10 คำศัพท์โซเชียลประจำปี 2024 พร้อมคำแปล “ติดแกลม” นำอันดับ 1
เปิด 10 อันดับ คำศัพท์โซเชียลยอดฮิตประจำปี 2024 พร้อมความหมาย และ คำแปล “ติดแกลม” นำอันดับ 1
ในยุคที่สังคมออนไลน์กลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวัน ผู้ที่เล่นโซเชียลมีเดียอยู่เป็นประจำคงสังเกตได้ว่าปัจจุบันมีคำศัพท์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย บางคำเป็นคำภาษาไทยที่คุ้นหู แต่มีความหมายและบริบทการใช้ที่เปลี่ยนไปจากเดิม จนบางครั้งทำให้คนฟังเกิดความสงสัยว่าคำเหล่านั้นมีความหมายว่าอะไรกันแน่
ล่าสุด Google Trends ได้เผยข้อมูลเกี่ยวกับคำศัพท์โซเชียลที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในปี 2024 โดยจัดอันดับคำที่ผู้คนค้นหาความหมายมากที่สุด 10 อันดับ ซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางภาษาและวัฒนธรรมในยุคดิจิทัล รายชื่อคำศัพท์ดังกล่าวมีดังนี้
10 คำศัพท์โซเชียลที่ได้รับการค้นหาความหมายมากที่สุด พร้อมคำแปล
1. ติดแกลม
“ติดแกลม” โดยมีความหมายว่า “ติดสวย ติดหรู ติดของแพง” ซึ่ง แกลมมาจากภาษาอังกฤษ “Glamorous” แปลว่า สวย งาม มีสเน่ห์
ทั้งนี้คำว่า “ติดแกลม” ชาวเน็ตไทยได้นำมาใช้ในเพื่ออธิบายลักษณะการใช้ชีวิตที่หรูหรา ไม่ใช่เพียงแค่การแต่งกายให้ดูแพง เพียงอย่างเดียว เช่นการดินเนอร์แบบไฟน์ไดนิ่ง การเดินทางด้วยเฟิร์สคลาส ทริปท่องเที่ยวแบบลักซู เราเรียกว่า “ใช้ชีวิตแบบติดแกลม” บางครั้งก็นำมาใช้ในเชิงเสียดสีได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น เดือนนี้ช็อตเงินไม่พอ เพราะใช้ชีวิตติดแกลม นั่นหมายถึงการใช้จ่ายแบบไม่ยั้งเพื่อความหรูหรา จนเงินเกลี้ยงบัญชีเป็นต้น
2.อ่อม
คำว่า “อ่อม” นั้นอาจทำให้นึกถึงอาหารประเภทแกงของทางภาคอีสาน มีกลิ่น และรสชาติเฉพาะตัว จากผักชีลาว น้ำปลาร้า ทำจากเนื้อสัตว์ต่างๆ แต่ถ้า “อ่อม” มาอยู่บนโลกโซเชียลนั้น ความหมายของมันจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
คำว่า “อย่าอ่อม” นั้นหมายความว่า อย่าเพิ่งยอมแพ้ อย่าเพิ่งท้อ อย่าเพิ่งหมดพลัง ใส่ให้หนัก จัดให้เต็ม ใส่มันลงไปใส่เข้าไปเยอะๆ ใช้ได้ในหลากหลายสถานการณ์ ทั้งการให้กำลังใจ หรือ แม้แต่การเชียร์ให้คนที่อยากพูดให้กำลังใจ กลับมามีพลังอีกครั้ง แต่ถ้า “อ่อม” แค่คำเดียว นั้นหมายความว่า รู้สึกปวกเปียก หมดพลัง ไม่เลิศ ไม่โอเค ตัวอย่างเช่น “รู้สึกอ่อมว่ะแก” เป็นต้น
3. ทีโพ
คำว่า “ทีโพ” ได้รับความนิยมจากบทสนทนาในละครซิทคอมชื่อดัง บ้านนี้มีรัก ตอนที่ 29 (EP29) โดยในฉากหนึ่ง นักแสดงตลกชื่อ จั๊กกะบุ๋ม เชิญยิ้ม ได้พูดคุยกับตัวละครอีกคนในลักษณะการตกลงกัน จากนั้นทั้งคู่ได้ตีมือเพื่อคอนเฟิร์มข้อตกลง พร้อมกับกล่าวคำว่า “ทีโพ!!!” ออกมา จากบริบทดังกล่าว สามารถสันนิษฐานได้ว่าคำว่า “ทีโพ” ในความหมายของจั๊กกะบุ๋ม เชิญยิ้ม หมายถึง “โอเค” หรือ “ตกลง” ซึ่งเป็นคำที่ใช้เพื่อยืนยันข้อตกลงระหว่างกันในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ
4. โฮ่ง
หนึ่งในคำศัพท์ยอดฮิตที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปี 2567 คือคำว่า “เอาให้โฮ่ง” คำนี้มาจาก “มิกซ์ เฉลิมศรี” สมาชิกแก๊งหิ้วหวีที่ได้โพสต์ให้ความหมายของคำนี้ไว้ว่า “ขอแบบเริ่ด ๆ” โดยคำว่า “โฮ่ง” ในบริบทนี้ไม่ได้หมายถึงเสียงเห่าของสุนัขตามที่หลายคนอาจเข้าใจ แต่กลับมีความหมายในเชิงบวกว่ามันเริ่ดมาก
5. เอดูเขต
คำว่า “เอดูเขต” กลายเป็นคำยอดนิยมในหมู่ชาว X (หรือที่รู้จักกันก่อนหน้านี้ในชื่อทวิตเตอร์) คำนี้มีต้นกำเนิดจากคำภาษาอังกฤษ “Educate” ซึ่งแปลว่า ให้ความรู้หรือให้ข้อมูล และถูกดัดแปลงเสียงให้เข้ากับภาษาไทยเพื่อเพิ่มความสนุกสนานในการใช้งาน คำว่า “เอดูเขต” ถูกนำมาใช้ในกรณีที่ต้องการ ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง หรือ เพิ่มเติมความรู้ ให้กับผู้ใช้งานคนอื่น โดยเฉพาะเมื่อพบข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือขาดความครบถ้วน ในบางครั้งก็มีการขอนุญาตกันก่อนด้วย
6. ฉ่ำ
ในภาษาไทยดั้งเดิม คำว่า “ฉ่ำ” มีความหมายว่า ชุ่มชื่น อุดมสมบูรณ์ หรือเต็มที่ โดยมักใช้เพื่อบรรยายลักษณะของสิ่งที่มีความชุ่มฉ่ำ เช่น ดินที่ชุ่มน้ำ หรือบรรยากาศที่สดชื่นหลังฝนตก อย่างไรก็ตาม ในบริบทของโซเชียลมีเดีย คำว่า “ฉ่ำ” ถูกนำมาใช้ในความหมายใหม่ที่สื่อถึงความ สุดยอด เต็มที่แบบสุด ๆ โดยมักใช้เพื่อเน้นอารมณ์หรือความรู้สึกในเชิงบวก ตัวอย่างเช่น:
- “โดนด่าฉ่ำไปเลยจ๊ะแม่” หมายถึง โดนตำหนิหรือวิจารณ์อย่างเต็มที่
- “น่ารักฉ่ำ ๆ” หมายถึง น่ารักมาก ๆ แบบสุด ๆ
7. ล่าแบ้
“ล่าแบ้” มีความหมายว่า บ้า ซึ่งเป็นคำที่ผันมาจาก “ภาษาลู” ภาษาเฉพาะของกลุ่มสาวประเภทสอง หรือ ชาว LGBTQ+ ดังนั้นบ้าในภาษาลู โดยภาษาลูนั้น จะใส่คำว่าลูก ใส่หน้าทุกพยัญชนะ แล้วกลับจากหลังมาหน้าบ้า = ลูบ้า = ล่าบู้ แต่ที่กลายมาเป็น ล่าแบ้ คือเป็นการแปลงคำให้สนุกสนาน และ มีอรรถรสในการสื่อสารมากยิ่งขึ้น
8. ทําถึง
ทำถึง การทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างยอดเยี่ยมหรือเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ เช่น การที่คนหนึ่งทำงานได้ดีเกินมาตรฐาน หรือการสร้างสรรค์บางสิ่งที่เหนือความคาดหวัง บ้างครั้งก็มีคำว่าทำเกินเข้ามาด้วย เพื่อเพิ่มอรรถรสในประโยคให้สนุกสนานยิ่งขึ้น สำหรับที่มาของคำนี้นั้นยังไม่แน่ชัดว่าใครเป็นคนเริ่มใช้
9. รู้สึกนอยด์
"นอยด์" มาจากคำว่า "annoy" (แอนนอย) ที่แปลว่า "น่ารำคาญ" หรือ "ทำให้รำคาญ" โดยคำนี้ได้ถูกตัดทอนให้สั้นลงเพื่อความสะดวกในการพูด และมักถูกใช้ในบริบทที่ไม่เป็นทางการ เช่น "ชั้นนอยอ่ะแก" หมายถึง "ชั้นรู้สึกรำคาญอ่ะแก" "วันนี้เจออะไรมาเยอะ นอยสุด ๆ เลย" หมายถึง "วันนี้เจอเรื่องน่ารำคาญมาเยอะมากจนไม่ไหวแล้ว"
10. แต่ละมื้อ แต่ละเว็น
“แต่ละมื้อ แต่ละเว็น” ที่เป็นการบ่นในภาษาอีสาน มีความหมายในภาษาพูดกลางว่า “แต่ละมื้อ แต่วัน” ประโยคนี้ชาวเน็ตใช้ในสถานการณ์ที่เกิดความวุ่นวาย ที่อยู่ๆ มีเรื่องให้ปวดหัว เบื่อหน่ายแบบไม่จบไม่สิ้น เป็นการบ่นแบบขำๆ ไม่ได้จริงจังอะไร
ข้อมูลจาก: รวบรวมโดย TNN
ภาพจาก: AFP
ข่าวแนะนำ