TNN รู้จัก "เห็ดขี้ควาย" หนึ่งในยาเสพติดประเภทที่ 5 กินแล้วเมา ประสาทหลอน

TNN

TNN Exclusive

รู้จัก "เห็ดขี้ควาย" หนึ่งในยาเสพติดประเภทที่ 5 กินแล้วเมา ประสาทหลอน

รู้จัก เห็ดขี้ควาย หนึ่งในยาเสพติดประเภทที่ 5 กินแล้วเมา ประสาทหลอน

ทำความรู้จัก "เห็ดขี้ควาย" หนึ่งในยาเสพติดประเภทที่ 5 กินแล้วเมา ประสาทหลอน ผลิต ขาย นำเข้า หรือ ส่งออก มีโทษหนัก

เห็ดขี้ควาย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Psilocybe cubensis Sing  วงศ์ Strophariaceae  สารเคมีที่สำคัญในเห็ดขี้ควาย มี 2 ชนิด คือ psilocybine และ psilocine  ซี่งเมื่อ psilocybine  เข้าร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็น psilocine ทั้ง psilocybine และ psilocine ไม่มีประโยชน์ทางการแพทย์ มีขึ้นอยู่ทั่วไปในแทบทุกภาคของประเทศไทย เห็ดชนิดนี้ชอบขึ้นเป็นดอกเดี่ยวกลุ่มละ 4-5 ดอก บนพื้นดินที่มีมูลสัตว์พวกมูลวัว มูลควายแห้ง


ลักษณะเห็ดขี้ควาย 


-หมวกเป็นรูปกระทะคว่ำแล้วแบนลง เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.5 - 8.8 เซนติเมตร ผิวสีฟางข้าวอมเหลือง กลางหมวกมีสีน้ำตาลอมเหลือง มีเกล็ดเล็กๆ กระจายออกไปยังขอบหมวก ขอบมีริ้วสั้นๆ โดยรอบ ครีบสีน้ำตาลดำ ส่วนกลางกว้างกว่า ปลายทั้งสองข้าง ไม่ยึดติดกับก้าน

-ก้าน ยาว 4.5-8 เซนติเมตรความสูงของลำต้นประมาณ 5.5-8 ซม. โคนใหญ่กว่าเล็กน้อย


-สปอร์ รูปรี สีน้ำตาลดำ ผนังหนา ผิวเรียบ ด้านบนมีปลายตัดเป็นรูเล็ก ๆ 


การเสพ มีผู้นำไปเสพทั้งรูปแบบสดและแห้ง บางครั้งนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารหรือเครื่องดื่ม เช่น ไข่เจียวเห็ด และเห็ดปั่นผสมเหล้า หรือคอกเทลสำหรับใช้เสพ ในกลุ่มนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ตามคนทั่วไปมักทราบ และรู้ว่าเห็ดนี้ เป็นเห็ดพิษ รับประทานแล้วจะมึนเมา จึงไม่มีการนำมารับประทาน

อาการผู้เสพ : เมื่อบริโภคเข้าไปจะทำให้มีอาการเมา เคลิบเคลิ้มและบ้าคลั่งในที่สุด เนื่องจากสาร psilocybine และ psilocine มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน เห็นภาพแสงสีต่างๆ ลวงตา เช่น เห็นแมงมุมหรือสัตว์ประหลาดลงไปในท้อง รู้สึกมีเข็มมาทิ่มแทงตามตัว ได้ยินเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า สับสน ไม่สามารถลำดับทิศทางได้ มีความคิดและอารมณ์เปลี่ยนแปลง มีอาการคล้ายผู้ที่เสพ LSD คนที่ใช้มานานๆ จะเพลินต่อความรู้สึกต่างๆ ร่างกายจะเกิดการต้านยา ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเรื่อยๆ


ดังนั้น หากรับประทานเห็ดขี้ควายโดยไม่ได้ตั้งใจ จำเป็นต้องรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม มิฉะนั้นอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้

การควบคุมตามกฎหมาย


สำหรับในประเทศไทย “เห็ดขี้ควาย หรือ เห็ดวิเศษ” ดอกเห็ด ก้านเห็ด สปอร์ของเห็ด จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา ๒๙ ประกอบประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565


ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,00 บาท ทั้งนี้ ตามมาตรา 93 ประกอบมาตรา 148 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด


ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตามมาตรา 104 ประกอบมาตรา 162 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด


ดังนั้น ถึงแม้ว่า เห็ดขี้ควาย จะเป็นยาเสพติดในประเภท 5 มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทของผู้เสพ ทําให้ผู้เสพมีอาการมึนเมา เคลิบเคลิ้ม และประสาทหลอน แต่ขณะเดียวกันเห็ดดังกล่าวก็อาจมีประโยชน์ต่อ
วงการแพทย์และเป็นพืชเศรษฐกิจได้หากมีการนําไปใช้อย่างถูกวิธี อาจกล่าวได้ว่าเห็ดขี้ควายจะมี ประโยชน์หรือมีโทษย่อมขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ 


ดังนั้น มาตรการทางกฎหมายที่ใช้ในการควบคุมเห็ดขี้ควายจึงควรเป็นการควบคุมเฉพาะการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านยาเสพติดเท่านั้น


รับประทานเห็ดอย่างไรให้ปลอดภัย ?

-เลือกซื้อเห็ดจากแหล่งที่เชื่อถือได้หรือแหล่งที่มีการเพาะเอง ไม่ควรเก็บเห็ดมารับประทานเองถ้าไม่มีความรู้เกี่ยวกับเห็ดนั้นดีพอ
-ควรทราบว่าเห็ดที่มีลักษณะปกติสีไม่ฉูดฉาดก็อาจมีพิษได้ ไม่ควรรับประทานเห็ดที่ไม่รู้จัก
-ทำความสะอาดเห็ดให้สะอาดก่อนนำมาปรุงอาหาร ไม่ควรนำเห็ดที่เน่าเสียมาปรุงอาหาร
-ปรุงเห็ดให้สุกทุกครั้งก่อนรับประทาน แต่ควรทราบไว้ว่าพิษของเห็ดบางชนิดนั้นไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน
-หลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์




ขอบคุณข้อมูลจาก

กองควบคุมวัตถุเสพติด 

วุฒิสภา 

กระทรวงยุติธรรม 

รพ.สินแพทย์

ข่าวแนะนำ