เปิดโทษคดี “พรากผู้เยาว์” แม้เด็กยินยอมก็ “ติดคุก”
“กรณีการพาผู้เยาว์อายุ 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ไปเพื่อการอนาจาร แม้เด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ตาม มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี”
กลายเป็นข่าวดังชั่วข้ามคืน เมื่อนักกีฬาคนดังระดับประเทศรายหนึ่ง ถูกเยาวชนหญิงวัย 17 ปี เข้าแจ้งความว่า ถูกนักกีฬารายดังกล่าว ลวนลามและกระทำอนาจาร หลังจากที่ทั้งคู่ เจอกันในสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง ใน จ.ขอนแก่น
หลังจากข่าวนี้ถูกเปิดเผยออกมา ก็มีกลายกระแส แต่ถ้ากรณีนี้มีการล่วงละเมิดทางเพศจริง งานนี้นักกีฬาคนดัง คงจะต้องถูกดำเนินคดีฐาน “พรากผู้เยาว์”
แต่งานนี้ คงต้องดูกันอีกยาว เพราะล่าสุดนักกีฬาคนดัง ถูกตำรวจแจ้ง 4 ข้อหา แต่เจ้าตัวปฏิเสธ และขอชี้แจงความบริสุทธ์ของตนเอง ดังนั้นพนักงานสอบสวนจึงต้องรอพยานหลักฐานเพิ่ม เพื่อนำมาประกอบพิจารณาคดีต่อไป
คดี“พรากผู้เยาว์” เกิดขึ้นทั่วโลก และแต่ละประเทศก็มีกฏหมายที่แตกต่างกันออกไป
ในเมืองไทย ก็มีกฏหมายที่คุ้มครองเยาวชนที่ถูก “พรากผู้เยาว์” เช่นกัน และเพื่อให้เข้าใจในข้อกฏหมายของไทย และให้เกิดความกระจ่างชัด การ“พรากผู้เยาว์”คือ การพาหรือแยกเด็กหรือผู้เยาว์ ออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน โดยบิดามารดาไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดา
การพรากผู้เยาว์ ถือเป็น “ความผิดทางอาญา” ซึ่งมักจะเกี่ยวกับเรื่องเพศ โดยความผิดฐานพรากผู้เยาว์ที่ขึ้นสู่ชั้นศาลเป็นจำนวนมาก มักเป็นคดีพรากร่วมกับข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา, พาไปเพื่อการอนาจาร, หรือพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ มีกฏหมายหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 318 ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือ ผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 บาท ถึง 200,000 บาท
ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 319 วรรคแรก ผู้ใดพากผู้เยาว์อายุมากกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือ ผู้ดูแล เพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 ถึง 200,000 บาท
นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 278 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่า 15 ปี โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยที่บุคคลนั้นไม่อาจขัดขืนได้มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท
กรณีการพาผู้เยาว์อายุ 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ไปเพื่อการอนาจาร แม้เด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ตาม ระวางโทษทั้งจำและปรับ
“ความผิดฐานพรากผู้เยาว์” ถือเป็นความผิดที่ผู้กระทำ ได้กระทำต่อเสรีภาพของผู้เยาว์ ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ถือเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ แม้ผู้เสียหายจะไม่ได้ฟ้องหรือร้องทุกข์เอาผิดตัวผู้กระทำ แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ตำรวจสามารถจับตัวผู้กระทำให้มารับโทษทางอาญาได้
ดังนั้นใครที่กระทำผิดในคดีดังกล่าว จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม หากพบว่า มีความผิดจริง งานนี้มีโอกาส “ติดคุก” แน่.
มนตรี ขัดเรือง : เรียบเรียง