TNN สิทธิที่ขาดหายไปของ 'ไรเดอร์’ อาชีพที่ยังคงเสี่ยงทั้ง 'บนถนน' และ 'รายได้'

TNN

TNN Exclusive

สิทธิที่ขาดหายไปของ 'ไรเดอร์’ อาชีพที่ยังคงเสี่ยงทั้ง 'บนถนน' และ 'รายได้'

สิทธิที่ขาดหายไปของ 'ไรเดอร์’ อาชีพที่ยังคงเสี่ยงทั้ง 'บนถนน' และ 'รายได้'

สิทธิที่ขาดหายไปของ 'ไรเดอร์’ อาชีพที่ยังคงเสี่ยงทั้ง 'บนถนน' และ 'รายได้' พร้อมส่องสถานะ 'ไรเดอร์’ ทั่วโลก



‘ไรเดอร์’ หนึ่งในอาชีพบนความเสี่ยงบนท้องถนนที่ส่งมอบความสะดวกสบายด้วยการบริการส่งของและอาหารให้ลูกค้าโดยที่ไม่ต้องออกเดินทาง การเติบโตของ Food delivery ด้วยจำนวนไรเดอร์กว่า 4 แสนคนในปัจจุบัน มาพร้อมกับคำถามที่ว่า สวัสดิการที่คุ้มครองพวกเขาในฐานะ 'แรงงานอิสระ' นั้นครอบคลุมแล้วหรือไม่


สิทธิที่ขาดหายไปของ 'ไรเดอร์’ อาชีพที่ยังคงเสี่ยงทั้ง 'บนถนน' และ 'รายได้' ภาพ : TNNOnline 

 

 

 



จากกรณีเมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ไรเดอร์ และสมาชิกครอบครัวไรเดอร์ผู้เสียชีวิต ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน ขอให้ภาครัฐช่วยเจรจากับบริษัทแพลตฟอร์ม ให้มีการอำนวยความสะดวกและเยียวยาไรเดอร์ที่ประสบอุบัติเหตุระหว่างปฏิบัติงาน, ขอให้มีการตั้งกองทุนเงินทดแทนช่วยเหลือไรเดอร์ ระหว่างพักรักษาตัวจากอุบัติเหตุ และไม่สามารถไปทำงานได้ และเงินเยียวยาถ้ากรณีไรเดอร์เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติงาน


อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ไรเดอร์ยังมีช่องว่างในการเข้าถึงสวัสดิการ นั่นคือปัญหารูปแบบแรงงานสัมพันธ์ระหว่างไรเดอร์ และบริษัทแพลตฟอร์ม ซึ่งทางบริษัทแพลตฟอร์มจ้างงานไรเดอร์ในลักษณะของแรงงานอิสระ ไม่ได้นิยามเป็น "ลูกจ้าง" หรือแรงงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33 นอกจากนี้ การจ้างงานไรเดอร์ในฐานะแรงงานอิสระ โดยที่ไม่ได้นิยามเป็นลูกจ้าง ทำให้ไรเดอร์ประสบปัญหา เข้าไม่ถึงสิทธิแรงงาน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ตามหลักเสี่ยงภัยอันเกิดจากการทำงาน และบริษัทแพลตฟอร์มจะไม่ถูกบังคับต้องรับผิดชอบจ่ายค่าทดแทนความเสียหายแก่ลูกจ้าง หรือไรเดอร์ เกี่ยวกับอุบัติเหตุ การเจ็บป่วยด้วยโรค หรือการเสียชีวิตอันเกิดจากการทำงาน


สิทธิที่ขาดหายไปของ 'ไรเดอร์’ อาชีพที่ยังคงเสี่ยงทั้ง 'บนถนน' และ 'รายได้' ภาพ : TNNOnline 

 




‘เงินทดแทนการขาดรายได้’ สิทธิที่ขาดหายไปของไรเดอร์


จากการสำรวจของ Rocket Media Lab เมื่อปี พ.ศ. 2564 ว่าด้วยเรื่องสวัสดิการที่ไรเดอร์ต้องการมากที่สุด พบว่า ‘เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ’ คือสวัสดิการที่ไรเดอร์เลือกเป็นอันดับ 1 มากที่สุด คิดเป็น 26.06% 


สำหรับข้อเสนอเรื่อง กองทุนเงินทดแทนช่วยเหลือไรเดอร์ ระหว่างพักรักษาตัวจากอุบัติเหตุ และไม่สามารถไปทำงานได้ นั้น จากบทความวิจัย 'มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์มดิจิทัล: ศึกษากรณีธุรกิจรับส่งอาหารในประเทศไทย' ของ นายนันทพล พุทธพงษ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เผยแพร่ในวารสารรามคำแหง ฉบับนิติศาสตร์ ฉบับวันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.66 ได้ประมวลถึงข้อเสนอนี้ไว้น่าสนใจว่า เมื่อไรเดอร์ประสบอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงานรับส่งอาหาร ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มไม่ได้เข้ามารับผิดชอบด้วยเพราะแพลตฟอร์มอ้างว่าไรเดอร์มิใช่ลูกจ้างไม่สามารถใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537 จึงไม่ได้มีการส่งเงินเข้ากองทุนเงินทดแทน ไรเดอร์จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเงินทดแทน 


ด้วยเหตุนี้ ไรเดอร์ จึงต้องรักษาตัวเองซึ่งเป็นไปตามสิทธิของไรเดอร์แต่ละคนที่มีอยู่ บางรายอาจมีประกันอุบัติเหตุที่แพลตฟอร์มจัดให้หรือซื้อประกันอุบัติเหตุจากแพลตฟอร์มหรือบริษัทประกันในเครือ อย่างไรก็ตาม หากค่ารักษาพยาบาลเกินวงเงินประกัน ไรเดอร์ ก็ต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลเอง ซึ่งไรเดอร์อาจต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน รวมถึงความเสียหายที่เกิดต่ออุปกรณ์ในการทำงาน เช่น รถจักรยานยนต์และโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น 



สิทธิที่ขาดหายไปของ 'ไรเดอร์’ อาชีพที่ยังคงเสี่ยงทั้ง 'บนถนน' และ 'รายได้' ภาพ : TNNOnline 

 



อย่างไรก็ตาม ไรเดอร์หลายรายไม่มีประกันอุบัติเหตุของบริษัทประกันภัยเอกชน แต่ต้อง ใช้สิทธิบัตรทองซึ่งเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นการใช้สิทธิที่ผิดวัตถุประสงค์เนื่องจาก การเกิดอุบัติเหตุนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน ทั้งยังเป็นภาระต่อกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีกด้วย

สิทธิที่ขาดหายไปของ 'ไรเดอร์’ อาชีพที่ยังคงเสี่ยงทั้ง 'บนถนน' และ 'รายได้' ภาพ : TNNOnline 

 



บทความวิจัยของ นันทพล ย้ำว่า  สิทธิที่ขาดหายไปของไรเดอร์คือ สิทธิในเงินทดแทน ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟู สมรรถภาพในการทำ งาน ค่าทำศพ และค่าทดแทนตาม  พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นายจ้างมีหน้าที่เยียวยา ลูกจ้างซึ่งประสบอันตรายจากการทำงานหรือป้องกันรักษาผลประโยชน์ให้นายจ้าง หรือทำตามคำสั่งของนายจ้าง เจ็บป่วยถึงแก่ความตายหรือสูญหายจากการทำงาน ด้วยเหตุที่นายจ้างได้รับประโยชน์จากการทำงานดังกล่าวด้วย นายจ้างจึงมีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุนเงินทดแทนและลูกจ้างสามารถใช้สิทธิเบิกจากกองทุนเงินทดแทนได้ 


ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มก็ได้รับประโยชน์จากไรเดอร์ในการจัดส่งอาหารเช่นเดียวกันทั้งค่าบริการ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เรียกเก็บจากร้านอาหารและไรเดอร์ อีกทั้งลักษณะการทำงานที่อยู่ภายใต้การควบคุมบังคับบัญชา ดังนั้น จึงควรมีการกำหนดสถานะให้ไรเดอร์เป็นลูกจ้างเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 หรือควรออกมาตรการทางกฎหมายโดยกำหนดให้แพลตฟอร์มต้องจัดหาประกันอุบัติเหตุและประกันค่าขาดรายได้ทำนองเดียวกับเงินทดแทนสำหรับไรเดอร์ทุกคนโดยคิดตามสัดส่วนของเวลาทำงานเฉลี่ยของไรเดอร์ในแต่ละสัปดาห์




สิทธิที่ขาดหายไปของ 'ไรเดอร์’ อาชีพที่ยังคงเสี่ยงทั้ง 'บนถนน' และ 'รายได้' ภาพ : TNNOnline 

 



แนวโน้มการคุ้มครอง 'ไรเดอร์' ทั่วโลก


จากการประมวลของ Rocket Media Lab เมื่อ ต.ค.64 พบแนวโน้มทั่วโลกดูเหมือนว่ารัฐจะมุ่งให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่ไรเดอร์มากขึ้น ขณะที่ไทยนั้นไรเดอร์ยังเป็นเพียงพาร์ทเนอร์และไร้ซึ่งสวัสดิการและความคุ้มครองที่เหมาะสม 


เมื่อปี 2564 รัฐบาลสเปนได้ผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยไรเดอร์หลังตระหนักถึงความสำคัญของกลุ่ม Gig Worker โดยไรเดอร์จะได้รับการพิจารณาเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม ได้รับเงินเดือนและสวัสดิการพื้นฐานตามที่กฎหมายกำหนด สเปนจึงถือเป็นประเทศแรกที่บุกเบิกกฎหมายว่าด้วยไรเดอร์ และประกันสิทธิแรงงานของไรเดอร์ ในยุโรป 


ไต้หวันปัจจุบันไรเดอร์บางส่วนยังไม่ได้รับการรับรองว่าเป็นแรงงานตามกฎหมายหรือเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม จึงยังไม่ได้รับสวัสดิการตามกฎหมาย ในขณะที่แพลตฟอร์มเองก็อ้างว่าแม้ไรเดอร์มีฐานะเพียงคู่สัญญาหรือพาร์ทเนอร์เท่านั้น แต่แพลตฟอร์มก็มีสวัสดิการ เช่น ประกันอุบัติเหตุให้แล้ว ซึ่งหากไรเดอร์ได้รับการรับรองว่าเป็นแรงงานตามกฎหมาย แพลตฟอร์มจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินสมทบประกันสังคม เงินสมทบบำนาญลูกจ้าง และอื่นๆ ที่อาจทำให้แพลตฟอร์มมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้น 



สิทธิที่ขาดหายไปของ 'ไรเดอร์’ อาชีพที่ยังคงเสี่ยงทั้ง 'บนถนน' และ 'รายได้' ภาพ : TNNOnline 

 



เกาหลีใต้ ไรเดอร์ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายเฉพาะในกรุงโซลเท่านั้น ไรเดอร์ส่วนใหญ่ในประเทศไม่ได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างประกันสุขภาพหรือประกันอุบัติเหตุ 


ส่วนในประเทศที่ไรเดอร์ไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้างตามกฎหมาย ก็จะไม่ได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐาน มีเพียงสวัสดิการที่ทางแพลตฟอร์มมีให้ซึ่งก็แตกต่างกันไป ขณะที่ในประเทศไทยเองที่ถึงแม้ว่าจะมีประกันรถจักรยานยนต์ และประกันอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการนั้นไรเดอร์ต้องสำรองจ่าย และมีกระบวนการที่เป็นไปด้วยความล่าช้า 


‘ไรเดอร์’ หนึ่งในอาชีพที่ส่งมอบความสะดวกสบายและทำให้ชีวิตของผู้คนประหยัดเวลามากขึ้นจนแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน กลับดูเหมือนว่าเหล่า 'ไรเดอร์' อีกหลายแสนคน ยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงบนท้องถนน และการเข้าไม่ถึงสวัสดิการ เงินกองทุนชดเชยครั้งยามประสบอุบัติเหตุอีกด้วย



ภาพ : TNNOnline 


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง 

https://rocketmedialab.co/world-rider/?fbclid=IwAR1twAsTj3grEl0FDY8i3pUQoFMotDSHcAV39hs5gqPfZ4EoYqr_g0SarFI

https://so05.tci-thaijo.org/index.php/lawjournal/article/view/260237

https://rocketmedialab.co/rider/


ข่าวแนะนำ