TNN ไม้นั้นสำคัญไฉน ? เมื่อปิงปองชายมือ 1 โลก ชวดเหรียญทอง อาจเพราะไม้คู่ใจหัก

TNN

TNN Exclusive

ไม้นั้นสำคัญไฉน ? เมื่อปิงปองชายมือ 1 โลก ชวดเหรียญทอง อาจเพราะไม้คู่ใจหัก

ไม้นั้นสำคัญไฉน ? เมื่อปิงปองชายมือ 1 โลก ชวดเหรียญทอง อาจเพราะไม้คู่ใจหัก

จากกรณีที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงไปทั่วโลก เมื่อสื่อมวลชนจากสำนักข่าวหนึ่ง เผลอเหยียบไม้ปิงปองคู่ใจของ “หวัง ฉู่ฉิน” นักปิงปองชายมือ 1 อันดับโลกจากจีนหัก ขณะพยายามเข้าไปทำข่าวชัยชนะของเขา และซุน หยิงฉ่า หลังคว้าเหรียญทองในประเภทคู่ผสมมาได้ในวันอังคาร (30 กรกฎาคม) ที่ผ่านมา

เหตุการณ์ดังกล่าว กลายเป็นคลิปไวรัลที่ถูกเผยแพร่ไปตามโซเชียลมีเดียเป็นวงกว้าง แสดงให้เห็นท่าทีของ “หวัง” ไม่พอใจต่อสื่อมวลชนอย่างมาก เมื่อรับรู้ว่า ไม้ของเขาที่พากันไปคว้าแชมป์โลกหักลง และไม่สามารถไปต่อกับเขาได้อีกในการแข่งขันโอลิมปิกที่เหลืออยู่ 


หลายฝ่ายต่างพยายามเห็นใจหวัง เนื่องจากไม้นั้น เปรียบเสมือนอาวุธคู่กายประจำตัวของนักกีฬาประเภทแร็กเก็ต 


หลังเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดขึ้นต่อนักกีฬาแดนมังกรคนนี้ ต่อมา ในการแข่งขันชายเดี่ยว หวังพ่ายแพ้ให้กับ “ทรูลส์ มอร์การ์ด” มือวางอันดับ 26 ของโลก จากสวีเดน ด้วยคะแนน 4-2 เกม ตกรอบ 32 คน ไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งนี่เป็นการพ่ายแพ้ครั้งแรกของหวังที่มีต่อมอร์การ์ด หลังเคยดวลกันถึง 8 ครั้ง และเขาไม่เคยแพ้ให้กับนักกีฬาปิงปองจากสวีเดนเลย 


แม้ตัวหวังจะออกมาพูดเองว่า ไม้ไม่มีผลต่อการแข่งขันในครั้งนี้ และมองว่า “มอร์การ์ด” เล่นได้ดีจริง ๆ แต่คนทั่วโลกส่วนใหญ่มองว่า การที่หวังแพ้ในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาต้องเล่นไม้สำรอง ทดแทนไม้เดิมที่หักไป ทำให้เกิดข้อถกเถียงมากมายว่า ไม้มีผลต่อนักกีฬาในการแข่งขันมากขนาดนั้นเลยหรือ ? โดยเฉพาะในการแข่งขันระดับโลกอย่าง “โอลิมปิก” ที่ความชนะ และความพ่ายแพ้ อาจเกิดขึ้นได้จากความผิดพลาดเพียงแค่นิดเดียว 


---ไม้นั้นสำคัญไฉน ?---


สำหรับกีฬาแนวแร็กเก็ต หรือ ประเภทตีโต้แล้ว ไม้ที่ใช้เล่นนั้น แทบไม่ต่างจากกระบี่คู่กายของนักกีฬา เพราะพวกเขาต้องฝึกซ้อมหลายชั่วโมงต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน เพื่อให้ตัวเองทำความคุ้นเคย และรู้จักไม้ของตนให้ดีที่สุด โดยเฉพาะกีฬาแร็กเก็ต ที่ใช้ไม้ที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติเกือบ 100% ในการเล่น อย่าง ปิงปอง


เนื่องจากกีฬาที่ต้องเล่นด้วยอุปกรณ์ที่ทำจากไม้เป็นหลักนั้น จะมีความเซนซิทีฟค่อนข้างสูง แม้จะผลิตออกมาจากโรงงานเดียวกัน ล็อตเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน หรือแม้แต่รุ่นเดียวกัน ก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ทั้งในเรื่องของน้ำหนัก ผิวสัมผัส กริปที่จับ แตกต่างจากกีฬาประเภทอื่น ๆ ที่อาจใช้เทคโนโลยีในการควมคุมสเปคให้ตรงตามมาตรฐานของรุ่นนั้น ๆ ได้อย่างแม่นยำ


ยิ่งเป็นนักกีฬามืออาชีพ ความแตกต่างเพียงนิด อาจทำให้พวกเขารู้สึกได้ และการจะหาไม้ให้เข้ามือตัวเอง หรือ ช่วยเสริมเทคนิคในสไตล์การเล่นที่ตนเองถนัดนั้น เป็นสิ่งที่นักกีฬาต้องควานหาให้เจอ และต้องใช้เวลาในการสร้างความคุ้นชิน พอ ๆ กับการฝึกฝนร่างกาย และจิตใจให้เตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันด้วยเช่นกัน 


ขณะที่ ไม้แร็กเก็ตสำหรับเทนนิส หรือ แบดมินตัน แม้จะไม่ได้ผลิตจากวัสดุธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ เหมือนอย่าง ปิงปอง แต่ไม้นั้นก็สำคัญไม่แพ้กันกับกีฬาข้างต้น โดยเฉพาะในเรื่องของการขึ้นเอ็น


นักกีฬาระดับโลกบางคน จำเป็นต้องมีนักขึ้นเอ็นคู่ใจไว้ข้างสนามตลอดการแข่งขัน เพราะการแข่งขันที่รวมสุดยอดฝีมือระดับโลกมาไว้ในที่เดียวกัน การเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเพียงเล็กน้อย อาจชี้ชะตาเกมของพวกเขาได้ในทันที



---มีไม้สำรอง ใช่ว่าจะคุ้นมือทันที---


แน่นอนว่า ทุกการแข่งขัน โดยเฉพาะลีกอาชีพ นักกีฬาต้องพกไม้สำรองของตนเองไปด้วยอยู่แล้ว หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับอุปกรณ์ข้างกายของพวกเขา


แต่ต่อจะให้มีไม้สำรอง ที่มีการคัสตอมให้เหมาะกับมือของนักกีฬามาเป็นจำนวนมากแค่ไหน แต่ละไม้ย่อมมีความแตกต่างอยู่เสมอ แม้จะเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยเฉพาะกับกีฬาปิงปอง


นอกจากนี้ นักกีฬาต้องใช้เวลาสักพักในการปรับตัวให้ชินกับไม้ที่ได้มา บางคนต้องซ้อมตีเป็นพัน เป็นหมื่นครั้ง จนกว่าจะรู้สึกว่า ไม้นั้นเป็นอวัยวะที่ 33 ในร่างกายของพวกเขา เพราะการเปลี่ยนไม้ใหม่ครั้งหนึ่ง ไปใช้ขนาดที่แตกต่างขึ้นไปจากเดิม เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับนักกีฬาอาชีพเลยก็ว่าได้


อย่าง “โรเจอร์ เฟดเดอเรอร์” อดีตนักเทนนิสมือวางอันดับ 1 ของโลก ก็ต้องปรับตัวให้ชินกับไม้ใหม่ หลังจากเปลี่ยนมาใช้ไม้ที่มีหน้ากว้าง 98 นิ้ว เพื่อช่วยซับแรง และส่วนต่าง ๆ ในการส่งลูก จากเดิมที่เคยใช้หน้ากว้างขนาด 90 นิ้ว มานานกว่าสิบปี หลังเขาต้องร่วงหล่นจากอันดับ 1 ของโลก มาอยู่อันดับที่ 5 เป็นครั้งแรกในรอบเกือบสิบปี แต่พอหลังจากสร้างความคุ้นชินกับใหม่ไม้แล้ว เขาก็สามารถกลับมาคว้าแชมป์รายการต่าง ๆ ได้อีกครั้ง


ไม่เพียงแค่นักกีฬาแร็กเก็ตอาชีพเท่านั้น แต่ผู้เล่นมือสมัครเล่นบางคน ก็เลือกที่จะหลีกเลี่ยงใช้ไม้ใหม่ลงในการแข่งขันทันที หากพวกเขาซื้อไม้ใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าว แม้ว่าไม้นั้นจะมีคุณสมบัติที่ดีกว่า แต่การจะเปลี่ยนอาวุธสักครั้งหนึ่งในชีวิต จำเป็นต้องใช้เวลาในการสร้างความคุ้นชินสักพัก


---ไม้อันไหนก็เล่นได้เหมือนกัน ถ้าฝีมือดี ?---

 

“ไม้อันไหนก็เล่นได้เหมือนกัน ถ้าฝีมือดี”

 

คำกล่าวนี้ อาจได้ผลกับการแข่งขันระหว่างนักกีฬามืออาชีพ และผู้เล่นทั่วไป เพราะด้วยทักษะ เวลาการซ้อม และการมองเกมเป็น ทำให้ระดับฝีมือค่อนข้างแตกต่างกันอย่างมาก ฉะนั้น ต่อให้นักกีฬาผู้มีทักษะระดับโปรจะใช้ไม้ราคาถูก และคุณภาพแย่มากแค่ไหน แต่ถ้าแข่งกับผู้เล่นทั่วไป หรือ ผู้เล่นที่มีระดับฝีมือที่ต่ำกว่ามาก ๆ พวกเขาก็สามารถย่อมเอาชนะได้สบาย แม้ว่าฝั่งตรงข้าม จะมีไม้ดีขนาดไหน 


แต่ถ้าสำหรับเกมการแข่งขันใหญ่ระดับโลกทุกประเภท การแพ้ชนะอาจต่างกันแค่เพียงนิดเดียวเท่านั้น เพราะทักษะ การฝึกฝน และความมุ่งมั่น ย่อมถูกฝึกเข้มมาอย่างหนักหน่วง ฉะนั้น จิตใจของนักกีฬา สภาพแวดล้อมของสนาม และไม้ ย่อมส่งผลมาก ๆ กับการแข่งขันในระดับนี้ ไม่ได้มีเรื่องแค่ฝีมืออย่างเดียว 


ยิ่งรายการที่มีตารางการแข่งขันติด ๆ กัน การเปลี่ยนม้ากลางศึก อาจจะทำให้ฟอร์มการเล่นนักกีฬาบางคนเปลี่ยนไปเลยก็ได้ โดยเฉพาะกับกีฬาปิงปอง ที่ส่วนประกอบสำคัญส่วนใหญ่ผลิตมาจากไม้


นอกจากนี้ ต่อให้เป็นผู้เล่นทั่วไป ที่ไม่ได้ยึดอาชีพนักกีฬา แต่การมีไม้ที่ดี และเข้ามือสักอัน ก็จะทำให้พวกเขาเล่นเกมได้สนุกขึ้น รวมถึงช่วยซับแรง และบังคับทิศทางให้ไปตามใจที่ต้องการได้ ควบคู่ไปกับทักษะการฝึกฝนที่มีมาอย่างต่อเนื่อง 


---ไม่ใช่เรื่องของมูลค่า แต่จิตใจก็เสียไปด้วย---


จากเหตุการณ์สูญเสียไม้ข้างกายไปอย่างไม่คาดคิดของ “หวัง ฉู่ฉิน” หลายคนต่างแสดงความเห็นอกเห็นใจในตัวเขา เพราะการเสียไม้ที่เคยพากันคว้าแชมป์โลกไปแบบนี้ เปรียบเสมือนการสูญเสียเพื่อนที่ดีที่สุดของเขาไป และหลายคนก็กังวลว่า มันจะส่งผลกับจิตใจของเขา แม้ว่า เขาจะเลือกไปใช้ไม้สำรองที่มีอยู่ก็ตาม

 

การที่เขาต้องตกรอบชายเดี่ยว ในรอบ 32 คน ยิ่งตอกย้ำให้ผู้ชมทั่วโลกรู้สึกว่า การที่ไม้หัก อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจ และการเล่นของเขา แม้ภายหลังเขาจะให้สัมภาษณ์ว่า การที่เขาแพ้ในวันนี้ ไม้ไม่ได้มีผล แต่นักปิงปองจากสวีเดนเล่นได้ดีจริง ๆ 


“มันเป็นเพราะผมเล่นได้ไม่ดีพอเอง ฝ่ายตรงข้ามมีการเปลี่ยนวิธีการเสิร์ฟบางอย่างของเขา และผมก็รับได้ไม่ดีพอ มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับไม้เลย ผมจะพยายามทบทวนเกี่ยวกับการพ่ายแพ้ครั้งนี้ และจะกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งสำหรับการแข่งประเภททีม” หวัง กล่าว หลังตกรอบ 32 คน ประเภทชายเดี่ยว 


สำหรับ “ทรูลส์ มอร์การ์ด” คู่แข่งของเขา ก็น่าเห็นใจไม่แพ้กัน แม้จะชนะหวังเป็นครั้งแรก หลังจากแข่งแพ้มาตลอดทุกครั้งที่เจอกัน แต่ก็ถูกคนส่วนใหญ่มองว่า การชนะของเขาครั้งนี้ มาเพราะโชคช่วย เนื่องจากหวังต้องเสียไม้ไปก่อนจะได้แข่งกับเขา ซึ่งในความเป็นจริง “มอร์การ์ด” อาจจะซ้อมมานับไม่ถ้วน เพื่อเตรียมเจอกับหวังอีกครั้งที่ปารีสก็เป็นได้ 


งานนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายคนชนะ หรือ คนแพ้ ล้วนน่าเห็นใจหมดทั้ง 2 ฝ่าย แต่เหนือสิ่งอื่นใด การตอบคำถามหลังเผชิญความพ่ายแพ้ของนักปิงปองจีน ก็ได้แสดงให้ทั่วโลกเห็นแล้วว่า เขามีความเป็นน้ำใจนักกีฬามากแค่ไหน และยอมรับผลการแข่งขันอย่างสมศักดิ์ศรีนักกีฬา 


เรื่อง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

ข้อมูลอ้างอิง: 


https://www.reuters.com/sports/olympics/table-tennis-china-gold-medalist-wangs-joy-cut-short-by-paparazzi-paddle-2024-07-30/

https://english.news.cn/20240731/d3484643428645d2aa04b7cdb691d582/c.html

https://ftw.usatoday.com/2013/07/roger-federer-racquet

https://edition.cnn.com/2013/12/31/sport/tennis/federer-racket-murray-tennis/index.html

https://www.cbsnews.com/news/roger-federer-us-open-meet-the-man-who-strings-roger-federers-tennis-rackets-ron-yu-2019-09-07/

https://ftw.usatoday.com/2013/07/roger-federer-racquet

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง