TNN “อาณาจักรกองขยะ” กับภารกิจ “แมวบิน” นักจัดระเบียบบ้านและจิตใจ

TNN

TNN Exclusive

“อาณาจักรกองขยะ” กับภารกิจ “แมวบิน” นักจัดระเบียบบ้านและจิตใจ

ภายในบ้านหลังใหญ่ ขนาด 150 ตารางวา ย่านลาดพร้าว กรุงเทพฯ คราคร่ำไปด้วยกองขยะ และสิ่งของมากมาย จนแทบไม่มีทางเดิน ทุกก้าวย่างต้องฝ่าด่านและเหยียบย่างไปบนกองของต่าง ๆ ที่วางทับถมสะเปะสะปะไปทั่ว

บ้านที่ครั้งหนึ่ง เคยเป็นบ้านที่แสนอบอุ่น ร่มรื่น ในวันนี้ แปรเปลี่ยนไปเป็นเสมือนโกดังเก็บขยะขนาดใหญ่ ใจกลางกรุงเทพฯ แผ่อารมณ์เงียบเหงา ความเศร้า ความหม่นหมอง ปกคลุมไปทั่วทุกตารางนิ้ว 


นี่เป็นบ้านของผู้ป่วยทางจิตเวช หนึ่งในลูกค้าของทีม “แมวบิน นักจัดระเบียบบ้าน” ผู้มองว่าการจัดระเบียบบ้าน เป็นจุดเริ่มต้นชีวิตใหม่ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และบ้านหลังนี้เป็นภารกิจใหญ่ในรอบปีของพวกเธอ ที่ต้องเปลี่ยนบ้านที่ดูเศร้าซึม ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง 


---บ้านรกเป็นเพราะนิสัย ไม่ใช่โรค ?---


การที่ “บ้านรก” คนส่วนใหญ่มักคิดว่า เกิดขึ้นจากนิสัยส่วนตัวของเจ้าของห้อง หรือ เจ้าของบ้านหลังนั้น ๆ ซึ่งในบางกรณีอาจเกิดจากการทำงานที่เหนื่อยล้าสะสม ทำให้ไม่มีเวลาทำความสะอาด เกิดการสะสมทำให้บ้านดูรก ซึ่งเมื่อมีเวลา เราก็จะสามารถมาลุก ปัด กวาด เช็ด ถูได้เอง 


แต่บางบ้านที่ภายในล้วนเต็มไปด้วยขยะ หรือ สิ่งของต่าง ๆ จนแทบไม่มีทางเดิน ลักษณะแบบนี้ อาจจะไม่ใช่การรกที่เกิดจากพฤติกรรม แต่สะท้อนให้เห็นว่า เจ้าของเคหะสถานหลังนี้ กำลังประสบภาวะด้านจิตใจก็เป็นได้ 


อิมยาดา เรือนภู่ หรือ อิม เจ้าของเพจ “แมวบิน นักจัดระเบียบบ้าน” อธิบายลักษณะบ้านรกของ “คนปกติ” กับบ้านรกของ “ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หรือ จิตเวช“ ว่า มันต่างกันที่ลักษณะปริมาณสิ่งของ สิ่งของของผู้ป่วยจะเยอะผิดปกติ และจะเห็นชัดเจนว่า มีขยะมากกว่าสิ่งของที่จำเป็น ในปริมาณที่แทบจะตกใจ หรือ แทบจะไม่มีทางเดิน


“จากการสอบถามเรื่องพฤติกรรมส่วนตัวของลูกค้า ทางแมวบินก็จะสามารถแยกได้ชัดเจนว่า แบบนี้รกแบบคนทั่วไป แต่ลักษณะนี้จะรกแบบมีความป่วยอยู่ มีความผิดปกติอยู่อย่างเห็นได้ชัดเจน” อิมยาดา กล่าว 

 

---คนไทยอาจป่วยจิตแตะถึง 10 ล้าน---


ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ปี 2566 มีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับการรักษา ทั้งหมด 2.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 กว่าเท่าตัว จากเดิมอยู่ที่ 1.3 ล้านคน 


แม้ตัวเลขผู้เข้ารับการรักษามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ขณะเดียวกัน ก็เชื่อได้ว่า นี่เป็นเพียงตัวเลขบางส่วนที่บันทึกอยู่ในระบบเท่านั้น เพราะคาดการณ์ว่า อาจมีผู้ประสบปัญหาทางด้านสุขภาพจิตมากถึง 10 ล้านคน ที่ไม่ได้เข้ารับการรักษา 


ตัวเลขเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยป่วยสุขภาพจิตมากขึ้น หลายคนอาจจะไม่รู้ตัวว่า ตนเองกำลังเผชิญกับภาวะเหล่านี้อยู่ และแสดงออกถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่มองผิวเผินอาจดูเหมือนนิสัยส่วนตัวทั่วไป แต่จริง ๆ แล้ว มันอาจเป็นสัญญาณที่กำลังบ่งบอกว่า คุณกำลังประสบปัญหาทางด้านจิตใจก็เป็นได้ เช่น การสะสมของ, การหยุดซื้อของไม่ได้ หรือแม้กระทั่งการทำบ้านรกจนไม่มีที่จะเดิน เป็นต้น 


“มันก็มีวิธีสำรวจตัวเอง เช่น เราจะดูพฤติกรรมว่า เราเป็นคนชอบซื้อตะพึดตะพือไหม เราเป็นคนที่ชอบเก็บไปเรื่อยไหม เป็นคนขี้เสียดายไหม เป็นคนตัดใจอะไรไม่ลงหรือเปล่า แล้วปริมาณการเก็บมันเยอะไหม แล้วเราเก็บอย่างไร ที่พูดมาเข้าข่ายทั้งหมด เก็บไม่ดี เก็บไม่เป็น อาการซุกเยอะเกินไป ขยะก็แยกไม่ออก มีความย้ำคิดย้ำทำ อิมว่า สิ่งเหล่านี้ มันน่าจะเข้าข่ายแล้ว” อิมยาดา กล่าว


---สังคมตีตรา “คนสวย-หนุ่มหล่อ ห้องเน่าเฟะ” มองข้ามอาการจิตเวช---


ถึงคนไทยจะตระหนักรู้เรื่องปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น แต่ใช่ว่า ทุกคนจะเข้าใจผู้ป่วยจิตเวช เราอาจเคยเห็นคลิปไวรัลที่เผยให้เห็นภาพของห้องรกเพื่อเรียกยอดไลก์ ยอดแชร์ได้หลายร้อย หลายพัน โดยอาจไม่ทันคาดคิดว่า อาการเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของผู้ป่วยทางด้านจิตใจ 


“เรายังเห็นสื่อช่องใหญ่ หรือ เพจ ที่ชอบเอาบ้านรก ๆ ของผู้ป่วย มาทำเป็นกระแสโพสต์เพื่อจะสร้างยอดไลก์ แล้วตั้งเป็นประเด็นโพสต์ในแง่ลบ ที่ระบุว่า ‘นางฟ้าพระประแดง หนุ่มหล่อรังสิต หน้าตาดีแต่งตัวสวย แต่ข้างในเน่าเฟะ’” 


“คำพูดพวกนี้มันถูกบุคคลคนหนึ่ง หรือ แอดมินคนหนึ่ง ตีความให้สังคมรับรู้ว่า คนสวยหน้าตาดี แต่สกปรก นี่เป็นอะไรที่เราเห็นทุกครั้งปแล้วรู้สึกว่า คุณไปตัดสินคนอื่นในแง่ลบแล้ว แต่อีกโลกหนึ่ง มันเป็นโลกของผู้ป่วย ซึ่งคุณไม่รู้ว่า นี่คืออาการป่วย” อิมยาดา กล่าว  


อิมยาดา เผยด้วยว่า เธออยากทำให้ทุกคนรู้ว่า บ้านรกไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดา หรือ ผู้ป่วย คือ เรื่องปกติ แต่เราจะต้องเห็นใจคนที่ป่วยเป็นพิเศษ 


“เพราะว่า อาการป่วย ไม่มีใครอยากป่วย ไม่มีใครอยากเจ็บไข้ โดยเฉพาะ โรคจิตเวช โรคซึมเศร้า มันมีปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในที่ทำให้เกิด เช่น พันธุกรรม พฤติกรรมเลียนแบบ หรือ สารเคมีที่มันหลั่งออกมาโดยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ จึงทำให้เกิดโรค สิ่งนี้มันเกิดขึ้นในร่างกายของพวกเขา ทำให้เขาหยุดพฤติกรรมสะสม พฤติกรรมอยู่กับสิ่งสกปรก หรือ พฤติกรรมหยุดซื้อไม่ได้ อาการนี้ มันไม่มีใครอยากเป็น” เธอ กล่าว 


อิมยาดา กล่าวต่อว่า อยากให้ทุกคนเปลี่ยนความคิด จากการเอาเขามาประจาน, เอาเขามาเป็นคอนเทนต์ หรือพยายามให้สังคมเห็นใจในสิ่งที่เจ้าของห้องเช่าโดนกระทำ อยากให้ลองเปลี่ยนใหม่ มาเป็นในรูปแบบช่วยกันเห็นใจ มองว่า ผู้เช่าป่วย และมองหาผู้เชี่ยวชาญให้เขาได้ปรึกษา หรือมองว่า เราทำอะไรเพื่อช่วยเขาได้บ้าง หรือหากจะทำคอนเทนต์ ก็อยากให้เป็นแนวมอบความรู้ ระมัดระวัง หรือ ทำอย่างไรไม่ให้เราเกิดพฤติกรรมแบบนี้ อยากให้สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ มันคืนสู่สังคมในทางที่ดีมากกว่า 


ในส่วนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ อิมยาดาเปิดเผยเรื่องราวของลูกค้ารายหนึ่งของเธอ ที่ทำให้เธอรู้สึกเศร้าและเสียใจที่สุด นั่นคือ เคสผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่ติดต่อเข้ามาขอความช่วยเหลือจากทางแมวบิน ให้ช่วยจัดระเบียบบ้านของเขาให้กลับมาโล่ง และสดใสอีกครั้ง 


แต่ด้วย ณ ตอนนั้น คิวลูกค้าของแมวบินค่อนข้างเยอะมาก จนทำให้ลูกค้าคนดังกล่าว ไม่สามารถที่จะรอต่อไปได้ไหว จึงตัดสินใจลาโลกนี้ไป ทำให้ครั้งนั้นจากการเข้าไปจัดระเบียบ ต้องแปรเปลี่ยนเป็นการทำ Death Cleaning แทน 


“มันมีความสวยงามแบบเหงา ๆ เพราะเรื่องราวบ้านหลังนี้ เคยเป็นครอบครัวใหญ่อบอุ่นมาก มีพ่อ แม่ ลูก แต่ทุกคนทยอยจากไปทีละคน เหลือคนสุดท้าย ก็คือ พี่สาวของคนที่จากไป” 


“ทุกวันนี้ เรายังจำชื่อลูกคนนี้ได้อยู่เลย” อิมยาดา กล่าว 


“นี่คือชีวิต เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องปกติ ถ้าคุณตายไปขอยืนยัน 100% เลยว่า  ไม่มีใครแคร์คุณขนาดนั้น ไม่มีใครมาแคร์สมุดที่คุณชอบ ไม่มีใครมาสนใจว่า นาฬิกาเรือนนี้ เพิ่งจะไปซื้อมา มันยังใช้ดีมาก มันยังใหม่อยู่ ไม่เคยมีใครแคร์เลยค่ะ”  


“วันหนึ่งมันก็จะโดนทำลายล้างไป แบบไม่มีเยื่อใย ไม่มีชีวิตเลย”  

 

---ตัดใจไม่ลง ความท้าทายที่ “แมวบิน” ต้องเผชิญ---


ภารกิจเปลี่ยนแปลงบ้านหลังนี้ทั้งหลัง ให้กลับมาเป็นบ้านอีกครั้ง แมวบินต้องใช้เวลาถึง 4 วันเต็ม ในการจัดการจัดระเบียบบ้าน พร้อมอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยเฉลี่ยวันละประมาณ 20 คน 


ถึงพวกเธอจะมองว่า การทำความสะอาดและจัดระเบียบบ้านครั้งนี้ เป็นงานที่ใหญ่สุดแห่งปี แต่ระยะเวลาที่ดำเนินการก็เสร็จสิ้นเร็วกว่ากำหนด จากเดิมที่พวกเธอมองว่า ต้องใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ 


อิมยาดา เผยว่า กระบวนการความยากง่าย แทบไม่ค่อยมี อย่างไรก็ตาม แต่ละเคสจะมีความเหนื่อยมาก เหนื่อยน้อยไม่เท่ากัน แต่ความยาก ความง่ายนั้นเหมือน ๆ กัน เพราะแมวบินมีกระบวนการทำที่เหมือนกันหมด 


“เหนื่อยมากก็คือ ปริมาณที่ค่อนข้างเยอะ เหนื่อยน้อย คือ ปริมาณที่ไม่ค่อยเยอะ”


“เหนื่อยขึ้นไปอีก ถ้าลูกค้าเป็นคนตัดใจยาก… ลูกค้าไม่ยอมตัดใจ พูดยาก ไม่ค่อยเข้าใจ ความหมายของการจัดระเบียบบ้านที่แท้จริงคืออะไร ยังคิดว่า เป็นงานแม่บ้านทั่วไปอยู่ ก็แค่เก็บมันให้เรียบร้อย พอเราตีความหมายการจัดระเบียบบ้านผิด มันก็ทำให้งานเหนื่อยขึ้นกว่าเดิม” 


“อย่างเคสนี้ เหนื่อยเพราะว่า ปริมาณมันเยอะ บ้านเดี่ยว 150 ตารางวาขึ้นไป เหนื่อยมากขึ้นไปอีก เพราะลูกค้า ‘ตัดใจยาก’ เขายังมีความเสียดายอยู่ในสิ่งที่ไม่ควรเสียดาย”  อิมยาดา กล่าว 


สำหรับภารกิจจัดระเบียบบ้านหลังนี้ อิมยาดายอมรับว่า เป็นเคสที่ใหญ่สุดของปีนี้ เพราะด้วยเนื้อที่บ้านมีขนาดใหญ่แล้ว ยังเต็มไปด้วยข้าวของและกองขยะทุกพื้นที่ ตั้งแต่หน้าบ้านยันหลังบ้าน โดยเคสนี้ ได้เปิดรับอาสาสมัคร เข้ามาร่วมช่วยกันทำความสะอาดและจัดระเบียบบ้านด้วย เนื่องจาก เจ้าของบ้านไม่มีทุนทรัพย์มากนัก 


“ไม่คิดเลยว่า ของจะเยอะขนาดนี้ แต่พอเก็บ ๆ ไป บางอย่าง บางเรื่องราว มันก็รู้สึกเหมือนตัวเราเอง เพราะที่บ้านเราก็เก็บแบบนี้บางส่วน แต่เราก็พยายามทำความสะอาดให้หมด มันเหมือนย้อนรำลึกว่า เราก็เคยเก็บอะไรแบบนี้ เลยทำให้เรารู้ว่า บางอย่างมันอาจจะมีคุณค่า แต่ถ้าเราเก็บไว้เยอะ มันไม่ได้เป็นประโยชน์สำหรับเรา แล้วบางอย่างที่เรารัก เราอาจจะแบ่งปันให้คนอื่นไปใช้ ดีกว่าเราเก็บแล้วเราไม่ได้ใช้” ธีรชา หิงวัน หรือ ปูน หนึ่งในอาสาสมัครแมวบิน กล่าว 


“เราก็เคยมีช่วงเวลาหนึ่ง อาจจะรู้สึกว่า การเก็บของบางสิ่งไว้ เพราะเรารู้สึกว่า ของสิ่งนั้น มันตอบโจทย์ความรู้สึกอะไรบางอย่าง เช่น เรากลัวว่า ถ้าเราทิ้งอะไรบางอย่างไป เราจะรู้สึกว่า มันจะไม่มีอีก เหมือนมันเป็นความขาดของเรามากกว่า แล้วถ้าเป็นผู้ป่วยจิตเวช เขาน่าจะไม่รู้ตัวว่า เขามีความรู้สึกกลัว เช่น เวลาจะทิ้ง เขาจะไม่กล้าทิ้ง เขาจะบอกกับตัวเองและทุกคนว่า ของสิ่งนี้มันมีคุณค่า” จุฑาทิพย์ บุญหนัก หรือ อี๊ด หนึ่งในอาสาสมัครแมวบิน กล่าว


---คืนวันสดใส ให้ผู้ป่วยจิตเวชอีกครั้ง--- 


เมื่อแปรเปลี่ยนให้บ้านหลังนี้ กลับมาสดใสอีกครั้ง เหล่าจิตอาสาทั้งหลาย ได้เดินดูรอบ ๆ บ้าน ความเหนื่อยที่สะสมมาหลายวัน ดูเหมือนกลับหายเป็นปลิดทิ้ง สีหน้าของแต่ละคนแสดงออกถึงความภาคภูมิใจที่พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำภารกิจอันยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ 


“ดีใจมาก เห็นวันแรก แล้วก็เห็นวันนี้ ประทับใจ ภูมิใจมากค่ะ” 


“ดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บ้านของพี่เขาสะอาด และดีใจกับพี่เขา ที่จะได้กลับมาอยู่บ้านของเขา”  

นี่เป็นเสียงส่วนหนึ่งของอาสาสมัครที่ได้เข้ามาทำความสะอาดและช่วยกันจัดระเบียบบ้านหลังนี้ ให้กลับมางดงามอีกครั้ง 


---หวังเห็นสังคมตื่นรู้ เข้าใจผู้ป่วยจิตเวช--- 


แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่เคสแรก และคงไม่ใช่เคสสุดท้ายของทีมงานแมวบิน ที่ต้องจัดการ เพราะยังมีผู้ป่วยทางจิตเวชอีกมาก ที่ต้องอาศัยอยู่ในบ้านลักษณะแบบนี้ โดยไม่มีใครเข้าไปช่วยเหลือพวกเขาเลย


“ในฐานะนักจัดระเบียบบ้าน เราอยากเห็นการตื่นรู้ของสังคมให้มันมากขึ้น อยากตระหนักให้สังคมรู้ว่า ‘อ๋อ บ้านฉันรก ฉันต้องจัดการ’ แล้วก็อยากให้มองผู้ป่วยกลุ่มนี้ในอีกทางหนึ่ง มองใหม่ มองด้วยความเห็นใจ มองด้วยความช่วยเหลือ” 


อิมยาดา หวังว่า เธออยากเห็นนักจัดระเบียบบ้านเก่ง ๆ อยากเห็นสังคมขับเคลื่อนในเรื่องการทิ้ง, การนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟื่อย, โลกร้อน, สุขภาพจิตให้มากขึ้น และอยากฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือ เอกชน หันกลับมามองเรื่องนี้ เรื่องสุขภาพจิต และที่อยู่อาศัยของประชาชนเป็นอันดับต้น ๆ 


“ที่ผ่านมาจะเป็นการมองสังคมแบบเชิงเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การเงิน นโยบายการแจกสิ่งของ เกษตร แต่ว่ายังไม่มีนโยบายอะไรที่เกี่ยวกับพื้นฐานของประชาชน บ้านคือหนึ่งในปัจจัยสี่ เราควรที่จะยกระดับบ้านเรือนของประชาชนให้ดีขึ้น” เธอ กล่าว


เมื่อถามว่า ถ้าในอนาคตมีคู่แข่งทางธุรกิจ ที่ทำคล้าย ๆ กับแมวบิน จะรู้สึกกังวลใจไหม 


อิมยาดา ตอบกลับคำถามดังกล่าวว่า ถ้าในอนาคตมีคู่แข่ง แมวบิน 1 แมวบิน 2 จิ้งจอกบิน งูบิน อะไรก็ตาม เธอรู้สึกยินดีมาก เพราะการมีคู่แข่งทำให้ตลาดไม่เงียบเหงา และไม่ทำให้โดดเดี่ยวจนเกินไป 


“ถ้าเราไม่มีคู่แข่ง มันจะไม่มีกระจกสะท้อนเลยว่า เราจะต้องพัฒนาอะไรบ้าง… การมีคู่แข่งมันจะทำให้เราช่วยสังคมได้อีกเยอะ มีแค่คนเดียวคุณทำไม่หมดหรอกค่ะ คุณไม่สามารถให้บริการได้ทุกคน มีแรงเดียวมันไม่ไหว ช่วยผู้ป่วย ช่วยคุณหมอ ยิ่งมีนักจัดระเบียบบ้านเยอะ ๆ มันยิ่งดี มันจะได้ค่อย ๆ ทำความสะอาดโลกนี้ ทำความสะอาดประเทศไทยไปเรื่อย ๆ” เธอ กล่าว 


ร่องรอยของสิ่งของที่ถูกทิ้งไว้ในบ้านแต่ละหลัง ย่อมบอกเล่าเรื่องราว งานอดิเรก และความฝันของเจ้าของบ้านได้เป็นอย่างดี แม้ของเหล่านั้น อาจจะไม่มีคุณค่าในสายตาของคนอื่น และวันหนึ่งมันอาจถูกพาไปอยู่ในถังขยะใบไหนสักแห่งบนโลกใบนี้ เมื่อเราไม่อยู่อีกต่อไปแล้ว  


“เขาถึงบอกว่า ความฝัน มีให้เฉพาะที่คนยังมีชีวิตอยู่ เพราะฉะนั้น ก่อนตายทำความฝันตัวเองให้สำเร็จ อย่าให้คนที่มีชีวิตอยู่ หลังจากที่คนเสียชีวิตแล้ว มาทำลายความฝันคุณเป็นรอบที่ 2 เพราะว่า การที่เขาทิ้งของคุณ โดยที่คุณจากโลกนี้ไปแล้ว แบบไม่มีเยื่อใย คือ การย่ำยีความฝันคุณ ที่มันไม่เป็นจริง มันก็โดนย่ำอีกรอบหนึ่ง” อิมยาดา กล่าวทิ้งท้าย   


เรื่อง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์ 


 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง