะนำให้เตรียมเอกสาร สแกนเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อที่จะได้สะดวกในการอัปโหลดเอกสารเข้าระบบไปได้เลยตั้งแต่ขั้นตอนยื่นภาษี โดยไม่ต้องรอให้กรมสรรพากรแจ้งยื่นเอกสาร จะช่วยให้การขอคืนภาษีทำได้เร็วขึ้น
2. ยื่นแบบขอคืนภาษีให้เร็วที่สุด หากมีเอกสารพร้อมแล้วก็ให้รีบยื่นแบบแสดงภาษีให้เร็วที่สุด
3. ยื่นภาษีออนไลน์ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร นอกจากเป็นวิธีที่สะดวกแล้ว ปัจจุบันยังรวดเร็วกว่าการยื่นแบบที่กรมสรรพากรด้วย ยื่นภาษีทางอินเทอร์เน็ต คลิกที่ลิงก์ https://efiling.rd.go.th/rd-cms/
4. ยื่นผ่านแอปฯ Rd Smart Tax เป็นอีกหนึ่งช่องทางยื่นภาษีที่รวดเร็วเช่นกัน ด้วยแอปฯ RD Smart Tax บนสมาร์ทโฟน ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ iOS และ Android
5. ขอรับเงินผ่านพร้อมเพย์ที่ผูกกับหมายเลขบัตรประชาชน หากใครอยากได้เงินภาษีคืนแบบรวดเร็วทันใจ อยากแนะนำให้สมัครบริการพร้อมเพย์ และผูกบัญชีเข้ากับบัตรประจำตัวประชาชน ก่อนทำการยื่นภาษี เพราะหากไม่มีการเรียกตรวจเอกสารเพิ่มเติมจะได้รับเงินคืนเร็วกว่า
6. คอยเช็กความคืบหน้าเสมอว่ามีการขอเอกสารเพิ่มเติมหรือไม่ โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลได้หลังจากยื่นเอกสารไปแล้ว 1 วันทำการ ที่ เว็บไซต์กรมสรรพากร https://efiling.rd.go.th/rd-cms/ หรือ แอปฯ Rd Smart Tax เพราะถ้าเจอว่ามีเอกสารหรือข้อมูลอะไรที่เราต้องแก้ไขเพิ่มเติม ก็จะได้รีบดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว เพื่อให้ได้รับเงินคืนเร็วที่สุด
นอกจากนี้ ใครที่อยากได้ข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับการยื่นภาษีก็สามารถสอบถามได้เลยที่ กรมสรรพากร หรือโทร. 1161
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการวางแผน ลดหย่อนภาษี ปี 2564 แล้ว TNN Online แนะนำว่า ประชาชนผู้เสียภาษีควรหมั่นอัปเดตหลักเกณฑ์เงื่อนไขค่าลดหย่อนภาษีที่กฎหมายได้ระบุไว้ในทุกปี ในแต่ละปีอาจจะมีการปรับปรุงเงื่อนไขหรือกฎหมายในบางรายละเอียดก็ได้ เพื่อที่จะช่วยให้เราสามารถวางแผนลดหย่อนภาษี หรือค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายอยู่แล้วได้อย่างถูกต้องเหมาะสม แถมยังช่วยเซฟเงินในกระเป๋าไปได้อีกมาก
ข้อมูล : กรมสรรพากร