ถอดรหัสการเกิด “ลัทธิ” ทำไมความเชื่อที่ "แรงกล้า" ถึงเป็นอันตรายต่อสังคม?
คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมผู้คนถึงเชื่อในบางสิ่งอย่างแรงกล้า จนอาจเรียกได้ว่าถอนตัวไม่ขึ้น?
ช่วงนี้ สังคมไทยกำลังถกเถียงเรื่อง “ความเชื่อ” อย่างหนัก ไม่ว่าฝ่ายที่ออกมาวิจารณ์ความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่งว่าเป็นสิ่งผิด ทำลายสังคม ละเมิดสิทธิเด็ก ขณะที่อีกฝ่ายตอบโต้ว่า เป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล และสิ่งที่เขาเชื่อและกระทำก็ไม่ได้ทำร้ายใคร
คำถามน่าสนใจที่ตามมา คือ ทำไมผู้คนถึงเชื่อในบางสิ่งอย่างแรงกล้า จนอาจเรียกได้ว่าถอนตัวไม่ขึ้น
เชื่ออย่างแรงกล้า
เรื่องของความเชื่อม มี 3 องค์ประกอบที่พอจะอธิบายได้ตามองค์ความรู้ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ นั่นคือ
Pistis หรือการเชื่อร่วมกัน (Trust)
Doxa หรือความเห็นส่วนตน (Opinion)
และ Dogma หรือจุดยืนอย่างแรงกล้า (Position)
กล่าวง่าย ๆ คือความเชื่อจะต้องมี “ความเห็นส่วนบุคคลเป็นจุดยืนที่หนักแน่น และต้องมีความเชื่อใจต่อผู้ที่เชื่อแบบเดียวกัน” โดยความเชื่อจะรุนแรงแค่ไหน อยู่ที่ผู้นั้นมีระดับของ 3 อย่างข้างต้นนมากน้อยขนาดไหน
ตัวแปรสำคัญจะอยู่ที่ Pistis หรือการเชื่อใจซึ่งกันและกันของผู้คนที่เชื่อแบบเดียวกัน หากมีมากเข้า จะทำให้เกิดการฟอร์มขึ้นมาเป็นกลุ่มการแสดงออกของสิ่งที่เชื่อร่วมกัน “อย่างแรงกล้า” หรืออาจจะมากกว่านั้น อย่างเช่นการเป็น “ลัทธิ”
ที่สำคัญ ความเชื่อไม่ใช่ความจริง (Unreal) เพราะความเชื่อนั้น เป็นการประกอบสร้างขึ้นมา เพื่อที่จะบอกว่าสิ่งนั้นจริงตามที่เรารับเชื่อ ทั้งที่จริง ๆ อาจจะไม่เป็นอย่างนั้นตามความเป็นจริงก็ได้
เอมิล ดูร์กไฮม์ (Émile Durkheim) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมนี อธิบายสิ่งนี้ว่าเป็น “Social Fact” หรือ ความจริงที่ขึ้นอยู่กับสังคมใดสังคมหนึ่ง ซึ่งสามารถ “ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้” ให้แก่ผู้ที่เกิดมาในสังคมนั้น ๆ ได้
ความเชื่อเลยเป็นเรื่องของ “องค์รวม (Collective)” ที่กำกับมุมมองความคิด หรือกระทั่งทัศนคติได้แบบหมดจด ซึ่งหากไม่ไตร่ตรอง ความเชื่อก็จะเป็น “เครื่องชี้นำ” อย่างง่ายดาย เพราะความเชื่อนั้น เมื่อฝังหัวแล้ว ยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้ และในบางครั้ง สิ่งที่ผู้คนเหล่านั้นเชื่อ ไม่ทำอะไรก็ดีไป แต่ส่วนใหญ่แล้ว มักจะทำอะไรที่แปลก ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมทั้งสิ้น
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ พวก “อามิช” (Amish) ในอเมริกา ที่มีความเชื่อว่าการพัฒนาตามเทรนด์เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ต้องอนุรักษ์ของเดิม ๆ ไว้ รถยนต์ไม่ใช้ ใช้ม้าเทียมเกวียนในการเดินทาง อินเทอร์เน็ตไม่ใช้ เน้นส่งจดหมายแทน
หากคนเหล่านี้อยู่เฉย ๆ ก็ไม่มีปัญหา แต่พวกเขากลับไปขัดขวางความเจริญที่รัฐบาลอยากจะให้ประเทศก้าวหน้า อาทิ การไม่ให้โครงข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านในพื้นที่ของตน หรือลักลอบทำลายเทคโนโลยีต่าง ๆ
และนี่คือตัวอย่างคำกล่าวของชาวอามิชที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าความเชื่อของพวกเขาแรงกล้า และกำลังท้าทายสังคมอย่างแท้จริง
“สมาร์ทโฟนหนะหรอ เสียเวลาเปล่า การใช้เวลากับสิ่งนี้มากเกินไปจะทำให้เราออกห่างจากพระผู้เป็นเจ้า… หากมีเวลามากขนาดนั้น เอาเวลาไปอ่านคัมภรีโทราห์ [คัมภีร์ชาวยิว] จะดีกว่า”
“สิ่งนี้ทำลายจิตวิญญาณของโลก … ทำลายผู้คนจากภายใน … ภายนอกพวกเขาเป็นอามิช แต่จริง ๆ ภายในได้รับการสปอยล์ไปหมดสิ้น”
“มันเป็นปีศาจที่หลอกหลอนคุณตลอดเวลา เอาไม่ออก ตามไปทุกที่ … พวกมันทำลายความเป็นเรา”
ความเชื่อเปลี่ยนแปลงได้
จะเห็นได้ว่า ความเชื่อนั้นมีอันตรายแฝงอยู่สูงมาก แม้จะเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่จะมีสิทธิเชื่ออะไรก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อสิ่งที่เชื่อนั้นแรงกล้า ก็จะเกิด “ความขัดแย้ง” กับบรรดาความเชื่ออื่น ๆ ได้ง่าย และจะนำมาซึ่งความไม่พอใจ และปะทะกันในบั้นปลาย
แต่ความเชื่อนั้น “สามารถเปลี่ยนแปลงได้” แม้จะทำไม่ง่ายก็ตาม
ในงานศึกษา Why and When Beliefs Change ที่ได้เสนอตามกฎของเบย์ส (Bayesian) ว่าคนเราจะเปลี่ยนความเชื่อได้ ก็ต่อเมื่อสิ่งที่ตนเชื่อนั้น เริ่มไม่ตอบสนองต่อสิ่งที่ตนนั้นต้องการ โดยที่มีความเชื่อใหม่ ๆ เข้ามาทำให้ไขว้เขวว่า แท้จริงสิ่งที่เคยเชื่อนั้นสมควรที่จะเชื่อต่อไปหรือไม่
ตัวอย่างเดิม คือพวกอามิช ในที่สุด พวกเขาก็ยอมรับว่า สิ่งที่พวกเข้าคิดว่าเป็นของเก่า ไม่ตามสมัยเทคโนโลยี แท้จริงก็เป็นเทคโนโลยีเช่นกัน อย่างน้อยที่สุดคือ “ล้อรถ” ที่เป็นเทคโนโลยีจากอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ให้เดินทางไปทำสงครามระหว่างอาณาจักรได้ง่ายขึ้น
หรือกระทั่งการยอมให้อินเทอร์เน็ตเข้าถึงบางส่วน “เพื่อการค้าขาย” ไม่อย่างนั้นพวกเขาก็ดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้
นับว่า ความเชื่อนั้น บางทีก็อาจจะพ่ายแพ้ “เรื่องปากท้อง” อยู่ไม่น้อยเช่นกัน
Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ Delusions and other irrational beliefs
บทความ The Development of Epistemological Theories: Beliefs About Knowledge and Knowing and Their Relation to Learning
บทความ Scientific faith: Belief in science increases in the face of stress and existential anxiety
บทความ “Mobile internet is worse than the internet; it can destroy our community”: Old Order Amish and Ultra-Orthodox Jewish women’s responses to cellphone and smartphone use
https://www.frontiersin.org/journals/psychology/articles/10.3389/fpsyg.2022.981925/full
ข่าวแนะนำ