TNN “โรคกลัวตนเองไม่ดีพอ” ไม่ได้มาจากจิตใจผิดปกติ แต่มาจาก “บริบททุนนิยม” | Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล

TNN

TNN Exclusive

“โรคกลัวตนเองไม่ดีพอ” ไม่ได้มาจากจิตใจผิดปกติ แต่มาจาก “บริบททุนนิยม” | Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล

“โรคกลัวตนเองไม่ดีพอ” ไม่ได้มาจากจิตใจผิดปกติ แต่มาจาก “บริบททุนนิยม” | Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล

“Imposter Syndrome” หรือ “โรคไม่มั่นใจว่าดีพอ” ตามหลักฐานทางจิตวิทยาสังคม (Social Psychology) กลับชี้ว่า “บริบทภายนอก”ต่างหากที่คือสาเหตุของปัญหา โดยเฉพาะเรื่อง “ทุนนิยม” นั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอาการนี้ขึ้นอย่างน่าทึ่ง!

“Imposter Syndrome” หรือ “โรคไม่มั่นใจว่าดีพอ” หนึ่งในโรคที่กำลังคุกคามวัยทำงานอย่างหนัก  โดยผู้ที่เป็น “Imposter Syndrome” จะมีภาวะขาดความมั่นใจในตนเอง (Laking of Self-Esteem) ว่าสิ่งที่กระทำลงไปนั้นดีพอหรือไม่ในการทำงาน  โรคนี้ยังบ่อนทำลายและสร้างความสงสัยตนเอง (Self-Doubt) เมื่อผู้เผชิญกับภาวะดังกล่าวตั้งเป้าหมายที่สูง ท้าทาย และตรอมตรมเมื่อไม่ประสบความสำเร็จ ชอบจมอยู่กับอดีต นำมาสู่การกลัวอนาคตอย่างไม่มีเหตุผล


หากมองเผิน ๆ เรื่องนี้เหมือนกับว่าต้นตอของโรคจะมาจาก “จิตใจที่ผิดปกติ” ของผู้ป่วยที่คิดไปเรียบร้อยแล้วว่าตนนั้นไม่ดีพอ แต่จริง ๆ ตามหลักฐานทางจิตวิทยาสังคม (Social Psychology) กลับชี้ว่า “บริบทภายนอก”ต่างหากที่คือสาเหตุของปัญหา โดยเฉพาะเรื่อง “ทุนนิยม” นั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอาการนี้ขึ้นอย่างน่าทึ่ง!


จิตใจไม่ด้านพอ


ก่อนที่จะถูกเรียกว่า Imposter Syndrome ภาวะของโรคนี้ปรากฏครั้งแรกโดยเรียกว่า “Imposter Phenomenon” จากงานศึกษา The imposter phenomenon in high achieving women: Dynamics and therapeutic intervention เขียนโดย เพาลีน แคลนซ์ และคณะ ตีพิมพ์ในวารสาร Psychotherapy: Theory, Research & Practice ซึ่งเน้นศึกษาอาการแปลกแยกจากการทำงานของ “ผู้หญิง” ที่ไม่ว่าจะพยายามมากมายเพียงใดก็ยังไม่อาจที่จะเทียบเท่าผู้ชายได้อยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประสิทธิภาพหรือประสิทธิผล


แต่เมื่อทำการวิจัยไปแล้วนักจิตวิทยาได้ขยายผล และ เปิดเผยผลการวิจัยออกมาว่า ไม่ได้มีแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับโรคนี้ เพราะผู้ชายก็สามารถเผชิญกับภาวะดังกล่าวเช่นกัน โดยอาการที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่พบว่า  ขาดความมั่นใจ มีความนับถือในตนเองต่ำ (Low Self-Esteem) ไม่สามารถประเมินความสามารถหรือสกิลของตนเองได้ ซ้ำร้ายยังโบ้ยไปว่าความสำเร็จที่ตนเองได้รับเป็นผลมาจากเงื่อนไขอื่น ๆ ชอบเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นในทุก ๆ เรื่อง วิพากษ์ตนเองตลอดเวลา และพูดจาในแง่ลบเกี่ยวกับตนเองเสมอ ไม่เคยพึงพอใจกับผลสัมฤทธิ์ของตนเอง กลัวว่าจะทำได้ไม่เท่ากับความคาดหวัง 


อาการทั้งหมดทำให้เกิดการบ่อนทำลายความสำเร็จของตนเอง สงสัยตนเอง (Self-Doubt) ตั้งเป้าหมายที่สูง ท้าทาย และตรอมตรมเมื่อไม่ประสบความสำเร็จ ชอบจมอยู่กับอดีต และกลัวอนาคตอย่างไม่มีเหตุผล


แต่คำถามที่ตามมาคือ จำเป็นหรือไม่ที่เกิดอาการข้างต้นและต้องเป็น Imposter Syndrome อย่างแน่นอน ?


Imposter Syndrome นี้ จริง ๆ จะวัดว่าผู้ป่วยเป็นหรือไม่เป็นโรคได้ยากมาก ๆ เพราะบางทีอาจจะเป็นเพียงความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจตนเองแบบชั่วครั้งชั่วคราว หรืออาจจะเป็นความวิตกกังวลจากการรับรู้ชุดข้อมูลเพียงด้านเดียว (One-side Cognition) ทำให้เตลิดไปไกลว่าตนนั้น “ด้อยกว่า (Inferior)” ซึ่งเป็นข้อเสนอของงานศึกษา Impostor Phenomenon Measurement Scales: A Systematic Review เขียนโดย คารินา มัค และคณะ ตีพิมพ์ในวารสาร Front Psychol 


ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด นั่นคือ จริง ๆ เรามีความสามารถมากกว่าผู้เล่นอื่น ๆ แต่เจ้านายไม่แสดงออกว่าจะ Promoted ตำแหน่งให้เรา เราจึงคิดไปเองว่าไม่มีความสามารถมากพอ และวิตกกังวลถึงสถานภาพของตนเอง


หรือก็คือ หากจะบอกหรือวัดผล (Measurement) ได้ว่าใครเป็น Imposter Syndrome ต้องทราบเรื่อง “ภายนอก” ของผู้ป่วยก่อนว่า ไปเผชิญสิ่งใดมา หากมุ่งวินิจฉัยจากพฤติกรรมก็เหมือนกับเห็น “ผลลัพธ์” ไม่ได้เข้าไปตรวจสอบ “สาเหตุ” ที่แท้จริง ตามหลักจิตวิทยาคลินิกถือว่าวินิจฉัยผิดขั้นตอน


ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง


งานศึกษา Contextualizing the Impostor “Syndrome” เขียนโดย ซาเน ฟรีนสทรา และคณะ ตีพิมพ์ในวารสาร Perspective ได้ชี้ให้เห็นว่า จริง ๆ แล้ว ไม่สมควรเรียกความรู้สึกแบบนี้ว่า Syndrome เสียด้วยซ้ำ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจาก “ภายใน” คือเป็นเรื่องความผิดปกติของระบบประสาทและสมอง หรือสารเคมีไม่อยู่ในระดับปกติ แต่เป็นเรื่องที่มาจาก “ภายนอก” คือบริบทสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ผู้ป่วยเผชิญต่างหาก


โดยภายนอกที่ว่านั้น ที่ส่งผลที่สุดเป็นเรื่องของ “ทุนนิยมบบเสรีนิยมใหม่” ซึ่งเป็นโลกของการแข่งขัน ชนิดที่ว่าใครมือยาวสาวได้สาวเอา หรือหากไร้ความสามารถก็อาจถูกเขี่ยทิ้งจากสนามแข่งขัน ทำให้แรงงานต้องพัฒนาตัวเองให้สามารถทำเป็นแทบจะทุกอย่าง หรือต้องเป็น “Multi-skills” เพื่อให้เป็นตัวเลือกลำดับแรก ๆ ที่นายจ้างจะมาเลือกสรรไปทำงาน 


แน่นอน ตรงนี้คือความเหนื่อยของแรงงาน ที่จะต้องกระทำตนให้โดดเด่นและครบองค์ประกอบมากที่สุด และก็ไม่สามารถที่จะอ่อนข้อได้ ไม่อย่างนั้นก็มีความเสี่ยงที่จะตกงาน นอนอยู่บ้านเฉย ๆ ไม่ต้องเหนื่อยอีกต่อไป


อย่าลืมว่า ชีวิตมนุษย์มีได้ก็ต้องมีเสีย การที่เราทำได้หลายอย่าง เราก็เป็นตัวเลือกให้นายจ้าง และเราก็จะสามารถเลือกนายจ้างที่จะไปทำงานด้วยได้ง่ายเช่นกัน ตรงนี้ หากแรงงานรับไม่ได้หรือใจไม่แข็งแกร่งพอ ก็ต้องพ่ายแพ้ไป บางรายก็โทษระบบและออกมาเป็นการเรียกร้องและเคลื่อนไหวต่าง ๆ บนแพล็ตฟอร์มออนไลน์ ส่วนบางรายโทษตนเอง ก็จะกลายเป็นอาการที่เรียกว่า Imposter Syndrome 


นอกจากนี้การโทษตนเองนี้ ยังแยกย่อยได้อีก 2 แนวทาง ก็คืออย่างแรกโทษตนเองจนไม่อยากจะต่อสู้ในโลกทุนนิยม และอย่างหลังคือโทษตนเอง และ “พยายาม” แสวงหาซึ่งองค์ความรู้ระดับมหาศาลในการที่จะเป็นหนึ่งในใต้หล้า ไม่เพียงพอและไม่พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ คิดเสมอว่าความสามารถของตนนั้นไปได้อีกยาวไกล เหล่านี้ถือได้ว่าเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจอย่างมาก


ดังนั้น จึงอยู่ที่ว่าผู้เล่นในระบบแข่งขันจะสามารถรับมือกับสิ่งที่อยู่ภายนอกได้มากน้อยเพียงใด นั่นอาจเป็นทางออกจาก สภาวะ Imposter Syndrome มากกว่าที่จะมาค้นหาสาเหตุว่าตัวตนภายในของแต่ละคนที่กำลังเผชิญกับโรคดังกล่าวมีลักษณะเป็นอย่างไร หรือก็คือ เรายังต้องเพิ่มทักษะและความสามารถไปเรื่อย ๆ เพื่อให้รองรับกับทุนนิยมต่อไป 


สรุปก็คือ เมื่อต้องเผชิญกับภาวะ “Imposter Syndrome” อย่าเพียงก้มหน้าชี้โทษแต่ตนเองว่าไม่ดีพอ หากรู้สึกเพียงพอกับอาการน้อยเนื้อต่ำใจเมื่อไหร่ก็ควรลุกขึ้นมาใหม่ เพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างองอาจ เพราะสิ่งที่ยากกว่าการจัดการตนเอง นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงระบบ ดังนั้น “การตามน้ำไปกับกับระบบ” จึงทำได้ง่ายดายกว่ามาก


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล [เฮย์เดน วิศว์]


แหล่งอ้างอิง


  • บทความ Contextualizing the Impostor “Syndrome

  • บทความ Impostor Phenomenon Measurement Scales: A Systematic Review

  • บทความ The imposter phenomenon in high achieving women: Dynamics and therapeutic intervention

ข่าวแนะนำ