TNN 7 แสนคน เสี่ยงตกงาน หากอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไม่เร่งปรับตัว

TNN

TNN Exclusive

7 แสนคน เสี่ยงตกงาน หากอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไม่เร่งปรับตัว

7 แสนคน เสี่ยงตกงาน หากอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไม่เร่งปรับตัว

ความเสี่ยงของแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์กว่า 7 แสนชีวิต อาจไม่เพียงแค่การทะลักเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่อยู่ที่การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมของไทยที่ต้องปรับตัวให้ทันโลกและเร่งพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง

“เทรนด์เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ทำให้ยุคสมัยเปลี่ยนไปจากการใช้รถสันดาปไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100% ซึ่งการเปลี่ยนผ่านนี้จะใช้ชิ้นส่วนน้อยลงจาก 30,000 ชิ้นต่อคัน เหลือเพียง 1,500-3,000 ชิ้นต่อคัน ซึ่งจะมีผลกระทบกับจำนวนการใช้แรงงานในการผลิตอย่างแน่นอน  โดยอุตสาหกรรมยานยนต์มีแรงงานกว่า 7 แสนคน  แบ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบยานยนต์ 25 บริษัท จ้างงานอยู่ แสนคน ผู้ผลิตชิ้นส่วน Tier 1 มากกว่า 700 บริษัท จ้างงานอยู่ 2.5 แสนคน และผู้ผลิตชิ้นส่วน Tier 2 และ Tier 3 มากกว่า 1,700 บริษัท จ้างงานถึง 3.4 แสนคน”


ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อสรุปจากข้อมูลใน ปี 2562 หรือ 5 ปีก่อนจากงานวิจัยเรื่อง 'ผลกระทบของการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า ต่อแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์โดย รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ   ที่ฉายให้เห็นถึงภาพของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อแรงงานไทยในภาวะที่ อุตสาหกรรมรถยนต์ EV ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยอย่างเต็มที่ 


เมื่อหันกลับมาดูสถานการณ์อุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2567 ก็พบว่าผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศหดตัวไปกว่า 20% ยังไม่นับรวมรถอีวีจีนที่ทะลักมาขายในไทย เพราะโดนกำแพงภาษีจากชาติตะวันตก 

 

รศ.ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน แห่งทีดีอาร์ไอ ยอมรับว่าแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงตกงาน เพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมที่มียานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาแทนที่ยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน แต่เชื่อว่าจะยังไม่มีการเลิกจ้างล็อตใหญ่ในเร็ววันนี้ เพราะตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งเกิดสถานการณ์โควิด -19 ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีการปรับตัวขนานใหญ่ 

ทั้งการปิดตัวโรงงานที่ปรับตัวไม่ทันไปแล้วก่อนหน้านี้ หรือ การปรับรูปแบบการผลิตให้เข้ากับทิศทางอุตสาหกรรมในปัจจุบัน  แต่สิ่งที่น่าห่วง คือ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยายยนต์และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้กำลังซื้อลดลง  ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ รายย่อยพอสมควร 

 

รศ.ดร. ยงยุทธ มองว่าประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือเรื่องของผลิตภาพ และการที่ประเทศไทยแทบไม่มีสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีของตัวเองได้เพียงทำหน้าที่ในการรับจ้างผลิตสินค้าที่มีเจ้าของแบรนด์จากต่างชาติ   จึงทำให้ผลตอบแทนทั้งผู้ประกอบการรวมถึงแรงงานได้ค่าตอบแทนที่ไม่สมน้ำสมเนื้อ เพราะไม่ได้เป็นผู้ผลิตเองทั้ง 100%  


ทั้งนี้เห็นว่าการช่วยลดความเสี่ยงให้กับแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ และ ผลิตชิ้นส่วน คือการที่ภาครัฐให้ความสำคัญในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในการพัฒนานวัตกรรม หรือ เทคโนโลยีด้านยานยนต์เป็นของตัวเอง จะส่งผลต่อตลาดแรงงานคุณภาพของไทยด้วย เพราะหากเราไม่สามารถสร้างฐานอุตสาหกรรมไฮเทคเต็มมรูปแบบได้ ยังส่งผลต่อการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพป้อนตลาดแรงงานในประเทศ เพราะที่ผ่านมาเคยมีการผลิตบุคลากรที่มีทักษะสูงและขาดแคลนออกมา แต่สุดท้ายไม่มีตลาดแรงงานในประเทศสามารถรองรับหรือมีค่าตอบแทนที่สร้างแรงจูงใจทำให้แรงานกลุ่มนี้ได้  ทำให้สุดท้ายคนกลุ่มนี้ก็ไหลออกไปทำงานนอกประเทศที่ตอบโจทย์ทั้งเนื้องาน และ ค่าตอบแทนมากกว่า   

 

“ ถ้าเรายังปล่อยไปอย่างนี้ โดยไม่ได้มีการวางแผนอย่างเป็นระบบในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าของตัวเอง เชื่อว่าในอนาคตจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วนของไทยเป็นอย่างมาก โดยสิ่งที่สามารถแก้ไขคือการที่ภาครัฐควรทุ่มความสำคัญในการผลิตบุคลากร พร้อมกับสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการจ้างงานบุคลากรที่มีคุณภาพสูงไม่ต้องให้หนีไปทำงานที่ประเทศอื่น หรือ สร้างแรงจูงใจดึงดูดคนเก่งๆที่มีประสบการณ์ในต่างประเทศกลับมาช่วยสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นได้” ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน แห่งทีดีอาร์ไอ ระบุ

 

มุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน ชี้ให้เห็นว่าสุดท้ายแล้วความเสี่ยงต่อแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์กว่า 7 แสนชีวิต อาจไม่เพียงแค่การทะลักเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมากที่ไม่ได้ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น แต่อยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมของไทยเองที่ถึงเวลาต้องปรับตัวจากผู้รับจ้างผลิตไปเป็นเจ้าของเทคโนโลยี เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานของประเทศให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน



Exclusive  By : วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์  

ข่าวแนะนำ