“ธุรกิจพลังงาน” พยุงเศรษฐกิจขาลง เวียดนามรักษาเท่าชีวิต
ในเวลาที่ภาคส่งออกเวียดนามไม่ทำกำไร เวียดนามยังเหลือธุรกิจที่พึ่งพาได้ นั่นคือธุรกิจพลังงาน ซึ่งยังคงทำกำไรมหาศาลในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 แม้หลายปีที่ผ่านมาจะเกิดความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซที่อยู่ตรงหน้าบ้านเวียดนาม ขณะเดียวกันธุรกิจพลังงานเวียดนามก็แสวงหาทางเติบโตนอกบ้าน โดยล่าสุดเอกชนเวียดนามเครียมรุกคาซัคสถานลงทุนด้านพลังงาน นำโดย Sovico กรุ๊ป และเปโตรเวียดนาม
ธุรกิจพลังงานพยุงเวียดนามขาลง
ราจีฟ บิสวาร์ นักวิเคราะห์จาก เอสแอนด์พีโกลบอล บริษัทที่ให้บริการด้านข้อมูลธุรกิจและการเงิน ให้ข้อมูลเศรษฐกิจเวียดนามว่า
GDP ของเวียดนามที่เคยเติบโตสูงถึง ร้อยละ 8 ในปี 2565
ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 ตกลงเหลือเพียงร้อยละ 3.7
ปัจจัยหลักคือ ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกของเวียดนาม ชะลอตัวลงมากเนื่องจากคำสั่งซื้อจากในการส่งออกตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรปลดลงเป็นอันมาก โดยการส่งออกไปยังสหรัฐและยุโรปคิดเป็นร้อยละ 40 ของการส่งออกเวียดนาม การส่งออกที่ลดลงจึงส่งผลทำให้ภาคการผลิตของเวียดนามชะลอตัวลงมาก
ในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่หลายโรงงานทยอยปลดคนงานลงตั้งแต่ปลายปี 2565 นอกจากนี้เวียดนามยังเผชิญปัญหาระยะสั้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเมื่อเวียดนามไฟฟ้าไม่เพียงพอ ส่งผลต่อเขตอุตสาหกรรมที่ต่างชาติเข้าลงทุน อีกด้วย
เปโตรเวียดนาม ทำกำไรมหาศาลในครึ่งปีแรกสวนทางภาคส่งออก
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกชะลอตัว แต่ภาคธุรกิจพลังงานกลับอยู่ในขาขึ้น สำนักข่าวเวียดนามนิวส์รายงานว่า
ผลประกอบการของ เปโตรเวียดนาม ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติเวียดนาม พบว่าในธุรกิจไฟฟ้าสามารถผลิตได้กว่า 14,900 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.3 จากปี 2565 และได้ปริมาณน้ำมันจากการขุดเจาะถึง 6.2 ล้านตัน ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 จากปี 2565
ในภาคส่วนโรงแยกก๊าซ ได้ปริมาณพลังงาน 4,800 ลูกบาศก์เมตร
ได้แอมโมเนีย 1 ล้านตัน สูงขึ้นร้อยละ 3 จากปีก่อนหน้า
ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม มีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.3 เข้าเป้า 4.2 ล้านต้น
ทำให้ในช่วง 7 เดือนแรก บริษัท เปโตรเวียดนามมีผลประกอบการรวมสุทธิ 20,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 737,770 ล้านบาท
โดยแน่นอนว่าหัวใจการผลิตพลังงานของเวียดนาม วางไว้อยู่ที่ทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นแหล่งขุดเจาะและสำรวจที่สำคัญของเวียดนาม ที่นอกจากเวียดนามจะดำเนินกิจการสำรวจและขุดเจาะเองแล้วยังให้สัมปทานกับต่างประเทศเข้ามาทำธุรกิจพลังงานในอาณาเขตทะเลจีนใต้ที่เวียดนามถือกรรมสิทธิ์ไว้อีอีกด้วย
ทะเลจีนใต้ แหล่งทรัพยากรหลักเวียดนาม
กรมข้อมูลข่าสารสหรัฐฯ ได้ประเมินว่าในทะเลจีนใต้เป็นแหล่งพลังงานใหญ่ มีก๊าซธรรมชาติกว่า 190 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และมีน้ำมันกว่า 11,000 ล้านบาเรล โดยแหล่งน้ำมันส่วนใหญ่ทอดตัวอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ในหมู่เกาะเล็กๆ และแนวปะการัว โดยจากการสำรวจทางธรณีวิทยาในปี 2555 สหรัฐฯ พบว่า มี ก๊าซธรรมชาติที่ยังไม่ได้ขุดค้นพบกว่า 160 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และมีน้ำมันกว่า 12,000ล้านบาเรล์ ขณะที่จีนประเมินไว้สูงกว่านั้น
รัสเซีย เกาหลีใต้ ลงทุนพลังงานในเวียดนาม
พลังงานปริมาณมหาศาลในทะเลจีนใต้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความตึงเครียดในน่านน้ำทะเลจีนใต้ในหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจพลังงานเวียดนามที่พึงพาทะเลจีนใต้ยังคงเติบโตได้ดี ทั้งธุรกิจขุดเจาะและสำรวจ การขายน้ำมันและก๊าซ และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างการวางสายเคเบิลสื่อสารระหว่างแท่งขุดเจาะในทะเลและ สถานีชายฝั่ง และรวมไปถึงการให้สัมปทานต่างชาติเข้ามาแสดงหากำไรจากแหล่งขุดค้นในทะเลจีนใต้อีกด้วย เช่น
บริษัท เปโตรเวียดนาม เบียงดง POC ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ บริษัท GAZprom บริษัทพลังงานแห่งชาติรัสเซีย ร่วมมือกับ เปโตรเวียดนาม สำนักข่าว เวียดนามเอ๊กซ์เพลสรายงานว่า โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 บริษัทสร้างรายได้สุทธิราว 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 706,000 ล้านบาท
และ เมื่อ 21 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา Petrovietnam และ บริษัทพลังงานแห่งชาติของเกาหลีใต้ Korea National Oil Corporation (KNOC) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจของโครงการสำรวจและขุดเจาะแหล่งพลังงานบล็อก 15.1 ทางตอนใต้ของเวียดนามใกล้กับเมืองวุงเต่าและโฮจิมินห์ โดยเกาหลีใต้เป็นอีกประเทศหนึ่งซึ่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเวียดนามในหลานปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม Thilip Suppaiah ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท REDline ซึ่งทำธุรกิจด้านเคเบิลสื่อสารสำหรับระหว่างแท่งขุดเจาะในทะเลและ สถานีชายฝั่งซึ่งให้บริการแก่ ปตท สผ. และ Shell Brunei ให้ความเห็นผ่านเว็บไซต์ Off Shore Techology ว่าขณะนี้ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ยังขัดขวางการลงทุนของกลุ่มธุรกิจต่างชาติที่ต้องการลงทุนในธุรกิจสำรวจและขุดเจาะอยู่
เวียดนามรักษาธุรกิจพลังงานเท่าชีวิต
ดังนั้นในภาวะที่ธุรกิจการส่งออกและการผลิตในเวียดนามขาลง และธุรกิจพลังงานยังคงไปได้ดี จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อทางการเวียดนามปกป้องแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ที่เป็นพื้นที่หน้าบ้านของเวียดนาม
โดยล่าสุดเมื่อวันพฤหัสฯ ที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม ฟามถู่ฮัง ได้ออกมายืนยันอีกครั้งถึงจุดยืนของเวียดนาในการประกาศอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเกาะหงซา หรือหมู่เกาะพาราเซล และตรุงซา หรือหมู่เกาะสแปตลีย์ และปฎิเสธการอ้างกรรมสิทธิ์ทางทะเลของจีนที่ยึดเอาเส้นประ 9 เส้นซึ่งจีนได้กำหนดขอบเขตพื้นที่ทางทะเลในทะเลจีนใต้ไว้ และทับซ้อนกับอาณาเขตทางทะเลของเวียดนาม
การออกมายืนยันครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเมื่อที่สื่อมวลชนตั้งคำถามถึงท่าทีของเวียดนามที่มีต่อกรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติจีนได้ออกแผนที่ใหม่ ที่เรียกว่า “แผนที่มาตรฐาน ปี 2023” ซึ่งได้รวมเอา เกาะหงซา และตรุงซา เอาไว้ด้วยในอาณาเขตของจีน
เอกชนเวียดนาม เตรียมลงทุนคาซัคสถานด้านพลังงาน
คาซัคสถานเป็นอีกจุดหมายที่เวียดนามวางแผนเข้าลงทุน หลังจากที่ทั้งสองประเทศเป็นพันธมิตรกันมาอย่างยาวนาน โดยเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา ระหว่างการเดินทางเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของ คาสซิม โจมาร์ต โทคาเยฟ ประธานาธิบดีแห่งคาซัคสถาน ได้มีการหารือกับ โว วัน เทือง ประธานาธิบดีแห่งเวียดนาม และมีลงนามข้อตกลงสำคัญถึง 12 ฉบับ
โดยหนึ่งในนั้น คือ การลงนาม MOU หรือบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือด้านการลงทุนโครงการน้ำมันและก๊าซ ระหว่างบริษัท JSC NC KazMunayGas (คาซมุนเนก๊าซ ) และ Sovico Group กลุ่มทุนใหญ่ของเวียดนามซึ่งมีธุรกิจหลักคือ พลังงาน
นอกจากนี้ Hoang Quoc Vuong (หวง กว๊อก วูง) ประธานคณะกรรมการบริหารของ เปโตรเวียดนาม บรรษัทพลังงานแห่งชาติเวียดนามได้ขอเข้าพบและหารือกับประธานาธิบดีโทคาเยฟ แห่งคาซัคสถานในด้านโอกาสความร่วมมือด้านพลังงานและการขนส่ง ประธานาธิบดีโทคาเยฟจึงได้เสนอสิทธิพิเศษทางภาษี และสิทธิพิเศษด้านศุลกากร สำหรับนักลงทุนด้านการแปรรูปน้ำมันและแก๊ซ และโครงการขุดสำรวจ
คาซัคสถานมีธุรกิจหลัก คือ พลังงาน เป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันดิบมากเป็นลำดับที่ 9 ของโลก ในกลุ่มประเทศที่ไม่ได้อยู่ในอยู่ใน OPEC โดยส่งออกน้ำมันดิบร้อยละ 70 ไปยังยุโรปผ่านทางท่อส่งก๊าซ druzhba (ดรุสบา) ของรัสเซีย
ธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจที่กำไรสูงให้เวียดนามในเวลาที่ภาคการส่งออกอยู่ในภาวะขาลง ไม่เพียงเท่านั้นที่ตั้งของเวียดนามที่ใกล้กับแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในทะเลจีนใต้ ก็ทำให้ธุรกิจพลังงานเวียดนามมีโอกาสเติบโตสูง แต่การที่เวียดนามจะขึ้นเป็นผู้เล่นแถวหน้าในธุรกิจพลังงานเอเชียยังคงต้องรอการคลี่คลายของความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ในอนาคต