TNN กว่าจะยอมรับ ‘สมรสเท่าเทียม’ เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ การต่อสู้ที่ยังคงต้องดำเนินต่อไป

TNN

TNN Exclusive

กว่าจะยอมรับ ‘สมรสเท่าเทียม’ เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ การต่อสู้ที่ยังคงต้องดำเนินต่อไป

กว่าจะยอมรับ ‘สมรสเท่าเทียม’ เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ การต่อสู้ที่ยังคงต้องดำเนินต่อไป

วันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของไทยก่อกำเนิดขึ้นแล้ว เมื่อวุฒิสภามีมติเห็นชอบ ผ่าน ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง สร้างความปิติยินดีให้กับทุกฝ่ายที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิแห่งความเท่าเทียมมาอย่างยาวนาน

---สิ้นสุดเส้นทาง 23 ปี แห่งการต่อสู้ เพื่อความรักที่หลากหลาย--- 


ไทยก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นในแง่ของความเท่าเทียม และความหลากหลายทางเพศ หลังร่างกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ ผ่านแล้ว เตรียมออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ ให้คู่รัก LGBTQ มีสิทธิสมรสทุกประการตามกฎหมาย ดั่งเฉกเช่นคู่รักชายหญิง สิ้นสุดเส้นทางกว่า 23 ปี ที่นักสิทธิและประชาชนต้องฟันฝ่าอุปสรรค เพื่อให้ทั้งสังคมและกฎหมายยอมรับ “การมีอยู่ของความหลากหลายทางเพศ”  


“ตอนนั้น คือ ร้องไห้ มันเหมือนกับน้ำตามันมาเอง ภาพที่เราเห็นคือ ทุกคนต่างดีใจ มีโบกธง ถือพัดสีรุ้ง ซึ่งเราก็มีภาพนั้นอยู่ในหัวอยู่แล้ว แต่ว่า อีกภาพหนึ่งที่เราเห็นเหมือนกันคือ มีการฉายภาพย้อนหลังของนักเคลื่อนไหวที่ทำงานมาก่อนหน้าเรา และทำงานจับมือมาพร้อม ๆ กับเรา ไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำงานในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) หรือ คนที่อาจจะไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการรัฐสภา แต่ต่อสู้อยู่บนถนน ต่อสู้กันในพื้นที่แตกต่างกันออกไป ตามแต่วาระและโอกาส ซึ่งเรารู้สึกว่า ทุกอย่างมันเป็นมวลรวมที่มาผสมกัน และทำให้มีภาพของสมรสเท่าเทียมผ่านในวันนี้เกิดขึ้น” มุกดาภา ยั่งยืนภราดร จนท. สิทธิมนุษยชน Fortify Rights และ ที่ปรึกษา กมธ. ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม กล่าวให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว TNN หลังสมรสเท่าเทียมผ่านในชั้นวุฒิสภา 


เส้นทางกว่าที่สังคมไทยจะยอมรับได้ว่า ความรักไม่ได้มีเพียงแค่ชายหญิงเท่านั้น ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หากจะพูดถึงเรื่องราวการต่อสู้ ต้องย้อนกลับไปในปี 2544 เมื่อ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เสนอให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสกันได้  


ณ ช่วงเวลานั้น แนวคิดนี้ถูกต่อต้านจากกระแสสังคมอย่างรุนแรง รัฐบาลจึงมองว่าสังคมไทยยังไม่พร้อมสำหรับเรื่องนี้ จึงยุติแนวคิดดังกล่าวไป


ต่อมา “นที ธีระโรจน์พงษ์” ยื่นคำร้อง หลังถูกปฏิเสธการสมรสที่ที่ว่าการ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อปี 2555 หลังจากนั้น ภาคประชาชนเริ่มศึกษา และทำงานเรื่องการคุ้มครองครอบครัวเพศหลากหลาย มุ่งจัดตั้งครอบครัวเพศเดียวกัน


ปี 2556 เริ่มมีการร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่หลังจากเกิดการรัฐประหารในปี 2557 จึงทำให้การดำเนินงานดังกล่าวยุติ หลังจากนั้น ก็มีการพูดถึงเรื่อง พ.ร.บ. คู่ชีวิตอยู่เรื่อย ๆ แต่หลายฝ่ายมองว่า การออก พ.ร.บ. นี้ จะทำให้กลุ่ม LGBTQ ถูกตีเป็นพลเมืองชั้น 2 ของสังคม 


กฎหมายสมรสเท่าเทียม กลับมาเคลื่อนไหวจริงจังอีกครั้งในปี 2563 หลังก้าวไกลยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ต่อสภาฯ และถูกบรรจุวาระเข้าประชุมสภาฯ พร้อมกับที่ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตเช่นกัน ต่อมา วันที่ 29 มีนาคม 2565 ครม. มีมติไม่รับ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม


หลังจากนั้น ‘บางกอกนฤมิตไพรด์’ จัดขบวนพาเหรดในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกในวันที่ 5 มิถุนายนปีเดียวกัน เรียกร้องสมรสเท่าเทียม


ปีถัดมา ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตปัดตกจากสภาฯ เหตุไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาจาก ครม.ชุดใหม่ ภายใน 60 วันหลังเปิดสภาชุดใหม่ ส่งผลให้ต้องยื่นร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมอีกรอบหนึ่ง และทางสภาฯ รับหลักการร่างดังกล่าว จำนวน 4 ฉบับในวาระที่ 1 และตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาในวาระ 2 ก่อนนำกลับมาให้ที่ประชุมเห็นชอบ และในปี 2567 เริ่มมีการพิจารณา ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมอีกครั้ง ผ่านความเห็นชอบทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เมื่อไม่นานมานี้  


“ในช่วงเวลาของการเคลื่อนไหว มันมีทั้งโมเมนต์ของความเสียใจ ความสิ้นหวัง เราก็ไปแชร์กับเพื่อนที่เป็นนักเคลื่อนไหวเหมือนกัน เพื่อนตอบเรากลับมาว่า การเคลื่อนไหวมันไม่เคยเป็นเส้นตรง นั่นหมายถึงว่า มันไม่มีทางจะไปข้างหน้าได้อย่างเดียว มันต้องมีจุดที่ไปทั้งข้างหน้าบ้าง แล้วก็หกล้มบ้าง ล้มลุกคลุกคลานไป” มุกดาภา กล่าว 


กว่าจะยอมรับ ‘สมรสเท่าเทียม’ เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ การต่อสู้ที่ยังคงต้องดำเนินต่อไป


---ชาติแรกแห่งอาเซียน--- 


ไทยกลายเป็นชาติแรกแห่งอาเซียนที่ออกกฎหมายรับรองให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานได้ และเป็นชาติที่ 3 แห่งเอเชีย ตามหลังไต้หวัน และเนปาล ที่มีกฎหมายคล้ายคลึงกัน 


แต่ความพิเศษของไทย ที่แตกต่างจาก 2 ประเทศในเอเชีย คือ การที่ไทยมุ่งแก้ไปที่ตัวบทกฎหมาย ป.พ.พ. เพิ่มเติม จากเดิมที่ระบุว่า การหมั้นและการสมรสจะมีเพียงแค่ “ชายและหญิง” เท่านั้น เปลี่ยนเป็นกำหนดให้ “บุคคลทั้ง 2 คน ไม่ว่าเพศใดสามารถทำการหมั้นหรือสมรสกันได้” 


ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ยังได้แก้ไขคำว่า “ชาย” “หญิง” “สามี” “ภริยา”  เป็น “บุคคล” “ผู้หมั้น” “ผู้รับหมั้น” และ “คู่สมรส” เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมคู่หมั้น หรือ คู่สมรสไม่ว่าจะะมีเพศใด ส่งผลให้คำเหล่านี้ ถูกเปลี่ยนทันทีในมาตราที่เคยกำหนดคำดังกล่าว 


เมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านในชั้นวุฒิสภาแล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้ จะเป็นการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตราเป็นกฎหมาย และจะมีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน หลังมีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา คาดว่า คู่รัก LGBTQ จะสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ในช่วงปลายปีนี้ 


---“บิดา-มารดา” ความขัดแย้งทางกฎหมายที่คงอยู่--- 


ถึงจะมีการแก้ไขในคำว่า “ชายหญิง” “สามีภริยา” เป็น “คู่สมรส” หรือ “บุคคล” แต่หนึ่งข้อเรียกร้องที่ถูกตีตกไปในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือคำว่า “บุพการีลำดับแรก” เพื่อทดแทนคำว่า “บิดา-มารดา” ที่ยังเป็นคำระบุถึงแค่เพศชายหญิงเท่านั้น ซึ่งอาจเกิดปัญหาตามมาภายหลังให้แก่คู่รักเพศเดียวกัน ในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับลักษณะบิดามารดากับบุตร

 

"สิ่งที่มีปัญหาตามมา คือ เวลาที่เราใช้สิทธิตามกฎหมายฉบับนี้ในภายหลัง เพราะกฎหมายฉบับนี้ ในหมวดความสัมพันธ์บิดามารดากับบุตร เขาพูดถึงว่า ต่างคน ต่างมีหน้าที่แตกต่างต่อกันอย่างไร เช่น บิดามารดามีหน้าที่เลี้ยงดูบุตร บุตรก็มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา” นัยนา พึ่งสุภา กมธ. วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม กล่าว 


“เพราะฉะนั้น คำว่า ‘บิดามารดา’ ใช้ไม่ได้กับ LGBTQ เพราะว่า เขาต้องการให้มีคำเป็นกลางทางเพศ เพื่อจะได้ไม่ต้องมาตัดสินว่า เขาเป็นเพศไหน” เธอ กล่าว 


นัยนา กล่าวด้วยว่า การแก้กฎหมายครั้งนี้ ทั้งในส่วนของ สส. และ สว. ไม่ได้พิจารณาในส่วนที่เป็นข้อเสนอของประชาชนตรงนี้ ที่ต้องการให้ใช้ “คำเป็นกลางทางเพศ” ในหมวดของความสัมพันธ์บิดามารดาและบุตร เขาใช้คำเป็นกลางทางเพศแค่ในหมวดเรื่องสมรส กับในหมวดที่พูดถึงความสัมพันธ์ของคู่สมรสเท่านั้น 


ขณะเดียวกัน ด้วยกฎหมายหลายมาตรา มีการระบุถึงสิทธิชายหญิงชัดเจน ทำให้ถูกมองว่า อาจจะเป็นปัญหาขึ้นมาภายหลัง เมื่อคู่รัก LGBTQ แต่งงานกัน 


“กฎหมายหลังแต่งงาน พี่คิดว่า มันจะมีปัญหาในทางปฏิบัติตามมา เพราะว่า กฎหมายให้สิทธิผู้หญิง ผู้ชาย แตกต่างกัน เช่น สามี ภรรยา มีสิทธิหน้าที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น คู่รัก LGBTQ จะใช้สิทธิในส่วนของสามี หรือ สิทธิของภรรยา อันนี้เป็นโจทย์ที่ส่วนตัวคิดว่า นี่คือ กฎหมายลำดับรองที่จะต้องแก้ไข” นัยนา กล่าว 


---จับตากฎหมายความเท่าเทียมที่กำลังเคลื่อนไหว---


ในวันนี้ ไทยประสบความสำเร็จ ก้าวหน้าเรื่องความเท่าเทียมขึ้นไปอีกขั้น แต่สังคมไทยยังมีอีกหลายประเด็นที่กำลังเคลื่อนไหวต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีเท่ากัน ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเพศไหน หรือ เป็นใคร


“จริง ๆ นอกจากสมรสเท่าเทียม ประเด็นที่เราผลักดันก็จะมีเรื่องอื่น ๆ อยู่ เช่น ประเด็น Sex Worker หรือ สิทธิของผู้ค้าบริการทางเพศ, เรื่องของการเปลี่ยนคำนำหน้านาม และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติต่าง ๆ เป็นต้น” จรัญ คงมั่น กรรมาธิการสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน, นักเคลื่อนไหว LGBTIN+, แฟชั่นดีไซเนอร์, ผู้ร่วมก่อตั้งนฤมิตไพรด์ และ บางกอกไพรด์ กล่าว

 

“แม้แต่สมรสเท่าเทียม ถึงจะเป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้ว แต่การนำมาใช้ หรือว่า อคติต่าง ๆ มันเป็นสิ่งที่เราต้องรณรงค์พูดคุยกันต่อไป เพื่อสร้างสังคมให้ไม่มีการเลือกปฏิบัติ สำหรับคู่รักทุก ๆ เพศ” จรัญ กล่าว 


เรื่อง: พรวษา ภักตรดวงจันทร์ 

ข้อมูลอ้างอิง: 

https://document.senate.go.th/fileR/983.pdf

https://www.drthawip.com/civilandcommercialcode/206

https://www.posttoday.com/smart-life/707257

https://workpointtoday.com/lgbt-221124/

ข่าวแนะนำ