TNN สรุปปมยืดเยื้อ 49 ปี ‘จุฬาฯ’ เรียกคืนที่ตั้ง ‘อุเทนถวาย’ ต้องย้ายออกหรือได้อยู่ต่อไป?

TNN

TNN Exclusive

สรุปปมยืดเยื้อ 49 ปี ‘จุฬาฯ’ เรียกคืนที่ตั้ง ‘อุเทนถวาย’ ต้องย้ายออกหรือได้อยู่ต่อไป?

สรุปปมยืดเยื้อ 49 ปี ‘จุฬาฯ’ เรียกคืนที่ตั้ง ‘อุเทนถวาย’ ต้องย้ายออกหรือได้อยู่ต่อไป?

สรุปปมยืดเยื้อ 49 ปี ‘จุฬาฯ’ เรียกคืนที่ตั้ง ‘อุเทนถวาย’ ต้องย้ายออกหรือได้อยู่ต่อไป?


ปมปัญหานี้เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานไม่น้อยกว่า 49 ปี นับตั้งแต่ปี 2518 ที่ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะเจ้าของที่ดินพยายามเรียกคืนพื้นที่ 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย หรือ อุเทนถวาย ซึ่งได้ทำสัญญาเช่าที่ดินเป็นเวลา 68 ปีตั้งแต่ปี 2478-2546 เพื่อขยายเขตพื้นที่การศึกษา..ซึ่งแน่นอนว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา 49 ปีการเจรจาใดๆล้วนไม่เป็นผล อุเทนถวายไม่ย้ายออก


จนในวันนี้ 27 กุมภาพันธ์ 2567 กลุ่มนักศึกษาศิษย์เก่าและปัจจุบันของอุเทนถวายตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกกว่า 2,000 คนได้นัดหมายรวมพลไปพบผู้แทนจุฬาลงกรณ์ และยื่นหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นางศุภมาส อิศรภักดี ในฐานะ ประธานการประชุมหารือเพื่อดำเนินการตามคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการย้ายอุเทนถวายออกจากพื้นที่จุฬาฯ..เพื่อหาทางออกอีกครั้ง




ทำความรู้จัก อุเทนถวาย


มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย เป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เดิมชื่อว่า "โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย" ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 225 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 


ก่อตั้งขึ้นโดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2477 โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนเพาะช่าง แผนกช่างก่อสร้าง ปัจจุบันเปิดสอนสาขาวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์

 

พื้นที่ของอุเทนถวายทำการเช่าที่ดินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2478 ทางจุฬามีการเจรจาขอคืนในปี 2518 เนื่องด้วยแผนพัฒนาศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืน กระทั่งในปี 2545 กรมธนารักษ์ได้มีการจัดหาพื้นที่ใหม่ให้อุเทนถวายจำนวน 35 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่กรมการบินพลเรือนและเป็นที่ราชพัสดุ บริเวณ ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจัดสรรงบเพื่อก่อสร้างและขนย้าย 200 ล้านบาทให้



สรุปปมยืดเยื้อ 49 ปี ‘จุฬาฯ’ เรียกคืนที่ตั้ง ‘อุเทนถวาย’ ต้องย้ายออกหรือได้อยู่ต่อไป?

โรงเรียนช่างก่อสร้างแห่งแรกในประเทศไทย
https://uthen-enar.rmutto.ac.th/

 



ทางอุเทนถวายได้ทำข้อตกลงกับจุฬาฯเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2547 ว่าจะขนย้ายและส่งมอบให้แก่จุฬาภายในวันที่ 30 กันยายน 2548 หากจำเป็นผ่อนผันได้ไม่เกิน 1 ปี ต่อมาในปี 2548 มีการทำบันทึกข้อตกลงว่าอุเทนถวายจะย้ายไปก่อสร้างที่ใหม่ บริเวณบางพลี จ.สมุทรปราการ พร้อมทั้งนี้จะย้ายบุคลากรและนักศึกษาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 แต่การย้ายยังติดขัดปัญหาและเป็นไปอย่างล่าช้า


กระทั่ง ปี 2550 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง(กยพ.) ซึ่งระหว่างนั้นสโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา 2 ครั้ง และปี 2552 กยพ.มีมติชี้ขาดให้อุเทนถวายขนย้ายทรัพย์สินและคืนพื้นที่ให้จุฬาฯ และชำระค่าเสียหายปีละล้านบาทเศษ จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่เสร็จ 


ส่วนผลการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือยืนยันผลชี้ขาดตามมติของ กยพ. ต่อมาในเดือนธันวาคม 2565 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้อุเทนถวายย้ายออกจากพิ้นที่ โดยจะต้องดำเนินการภายใน 60 วันหลังจากมีคำสั่ง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.1052/2565)




คนกลางคนล่าสุดที่อาจเป็นคนสุดท้าย


นางศุภมาส ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) คนล่าสุดจากรัฐบาล นายเศรษฐา พยายามตั้งหลักหาทางออกแบบที่พอจะรับได้ทั้งสองฝ่าย หรือเรียกว่า Win-Win 

 

ซึ่งควบคู่ไปกับที่ตัวแทนศิษย์ปัจจุบันได้พยายามยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรี อว. มาเสมอเพื่อขอร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเพื่อช่วยดูแลกรณีอุเทนถวาย และ ขอความเป็นธรรมให้กับสถาบันฯ

 

 “จะเป็นคนกลาง ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยยึดหลักนิติธรรม ซึ่งในทางกฎหมายมีคำสั่งให้ย้ายออกจากพื้นที่แล้ว แต่ก็ต้องยึดนักศึกษาเป็นศูนย์กลางด้วย เรื่องการเยียวยานักศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะอุเทนถวายถือเป็นสถาบันเก่าแก่ มีองค์พระวิษณุเป็นที่เคารพ และมีอาคารเก่า หากต้องขยับขยายจึงต้องมานั่งคุยกันว่าจะทำอย่างไร”


เป็นชุดข้อความสุดท้ายจากรัฐมนตรีคนกลางคนล่าสุดที่มีให้ตัวแทนศิษย์เก่า ในการหารือเกี่ยวกับทางออกปมปัญหาดังกล่าวในช่วงเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา


นับจากนี้เรายังต้องติดตามต่อว่าปมยืดเยื้อที่มีมาอย่างยาวนานจะสิ้นสุดที่ตรงไหน 


หากคำตอบสุดท้ายคือ ‘ตั้งอยู่’ ในพื้นที่เดิม ทางสถาบันฯเองก็ยังมีโจทย์หนักที่ต้องแก้ให้ได้คือเรื่องการใช้ความรุนแรง การทะเลาะวิวาทระหว่างนักเรียนต่างสถาบันที่อยู่ไม่ไกลกัน เพราะต้องยอมรับตามตรงว่าอีกหลายฝ่ายก็มองว่าการที่อุเทนถวาย ย้ายออกจากพื้นที่ไม่ใช่แค่เรื่องการรักษาสัญญาแต่เป็นการรักษาความสงบในพื้นที่ด้วย


แต่หากเป็นคำตอบตรงข้ามกัน นี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ของสถาบันการช่างแห่งนี้และเป็นโจทย์ที่รัฐบาลจะต้องตามดูแลอย่างใกล้ชิดในการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลบุคลากรและนักศึกษาทั้งหมดใหม่อีกครั้ง 






ภาพ : https://uthen.rmutto.ac.th/  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่อุเทนถวาย.

ข่าวแนะนำ