โลกเดือดและภัยแล้งเสี่ยงทำไทยเสียแชมป์ “ทุเรียน” เวียดนามชิงตลาดจีนไปครอง
อากาศที่ร้อนจัดทั่วไทย และภัยแล้ง กำลังส่งผลกระทบต่อสวนทุเรียนอย่างหนัก จนเจ้าของยอมรับว่า หากโลกร้อนต่อไปอีกเช่นนี้ กิจการคง “จบ” บางคนขาดทุนหนักจนต้อง “ขายสวนทิ้ง”
คนสวนทุเรียนใน จ.จันทบุรี กำลังขะมักเขม้นตัดทุเรียนจากต้นสูง 15 เมตร โยนลงมาให้เพื่อนร่วมงานที่รอรับข้างล่าง
ทุเรียน ราชาแห่งผลไม้ ที่เป็นที่นิยมไปทั่วโลก จากกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ ที่หากใครชอบก็จะหลงรัก ส่วนคนที่ทนไม่ไหว ก็อาจเมินหนีไปเลย แต่ไม่ว่าอย่างไร ทุเรียน ถือเป็นผลไม้ส่งออกอันดับต้น ๆ ของไทยในทุกปี
แต่วิกฤตคลื่นความร้อนที่ร้อนแรงที่ปกคลุมทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้ ทำให้ผลผลิตออกมาต่ำกว่าที่ควร และราคาทุเรียนผันผวน จนผู้ปลูกและผู้ขายเกิดความกังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ
“ปีนี้เป็นปีที่วิกฤตมาก ถ้าอนาคตเกิดสภาวะโลกร้อนอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จบอย่างเดียว” บุษบา นาคพิพัฒน์ เจ้าของสวนทุเรียนในจันทบุรี ยอมรับ
หน้าทุเรียน ปกติจะเริ่มตั้งแต่มีนาคม ไปสุดที่มิถุนายน แต่อุณหภูมิที่พุ่งสูง โดยในจันทบุรี อุณหภูมิอยู่ที่ราว 40 องศาเซลเซียส ติดต่อกันหลายสัปดาห์ ตามมาด้วยภัยแล้ง ทำให้ฤดูเก็บเกี่ยวสั้นลง
บุษบา อธิบายว่า เพราะความร้อนทำให้ทุเรียน ที่ตีราคาตามน้ำหนักและขนาด สุกเร็วขึ้น ทั้งที่ยังเติบโตไม่ได้ขนาดที่พอเหมาะ จนเรียกราคาได้ดีเหมือนเดิม “คุณภาพของทุเรียนจึงต่ำกว่ามาตรฐาน”
ไม่เพียงเท่านั้น ต้นทุนการผลิตก็พุ่งสูงด้วย เพราะเธอเล่าต่อว่า น้ำแล้งหนักจนต้องซื้อรถบรรทุกน้ำ มาให้น้ำทุเรียน
“ถ้าเราซื้อรถบรรทุกน้ำ 10 เที่ยว เราจะได้น้ำประมาณ 120,000 ลิตร ที่เราจะลดน้ำได้ทั้งสวน 10 ไร่ เราจะลดได้แค่ครั้งเดียว” เธออธิบาย “เราต้องอ้อนวอนขอฝน แต่มันไม่มีฝน”
ข้ามมาที่ผู้ขายทุเรียนตามท้องตลาด แม้ตอนนี้ ธุรกิจยังทรงตัวอยู่ได้จากความต้องการทุเรียนจากตลาดจีน แต่อากาศร้อนอย่างนี้ต่อไป ธุรกิจของเธออาจจะแย่
“ถ้าเกิดอากาศยิ่งร้อน ปีหน้า ทุเรียนก็น่าจะน้อยลง ยิ่งทุเรียนน้อย เรามีรายได้แค่ 4-5 เดือน พอทุเรียนน้อย เราก็ได้ทุเรียนน้อยลง จะอยู่กันไม่ครบปี” สิริวรรณ รูปแก้ว ผู้ขายผลไม้ กล่าว
สำหรับผู้ปลูกทุเรียนบางราย ตอนนี้ วิกฤตหนักถึงกับต้องเริ่มคิดขายสวนทุเรียนทิ้งแล้วก็มี
ประเทศไทยส่งออกทุเรียน 95% ไปประเทศจีน โดยเมื่อปี 2566 ไทยส่งออกทุเรียนไปจีนมากเกือบ 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์จีน
แต่วิกฤตสภาพอากาศทำให้ไทยกำลังเสียแชมป์ส่งออกทุเรียนไปจีน โดยไม่กี่วันที่ผ่านมา สื่อของรัฐบาลจีนรายงานว่า จีนนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามเพิ่มขึ้นเกือบ 50% จากวิกฤตโลกเดือดในไทย ที่กระทบปริมาณและคุณภาพ
ด่านมิตรภาพบนพรมแดนจีน-เวียดนาม ณ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ได้รับรองการนำเข้าทุเรียนสดในไตรมาสแรก ของปีนี้ คือตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2567 มียอดรวม 48,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.85 พันล้านหยวน หรือ ราว 9.25 พันล้านบาท
ปริมาณการนำเข้าทุเรียนสดดังกล่าวแบ่งเป็น นำเข้าจากเวียดนาม 35,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.1 เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นมูลค่า 1.28 พันล้านหยวน หรือ ราว 6.4 พันล้านบาท และ นำเข้าจากไทย 13,000 ตัน ลดลงร้อยละ 59.5 คิดเป็นมูลค่า 570 ล้านหยวน หรือ ราว 2.85 พันล้านบาท
ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ชี้ว่า สถานะ “ผู้นำ” ของทุเรียนไทยในตลาดจีนอาจสั่นคลอน และเผชิญกับการแข่งขันอย่างดุเดือด
ข่าวแนะนำ