TNN ก่อนจะมีระเบิดเพจเจอร์ โลกเคยนำสัตว์มาทำระเบิด ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

TNN

TNN Exclusive

ก่อนจะมีระเบิดเพจเจอร์ โลกเคยนำสัตว์มาทำระเบิด ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ก่อนจะมีระเบิดเพจเจอร์ โลกเคยนำสัตว์มาทำระเบิด ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

จากเหตุเพจเจอร์ระเบิด ตามด้วยวิทยุสื่อสารในเลบานอนเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งคาดว่า มีการฝังระเบิด ทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามว่า หรือนี้จะเป็นสงครามยุคใหม่ ที่นำเอาเทคโนโลยียุคอะนาล็อกมาแปลงให้เป็นวัตถุระเบิด เพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม

แต่รู้หรือไม่ว่า การฝังระเบิดในสิ่งของต่าง ๆ เป็นยุทธวิธีการสงครามที่ทำกันมาอย่างยาวนาน และเปลี่ยนรูปแบบไปตามแต่ละยุคสมัย 


หนึ่งในยุทธวิธีทางทหารที่หลายประเทศพยายามนำมาใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ การนำสัตว์ชนิดต่าง ๆ มาทำภารกิจทางทหาร โดยเฉพาะใช้เพื่อเป็นพาหนะนำพาระเบิดไปโจมตีฝ่ายศัตรู 


สัตว์ที่ถูกนำมาทดลองทำเป็นระเบิด จะมีสัตว์อะไรบ้าง และพวกมันถูกนำมาใช้ได้จริงไหมหรือไม่ ?


---ระเบิดค้างคาว หวังเผาญี่ปุ่นราบเป็นหน้ากลอง---


เกิดขึ้นจากแนวคิดของ ดร.ไลเทิล เอสอดัมส์ ทันตแพทย์จากรัฐเพนซิลเวเนีย ที่ส่งจดหมายหาทำเนียบขาว เมื่อปี 1942 เพื่อเสนอแนวคิดที่เขาเชื่อว่า จะสร้างความเสียหายร้ายแรงให้ญี่ปุ่น 


เขาเสนอให้ติดระเบิดไว้ที่ตัวค้างคาว และปล่อยพวกมันลงไปยังเป้าหมายที่ต้องการด้วยเครื่องบิน 


ข้อเสนอนี้ ได้รับการอนุมัติจากทางรัฐบาลสหรัฐฯ กลายเป็นหนึ่งในอาวุธทรงพลังที่ทางสหรัฐฯ จะนำมาใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 


เบื้องหลังแนวคิดการใช้ระเบิดค้างคาวนี้ คือ การอาศัยพฤติกรรมตามธรรมชาติของค้างคาว ด้วยการปล่อยพวกมันในช่วงเวลากลางคืน เพราะค้างคาวจะมีนิสัยชอบเกาะตามอาคารบ้านเรือนต่าง  เมื่อค้างคาวนับพันตัวหาที่เกาะได้แล้ว อาวุธที่ติดตัวก็จะทำงาน และจะทำให้บ้านเมืองของญี่ปุ่นเผาราบเป็นหน้ากลอง สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง 


แต่เมื่อเวลาผ่านไป 2 ปี นับตั้งแต่ไอเดียนี้ ได้รับการอนุมัติ โครงการทดสอบระเบิดค้างคาวก็ถูกพับลงไปในปี 1944 เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายอย่าง แม้ทางสหรัฐฯ ได้ทุ่มงบไปกับโครงการนี้ราว 66 ล้านบาท หรือเทียบเท่า 749 ล้านบาทในปัจจุบัน พร้อมกับหันเหความสนใจไปทุ่มกับการพัฒนาโครงการระเบิดปรมาณูแทน 


---สุนัขต่อต้านรถถัง ปฏิบัติการพลีชีพเพื่อชาติ---


สหภาพโซเวียตก็เป็นอีกหนึ่งในประเทศ ที่พยายามจะนำสัตว์มาทดลองทำเป็นระเบิดในช่วงสงครามโลกที่ 2 ด้วยการนำสุนัขมาฝึก เพื่อดำเนินภารกิจเป็นมือระเบิดฆ่าตัวตาย หวังมุ่งเป้าทำลายรถถังเยอรมนี 


วิธีการดังกล่าว จะฝึกให้สุนัขแบกกระเป๋า ซึ่งบรรจุเต็มไปด้วยระเบิดน้ำหนักหลายกิโลกรัม โดยกระเป๋าจะมีคันโยกจุดชนวนระเบิดยื่นออกมา เมื่อสุนัขที่ผ่านการฝึกวิ่งเข้าใต้ท้องรถถังของศัตรู ตัวคันโยกก็จะสัมผัสพอดีกับด้านใต้รถถัง จากนั้นระเบิดก็จะทำงาน 


โครงการนี้ ใช้สุนัขมากกว่า 40,000 ตัว เพื่อฝึกให้พวกมันเสียสละชีพตนเองขั้นสูงสุด แต่ก็ประสบความสำเร็จในการทำลายรถถังเยอรมนีเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น เพราะเมื่อทหารฝ่ายนาซีเห็นสุนัขเหล่านี้ เข้าสู่สนามรบ ก็จะมองว่าเป็นภัยคุกคาม และยิงทันที 


---ระเบิดหนู โครงการลับจากอังกฤษ---


อุปกรณ์สายลับตัวจิ๋วนี้ สร้างขึ้นโดยหน่วยปฏิบัติการพิเศษของอังกฤษ หรือ SOE ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 


หน่วย SOE รวบรวมซากหนูทั่วกรุงลอนดอนราว 100 ตัว ภายใต้ข้ออ้างปฏิบัติการเพื่อการทดลอง และได้ยัดวัตถุระเบิดเข้าไปในตัวหนู และส่งพวกมันไปยังฝรั่งเศส ในพื้นที่ที่เยอรมนียึดครอง


โดยจะนำหนูไปวางตามห้องหม้อไอน้ำตามโรงงานและรถไฟของเยอรมนี ซึ่งเป็นสถานที่จะพบเจอซากหนูอยู่เป็นปกติ


แนวคิดการทำงานของระเบิดนี้ คือ หวังให้ทหารเยอรมนี หรือ คนงานใครสักคนโยนซากหนูเข้าไปในหม้อต้มไอน้ำ เพื่อกำจัดซากเหล่านี้ และจะทำให้ระเบิดเกิดการทำงาน 


แม้ไอเดียจะล้ำ แต่แผนการนี้ก็ไม่เคยได้ถูกใช้งานจริง  เมื่อการขนส่งหนูระเบิดล็อตแรก โดนสกัดกั้นจากชาวเยอรมัน และได้ส่งตัวอย่างหนูเหล่านี้ไปยังโรงเรียนทหารเยอรมัน เพื่อให้นักเรียนนายร้อยได้ศึกษา และระวังตัวจากภัยคุกคามที่คล้ายกัน 


ถึงภารกิจจะล้มเหลว แต่หน่วย SOE มองว่า พวกเขาได้รับชัยชนะทางด้านจิตวิทยาที่สร้างความหวาดหวั่นในชาวเยอรมันต้องคอยระวังหนู หรือสัตว์ต่าง  เพราะกลัวว่า พวกมันจะมีระเบิดอยู่ในตัว จนเขียนในรายงานการสรุปว่า ภารกิจล้มเหลว แต่ทำให้เกิด “ผลกระทบทางศีลธรรมแบบพิเศษ” 


---โครงการนกพิราบ นำพาจรวดนำวิถี--- 


ไม่ได้มีเพียงแต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้น ที่ถูกนำมาทำการทดลองเพื่อเป็นตัวจุดชนวนระเบิด ในปฏิบัติการทางทหารช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สัตว์มีปีกอย่าง “นกพิราบ” ก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการทหาร เพื่อเป็นอาวุธพิฆาตศัตรูด้วยเช่นกัน 


การยิงขีปนาวุธให้ลงเป้าหมายอย่างแม่นยำเป็นความท้าทายใหญ่มากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และ บี.เอฟ. สกินเนอร์ นักพฤติกรรมสัตว์ ชาวอเมริกัน ผู้เชื่อในพลังของนกพิราบ จึงได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหานี้ ด้วยการใช้นกพิราบเป็นตัวนำทาง โครงการนกพิราบ หรือ Project Pigeon เลยถือกำเนิดขึ้น 


ก่อนหน้านี้ สกินเนอร์ฝึกให้นกพิราบดึงคันโยก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยทางด้านจิตวิทยาของเขาได้สำเร็จ เขาจึงตั้งสมมติฐานว่า นกเหล่านี้สามารถฝึกให้เป็นพาหนะที่นำพาจรวดนำวิถีลงสู่เป้าหมายที่ต้องการได้อย่างแม่นยำ 


แนวคิดการทำงานนี้ คือ เขาออกแบบกรวยจมูก (nose cone) ที่เป็นบ้านให้กับนักบินนกพิราบ 3 ตัว แต่ละตัวจะนั่งอยู่ด้านหน้า โดยจะมีหน้าจอเล็ก ๆ ให้พวกมันมองเห็นพื้นข้างล่าง นกพิราบจะถูกฝึกให้จดจำเป้าหมาย และเมื่อพวกมันเห็นเป้าหมาย ก็จะจิกไปที่หน้าจอ เพราะเมื่อทั้ง 3 ตัว จิกไปที่หน้าจอพร้อมกัน เคเบิลที่อยู่บนหัวพวกมัน จะคอยปรับเส้นทางการบินของขีปนาวุธ และนำทางไปสู่เป้าหมาย 


อย่างไรก็ตาม แม้ไอเดียจะสร้างสรรค์ แต่คณะกรรมการวิจัยผู้ให้ทุนกับสกินเนอร์มีข้อสงสัยต่าง ๆ มากมาย เกี่ยวกับโครงการนี้ จึงได้ตัดสินใจยุติโครงการดังกล่าว โดยที่ยังไม่มีนกพิราบตัวไหนเดินทางเข้าสู่สนามรบสักตัว รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ใช้ไปกับโครงการนี้ อยู่ที่ 8.27 แสนบาท หรือเทียบเท่า 9 ล้านบาทในปัจจุบัน


แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

ข้อมูลอ้างอิง: 

https://www.mentalfloss.com/article/626561/strange-weapons-world-war-ii

https://www.history.com/news/weird-weapons-world-war-ii

https://en.wikipedia.org/wiki/Category:Animal-borne_bombs

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง