TNN เช็กไทม์ไลน์ 84 วัน ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนคดี "เศรษฐา" ตั้ง "พิชิต" เป็นรมต.

TNN

TNN Exclusive

เช็กไทม์ไลน์ 84 วัน ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนคดี "เศรษฐา" ตั้ง "พิชิต" เป็นรมต.

เช็กไทม์ไลน์ 84 วัน ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนคดี เศรษฐา ตั้ง พิชิต เป็นรมต.

ชี้ชะตา "นายกฯเศรษฐา"! ศาลรธน.นัดชี้ขาด 14 ส.ค. คดีแต่งตั้ง "พิชิต" นั่งครม.

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีคุณสมบัติ "นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี


14 สิงหาคม 2567 ถือเป็นวันชี้ชะตาของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดวินิจฉัยคดีคำร้องของ 40 สมาชิกวุฒิสภา ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายเศรษฐาจากการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลังศาลใช้เวลาพิจารณาคดีนี้ถึง 84 วัน 


ไทม์ไลน์คดีคุณสมบัตินายเศรษฐา 


คดีเริ่มต้นเมื่อ 28 เม.ย.2567 ที่มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ครม.ชุดใหม่ "เศรษฐา 1/2" โดยมีรายชื่อนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ก่อนจะมีการร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.และตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการ-อดีต กกต. ว่านายพิชิตเคยถูกศาลฎีกาสั่งจำคุก 6 เดือน ในคดีพยายามให้เงินถุงขนมเจ้าหน้าที่ศาล จำนวน 2 ล้านบาท ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีหรือไม่  


ก่อนที่วันที่ 15 พ.ค. จะมี สว.40 คน ยื่นคำร้องผ่านประธานวุฒิสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดของตำแหน่งนายกฯ ของนายเศรษฐา และนายพิชิต โดยศาล รธน.รับคำร้องไว้วินิจฉัยเมื่อ 23 พ.ค. ซึ่งนายพิชิตก็ลาออกจากตำแหน่งวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมาแล้ว


ศาล รธน.นัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษา และลงมติคดีนี้ไว้ในวันที่ 14 ส.ค. เวลา 15.00 น.


4 ประเด็นข้อโต้แย้งสู้คดี "ถอดถอนนายกฯ"


จากคำแถลงปิดคดี 32 หน้าของนายเศรษฐาที่ส่งให้ศาล รธน. ระบุ 4 ประเด็นสำคัญในการโต้แย้งคำร้อง ดังนี้


1. การอ้างพยานบุคคล 2 คน คือ นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ ผู้มีส่วนเสนอชื่อนายพิชิต และนายธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษานายกฯ ในประเด็นที่คดีพิชิตเกิดเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ซึ่งมีระยะเวลาเกิน 10 ปีมาแล้ว


2. การอ้างว่าการแต่งตั้งนายพิชิตไม่ได้มีเจตนาไม่สุจริต แต่เป็นการเพิ่มนักกฎหมายในคณะรัฐมนตรี ซึ่งยังขาดอยู่ และได้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจากสำนักเลขาธิการ ครม.มาแล้ว


3. การที่สำนักเลขา ครม.ชี้ว่า การพิจารณาความผิดจริยธรรมร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ ม.160 (4) (5) เป็นอำนาจของ ป.ป.ช. ใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งอาจทำให้ศาล รธน.ไม่รับคดีนี้ไว้วินิจฉัย และสำนักเลขา ครม.เองก็ได้ตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้จากการร้องเรียนแล้ว ไม่ได้เลือกปฏิบัติ


4. การแต่งตั้งนายพิชิตเป็นรัฐมนตรีมาจากดุลยพินิจและความต้องการของนายเศรษฐา ไม่ได้เป็นการรับคำสั่งจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ 


กระแสคาด "นายกฯเศรษฐา" น่าจะรอด


อย่างไรก็ตาม ก่อนถึงวันนัดอ่านคำวินิจฉัยของศาล รธน. ได้มีกระแสวิเคราะห์จากหลายฝ่ายสนับสนุนไปในทางว่า นายเศรษฐาน่าจะรอดไม่ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นภาพที่นายเศรษฐาออกตารางเดินสายงานต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.เป็นต้นไป ซึ่งเป็นวันถัดจากศาล รธน.อ่านคำวินิจฉัย หรือการวิเคราะห์ของฝั่งพรรคเพื่อไทยว่า หากดูจากการลงมติของ 9 ตุลาการศาล รธน. ในประเด็นรับคำร้อง-ไม่ให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ มีตุลาการ 3 คนที่ลงคะแนนเป็นคุณกับนายเศรษฐา ดังนั้นเพียงแค่หาเสียงอีก 2 คนมาร่วมก็จะช่วยให้นายเศรษฐารอดคดีนี้ได้


ผลการวินิจฉัยของศาล รธน.ในคดีคุณสมบัตินายเศรษฐา จะเป็นอย่างไรต้องรอฟังคำตัดสินในวันที่ 14 ส.ค.67 นี้  ซึ่งจะออกมาได้เพียง 2 แนวทาง คือ ยกคำร้องให้นายเศรษฐาเป็นนายกฯ ต่อไป หรือให้นายเศรษฐาพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ก่อนจะต้องมีการเสนอชื่อคัดเลือกนายกฯ คนใหม่ ที่ต้องมาจากบัญชีแคนดิเดตของพรรคการเมืองที่ยื่นไว้เท่านั้น ท่ามกลางกระแสสัญญาณทางการเมืองก่อนวันนัดฟังคำตัดสินที่เริ่มออกมาให้นายเศรษฐามีโอกาสรอดสูง



ภาพ TNN 

ข่าวแนะนำ