TNN คนทั่วโลกจะตายจาก “ดื้อยา” สูงถึง 39 ล้านคนในปี 2050 เหตุใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ

TNN

TNN Exclusive

คนทั่วโลกจะตายจาก “ดื้อยา” สูงถึง 39 ล้านคนในปี 2050 เหตุใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ

คนทั่วโลกจะตายจาก “ดื้อยา” สูงถึง 39 ล้านคนในปี 2050 เหตุใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ

“การติดเชื้อดื้อยาจุลชีพ” หรือ “AMR” นับเป็นภัยใกล้ตัวอย่างหนึ่ง ที่เราอาจไม่ทันตั้งตัว หากเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายเรา ทนต่อยาต้านปฏิชีวนะที่เคยสามารถฆ่าเชื้อตัวดังกล่าวนั้นมาก่อน เมื่อร่างกายติดเชื้อรุนแรง แต่กลับไม่มียาตัวไหนสามารถรักษาได้ ก็จะส่งผลให้เสียชีวิตในท้ายที่สุด

ปัจจุบัน วงการแพทย์และวิทยาศาสตร์พยายามหาทางป้องกันและหาวิธีรักษา เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้คน แต่ก็ยังไร้ยารักษากลุ่มใหม่ จนล่าสุด ผลการศึกษา ชี้ให้เห็นว่า ทั่วโลกจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมจากการติดเชื้อดื้อยาสูงเกือบ 40 ล้านคนภายในปี 2050 


---39 ล้านคนทั่วโลก จะตายจากเชื้อดื้อยา---


ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ผ่านวารสาร Lancet เมื่อวันจันทร์ (16 กันยายน) ที่ผ่านมา เผยว่า ตั้งแต่ปี 2025-2050 โลกจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมจากการติดเชื้อดื้อยาโดยตรงสูงถึง 39 ล้านคน และยังคาดการณ์อีกว่า ในช่วงเวลาเดียวกัน ผู้คนกว่า 169 ล้านคนทั่วโลก จะเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาทางอ้อม


การติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ เกิดจากเชื้อโรค อย่าง แบคทีเรีย หรือ เชื้อรา พัฒนาตัวเองให้สามารถหลีกเลี่ยงยารักษาโรคต่าง ๆ ที่ฆ่าพวกมันได้ พูดง่าย ๆ ก็คือ พวกมันปรับตัวให้อยู่กับยารักษาโรคเหล่านี้ได้ 


องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เผยว่า การติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ เป็นหนึ่งในภัยคุกคามด้านสาธารณสุขและการพัฒนาอันดับต้น ๆ ของโลก เป็นผลที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะในทางที่ผิดและมากเกินไปในมนุษย์ สัตว์ และพืชพรรณต่าง ๆ เช่น การทานยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น เมื่อป่วยเป็นโรคธรรมดา อย่าง ไข้หวัดทั่วไป จนทำให้เชื้อโรคเกิดการเรียนรู้ และพัฒนาให้ตนเองมีความต้านทานฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะเหล่านี้ 


นอกจากนี้ การไปหาซื้อยาปฏิชีวนะทานเอง หรือ ทานไม่ครบจำนวนโดสตามที่หมอสั่งก็เป็นสาเหตุทำให้ร่างกายเกิดการดื้อยาได้ รวมถึงบุคคลที่ต้องนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานาน แล้วจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ก็เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้ 


ดร.คริส เมอร์เรย์ ผอ.สถาบันเมตริกและการประเมินผลด้านสุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน หนึ่งในผู้เขียนวิจัยเรื่องนี้ กล่าวว่า โลกต้องให้ความสนใจไปที่ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ และการดูแลการใช้งานยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม เพื่อสามารถจัดการกับสิ่งที่เป็นปัญหาค่อนข้างใหญ่ได้ 


ทั้งนี้ ทีมวิจัย พบว่า ตั้งแต่ปี 1990-2021 จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากการติดเชื้อดื้อยาในแต่ละปี มีมากกว่า 1 ล้านคน


---ผู้สูงอายุเสี่ยงติดเชื้อดื้อยา มากกว่า 80%---


ผลการศึกษาฉบับนี้ จัดทำโดย Global Research on Antimicrobial Resistance หรือ GRAM พวกเขาได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่บันทึกถึงการเสียชีวิตที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อดื้อยาในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อทำการวิเคราะห์และทำนายตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ในอนาคต 


จากข้อมูลที่พวกเขารวบรวมมา พบว่า ปี 1990-2021 จำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาในกลุ่มเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ลดลงถึง 50% แต่กลับเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป มากกว่า 80% 


แนวโน้มดังกล่าว คาดว่า จะยังคงดำเนินต่อไป โดยอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจะลดลงอีกครึ่งหนึ่งในปี 2050 ขณะที่ กลุ่มผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในปีเดียวกัน 


สาเหตุที่อัตราการเสียชีวิตในเด็กลดลง เป็นผลมาจากโครงการวัคซีนที่ประสบความสำเร็จ, การปรับปรุงคุณภาพน้ำและสุขอนามัย รวมถึงการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น ส่วนสาเหตุที่อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากประชากรกลุ่มนี้มีความเปราะบางที่จะติดเชื้อรุนแรง จนนำไปสู่การเสียชีวิตที่มีการติดเชื้อดื้อยา เข้ามาเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้อง


ทีมวิจัย เผยด้วยว่า อัตราการเสียชีวิตจากการดื้อยาจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต หากโลกยังไม่มีมาตรการที่เหมาะสม เพื่อรับมือวิกฤตนี้ 


---“ติดเชื้อดื้อยา” ภัยคุกคามระดับโลก---


ทีมวิจัยประมาณการไว้ว่า ภายในปี 2050 จะมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาโดยตรงสูงแตะถึง 1.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 70% เมื่อเทียบการปี 2021 ซึ่งอยู่ที่ 1.14 ล้านคน นอกจากนี้ ยังประเมินว่า ประชาชนทั่วโลกจะเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาโดยทางอ้อมสูงถึง 8.22 ล้านคนต่อปี เพิ่มขึ้นเกือบ 75% เมื่อเทียบกับปี 2021 อยู่ที่ 4.71 ล้านคน 


ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบและเสียชีวิตมากสุด ได้แก่ เอเชียใต้, ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน และแอฟริกาใต้สะฮารา เนื่องจากหลายภูมิภาคเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงการดูแลรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน


“การค้นพบเหล่านี้ เน้นย้ำว่า การติดเชื้อดื้อยาเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขระดับโลกอย่างมีนัยสำคัญมาเป็นเวลาหลายสิบปี และภัยคุกคามนี้ กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ” โมห์เซน นากาวี ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และเป็นหนึ่งในผู้เขียนวิจัย กล่าว 


“การทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในช่วงเวลาที่ผ่านมา และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะให้ข้อมูลในการตัดสินใจ เพื่อช่วยชีวิตผู้คน” เขา กล่าว 


---คนไทยนับหมื่นตายจาก “ติดเชื้อดื้อยา” ทุกปี---


สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย พบผู้เสียชีวิตจากอาการนี้เฉลี่ยราว 38,000 คนต่อปี ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณปีละ 40,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการใช้ยาปฏิชีวินะพร่ำเพรื่อเกินไป 


ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ชี้ให้เห็นว่า ไทยนำเข้าและผลิตยาปฏิชีวนะสูงสุด เมื่อเทียบกับยารักษาโรคกลุ่มอื่น ๆ มาตั้งแต่ปี 2000 โดยปี 2009 การผลิตและนำเข้ายาปฏิชีวนะมีมูลค่าสูงถึง 1.1 หมื่นล้านบาท สูงกว่ายารักษาโรคหัวใจ, โรคระบบประสาทส่วนกลาง และโรคมะเร็ง นอกจากนี้ ยังพบการใช้ยาปฏิชีวนะแบบไม่เหมาะสมในทุกระดับของสถานพยาบาล 


อย่างไรก็ตาม ไทยได้จัดทำแผนการจัดการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ หวังลดจำนวนผู้เสียชีวิตและการติดเชื้อจากการดื้อยา โดยผลการดำเนินการในช่วงปี 2017-2021 ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดใช้ยาต้านจุลชีพในมนุษย์ 24.8% และในสัตว์ 36% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 20% และ 30% ตามลำดับ ขณะที่ สมรรถนะของประเทศในการจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพผ่านเกณฑ์การประเมินของ WHO 


หลังจากบรรลุเป้าหมายจากแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ ฉบับปี 2017-2021 แล้ว ไทยก็เริ่มเดินหน้าแผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ปี 2023-2027 ต่อ โดยมุ่งหวังดำเนินการแผนต่อเนื่องจากฉบับแรก เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากการดื้อยาภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน และจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาได้อย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว


แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

ข้อมูลอ้างอิง: 

https://edition.cnn.com/2024/09/16/health/antibiotic-resistant-superbug-infections-2050-wellness/index.html

https://www.politico.eu/article/amr-death-superbugs-40-million-2050-study-antibiotic/

https://www.thaidrugwatch.org/download/series/53/series53-19.pdf

https://www.thaihealth.or.th/%E0%B8%AA%E0%B8%AA%E0%B8%AA-%E0%B8%AA%E0%B8%98-%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3/

https://rr-asia.woah.org/app/uploads/2020/03/thailand_thailands-national-strategic-plan-on-amr-2017-2021.pdf

https://diversey.co.th/th/drug-resistant-bacteria

ข่าวแนะนำ