โลกจับตา “จีน-สหรัฐฯ” เปิดเวทีกระชับสัมพันธ์ในไทย
“การพบปะกันระหว่าง นายหวัง อี้ นักการทูตหมายเลข 1 ของจีน กับ นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ระหว่าง วันที่ 26-27 ม.ค.2567 ในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทย เกิดขึ้นท่ามกลางการจับตาของทั่วโลก คาดว่า จะมีการหารือในหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี รวมถึงประเด็นร้อนกรณีไต้หวัน”
เป็นปรากฏการณ์การเมืองระดับโลกที่ไม่ได้เห็นบ่อยนัก กับกรณีที่ผู้แทน 2 ชาติมหาอำนาจอย่างจีน และสหรัฐฯ จะใช้ประเทศไทยเป็นเวทีในการพบหารือ แต่เหตุการณ์นี้กำลังเกิดขึ้น เมื่อ “เจค ซัลลิแวน” ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาว สหรัฐฯ และ “หวัง อี้” สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการกลางด้านการต่างประเทศพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน มีกำหนดพบหารือกันในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทย ในช่วงสุดสัปดาห์นี้
แน่นอนว่าทั่วโลกต่างจับตาความเคลื่อนไหวนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากการประชุมระดับทวิภาคีดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะการโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง ของกบฏฮูตี ซึ่งสหรัฐฯ คาดหวังว่า จีนจะใช้อิทธิพลที่มีเหนืออิหร่านแก้ไขปัญหาในประเด็นดังกล่าว เพราะอิหร่านถือเป็นผู้สนับสนุนหลักสำคัญที่สุดของกลุ่มฮูตี โดยเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา “จอห์น เคอร์บี” โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ แถลงว่า สหรัฐฯ หวังว่าจีนจะมีบทบาทมากขึ้นกับอิหร่าน เนื่องจากมีความสามารถในการสนทนากับผู้นำอิหร่าน เพื่อพยายามขัดขวางการไหลเวียนของอาวุธและยุทโธปกรณ์ไปยังกลุ่มฮูตี
ด้าน กระทรวงการต่างประเทศจีน ออกแถลงการณ์ระบุว่า “หวัง อี้” จะพบกับ “เจค ซัลลิแวน” เพื่อหารือในหลากหลายประเด็น ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ และข้อพิพาทเกี่ยวกับสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งในการประชุมครั้งใหม่นี้จีนจะแสดงจุดยืนในเรื่องนี้อย่างชัดเจน รวมทั้งจะมีการแลกเปลี่ยนมุมมองอื่นๆ เกี่ยวกับผลประโยชน์ร่วมกันในประเด็นระหว่างประเทศและในภูมิภาค การพบปะกันระหว่างนักการทูตหมายเลข 1 ของจีน ซึ่งเป็นมือขวา ของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และ ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติจากทำเนียบขาว นับเป็นการสานต่อการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน นอกรอบการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ซึ่งจัดขึ้นที่นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐฯ เมื่อเดือน พ.ย. 2566
ด้านกระทรวงกลาโหมไต้หวัน รายงานว่า เครื่องบินรบของจีนจำนวน 23 ลำ ได้ทำการบินใกล้เกาะไต้หวัน เมื่อวันศุกร์ที่ 26 ม.ค.2567 โดยทำการลาดตระเวนเพื่อเตรียมความพร้อมร่วมกับเรือรบของจีน ก่อนที่จีนและสหรัฐฯ จะมีการเจรจาทวิภาคีที่ประเทศไทย พร้อมอ้างว่า ตรวจพบเครื่องบินรบของจีนจำนวน 23 ลำ ซึ่งรวมถึงเครื่องบินขับไล่ Su-30 และโดรน ได้ทำการบินนอกน่านน้ำทางตอนเหนือและตอนกลางของไต้หวัน ซึ่งทางการไต้หวัน ยังอ้างว่า เครื่องบินรบของจีนจำนวน 13 ลำได้ล้ำเส้น median line ในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นกั้นเขตแดนอย่างไม่เป็นทางการระหว่างจีนกับไต้หวัน แม้ว่าที่ผ่านมาจีนไม่เคยยอมรับการมีอยู่ของเส้นดังกล่าว
ด้านนางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงบทบาทของไทยในการเป็นเวทีกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจในครั้งนี้ว่า ประเทศไทยยินดีที่ทั้ง 2 ฝ่ายเลือกไทยเป็นสถานที่ในการหารือ ซึ่งไทยไม่ได้มีบทบาทในการมีส่วนทำให้เกิดการหารือครั้งนี้ แต่ก็เชื่อมั่นว่าการพูดคุยจะส่งผลให้เกิดความสงบ ความมั่นคง และการพัฒนาของประเทศในภูมิภาครวมถึงในเวทีโลกด้วย อย่างไรก็ตาม นายซัลลิแวน ยังใช้โอกาสนี้เข่าพบหารือกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีการหารือกันเกี่ยวกับความร่วมมือด้านความมั่นคง พลังงานสะอาด การค้า และวิกฤตการณ์ในเมียนมา ขณะที่ นายหวัง อี้ ก็มีกำหนดจะเข้าพบผู้นำของไทยเช่นกัน โดยมีไฮไลท์คือการลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทย-จีน ในการยกเว้นการตรวจลงตรา หรือ” วีซ่าฟรีถาวร” ซึ่งกันและกัน สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาและหนังสือเดินทางกึ่งราชการ
ด้าน สถานทูตสหรัฐฯ และสถานกงสุลในประเทศไทย เผยแพร่ถ้อยแถลงจากการประชุมระหว่าง “เจค ซัลลิแวน” กับ นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” รวมถึงการประชุมกับนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่า สหรัฐฯ ยืนยันความสำคัญของความเป็นพันธมิตรทางสนธิสัญญาและความร่วมมือระหว่างสหรัฐกับไทย ตลอดจนหารือเกี่ยวกับโอกาสในการเสริมสร้างความร่วมมือในประเด็นต่างๆ ในระดับทวิภาคีและระดับโลก ซึ่ง นายซัลลิแวน ยืนยันความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน เร่งการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตพลังงานสะอาด ขยายความร่วมมือด้านความมั่นคง พร้อมส่งเสริมภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง โดยสหรัฐฯ มีความมุ่งมั่นแน่วแน่ต่อความเป็นแกนกลางของอาเซียน รวมทั้งมีการหารือถึงความสำคัญของประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และการทำให้แน่ใจว่าประชาชนทุกคนสามารถมี ส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองได้อย่างเสรี
ส่วนประเด็นระดับภูมิภาคและระดับโลก ทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมา และยินดีกับการยกระดับการดำเนินงานที่สำคัญตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน ไม่เพียงเท่านี้ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงสหรัฐฯ ยังเห็นพ้องกับแผนการที่จะเพิ่มความถี่ในการหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ และไทย ซึ่งรวมถึงการหารือยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศระหว่างสหรัฐฯ กับไทย (U.S.-Thailand Strategic and Defense Dialogue) ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยจะดำเนินการต่อยอดความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี 190 ปี เพื่อเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรและความร่วมมือระหว่างกันต่อไป
แน่นอนว่า หลากหลายความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทำให้ประเทศไทย กลายเป็นจุดสนใจของทั่วโลก โดยเฉพาะการวางความสัมพันธ์กับ สหรัฐฯ และจีน ซึ่งรัฐบาลไทย โดย นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ย้ำมาตลอดว่า ไทยมีจุดยืนอยู่ตรงกลาง และให้น้ำหนักความสัมพันธ์กับทุกฝ่ายเท่าเทียมกัน สิ่งสำคัญคือการดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงระหว่างประเทศอย่างสมดุล โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ “ประเทศไทย” ยืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างสง่างาม
เรียบเรียงโดย ปุลญดา บัวคณิศร
ข่าวแนะนำ