TNN วิกฤตทะเลเดือด ไทย-เมียนมา

TNN

TNN Exclusive

วิกฤตทะเลเดือด ไทย-เมียนมา

วิกฤตทะเลเดือด ไทย-เมียนมา

นาทีระทึกกลางทะเลอันดามัน เมื่อเสียงปืนจากเรือรบเมียนมาแหวกความเงียบยามดึก ไล่ล่าเรือประมงไทย จนต้องสังเวยชีวิตลูกเรือวัย 24 ปี พร้อมบาดเจ็บและถูกจับเป็นตัวประกัน สะท้อนปัญหาเส้นแบ่งทะเลที่ยังคลุมเครือ และราคาที่ต้องจ่ายด้วยชีวิตคนทำมาหากิน


นาทีชีวิตกลางทะเลเดือด เรือรบเมียนมาไล่ล่าเรือไทย


ความเงียบในค่ำคืนของวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ถูกทำลายลงด้วยเสียงปืนกลางทะเล เมื่อเรือรบเมียนมา 3 ลำ เปิดฉากถล่มเรือประมงไทยที่กำลังทำมาหากินห่างจากเกาะพยาม จังหวัดระนอง ราว 12 ไมล์ทะเล เหตุการณ์นี้ไม่เพียงคร่าชีวิตลูกเรือหนึ่งราย แต่ยังสร้างความบาดเจ็บและความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้


จุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นเมื่อเวลา 04.15 น. เรือ "มหาลาภธนวัฒน์ 4" ถูกกระหน่ำยิงจนตัวเรือพรุน น้ำทะเลทะลักเข้าเรืออย่างรวดเร็ว ไต๋เรือศรีเพ็ชร บุตรทัด วัย 47 ปี โชคร้ายถูกกระสุนเฉี่ยวศีรษะ ขณะที่ลูกเรือสุชาติ ชูเมือง วัย 42 ปี พลาดท่าถูกไฟฟ้าช็อตที่นิ้วมือขวา ทั้งคู่ต้องทนทรมานนานกว่าสามชั่วโมงกว่าจะถูกนำตัวส่งถึงโรงพยาบาลระนอง


แต่เรื่องร้ายยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพียงครึ่งชั่วโมงต่อมา เรือ "ส.เจริญชัย 8" พร้อมลูกเรือ 31 ชีวิต ถูกเรือรบเมียนมาบังคับนำตัวไปยังเกาะย่านเชือก หรือที่ชาวเมียนมาเรียกว่า "เกาะซะดะจี้" ด้วยข้อกล่าวหารุกล้ำน่านน้ำ ในจำนวนนี้มีคนไทย 4 คน และแรงงานชาวเมียนมาอีก 27 คน ขณะที่เรือลำที่สาม "ดวงทวีผล 333" ถูกไล่ยิงอย่างดุเดือดจนลูกเรือต้องกระโดดน้ำหนีตาย น่าเศร้าที่ วรากร จูศิริพงษ์กุล ช่างเครื่องหนุ่มวัยแค่ 24 ปี ต้องจบชีวิตด้วยการจมน้ำตายกลางทะเลอันดามัน


ความขัดแย้งเริ่มปะทุเมื่อทางการเมียนมาอ้างว่ามีเรือประมงไทยถึง 15 ลำ บุกรุกล้ำเข้าไปในน่านน้ำของพวกเขาลึกถึง 4-5.7 ไมล์ แต่ฝ่ายไทยยืนยันหนักแน่นว่าเรือประมงอยู่ห่างจากเกาะพยามเพียง 12 ไมล์ ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่ยังไม่มีการกำหนดเขตแดนชัดเจน


สันติวิธี! ทางออกทะเลเดือด


รัฐบาลไทยตอบสนองต่อวิกฤตการณ์อย่างรวดเร็ว นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาแถลงว่า เหตุการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมานานกว่า 30 ปี พร้อมประณามการใช้กำลังอาวุธกับเรือประมงไร้อาวุธ ว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ 


ด้านนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รีบสั่งการให้ยื่นหนังสือประท้วงและเรียกเอกอัครราชทูตเมียนมาเข้าพบทันที


การแก้ไขปัญหาดำเนินไปพร้อมกันหลายช่องทาง ทั้งการเจรจาผ่านคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (TBC) การส่งทูตไทยบินตรงไปกรุงเนปิดอว์ และการติดต่อประสานงานโดยตรงกับนายตาน ฉ่วย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา ซึ่งแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์และยืนยันจะให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่


ขณะเดียวกัน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็สั่งการให้กรมประมงตรวจสอบพิกัดเรือผ่านระบบติดตาม VMS อย่างละเอียด เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเรือประมงไทยอยู่ ณ จุดใดในขณะเกิดเหตุ ส่วนสำนักงานประกันสังคมก็เร่งเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต ด้วยเงินค่าทำศพ 50,000 บาท พร้อมค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างเป็นเวลา 10 ปี และเงินบำเหน็จชราภาพ


ทะเลอันดามัน: เส้นตาย...ไร้สัญญาณเตือน


ประเด็นที่น่าสนใจคือ ชาวประมงในพื้นที่ออกมาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับระบบเตือนภัย VMH ซึ่งปกติจะส่งสัญญาณเตือนทันทีที่เรือเข้าใกล้น่านน้ำต่างประเทศ แต่กลับไม่มีการแจ้งเตือนใดๆ ในคืนเกิดเหตุ ข้อมูลนี้สอดคล้องกับคำให้การของนายศรีเพชร บุตรทัด เจ้าของเรือมหาลาภธนวัฒน์ 4 ที่ยืนยันว่าเรือของตนไม่ได้รุกล้ำน่านน้ำ และไม่ได้รับสัญญาณเตือนจากระบบติดตามเรือแต่อย่างใด ซึ่งข้อเท็จจริงนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบจากกรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


เหตุการณ์ครั้งนี้คร่าชีวิตนายวรากร จูศิริพงษ์กุล ช่างเครื่องวัย 24 ปี สร้างความบาดเจ็บให้กับไต๋เรือศรีเพ็ชร บุตรทัด และลูกเรือสุชาติ ชูเมือง อีกทั้งยังมีลูกเรือไทยอีก 4 คนที่ถูกควบคุมตัวอยู่บนเกาะย่านเชือก สะท้อนให้เห็นว่าความไม่ชัดเจนของเส้นแบ่งในทะเลมีราคาที่ต้องจ่ายด้วยชีวิตคน การทำงานร่วมกันระหว่างประเทศเพื่อนบ้านจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ชาวบ้านต้องทำมาหากินร่วมกัน 


ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องหันหน้ามาคุยกันอย่างจริงจัง วางกฎกติกาให้ชัดเจน และหาทางออกที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ในระยะยาว ไม่ใช่แค่รอให้เกิดเรื่องแล้วค่อยมาแก้กันทีละครั้ง เพราะถ้ายังทำแบบนี้ต่อไป เราอาจต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประมงไทยอีกหลายครั้ง ก่อนที่จะได้บทสรุปที่ทุกฝ่ายพอใจ



ภาพ ผู้สื่อข่าว จ.ระนอง 

ข่าวแนะนำ