เพื่อไทยพลิกขั้ว ตั้งรัฐบาลใหม่ไร้ก้าวไกล?
I’ll be back ที่มีความหมายว่า “ผมจะกลับมา” ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เรียกว่ายังต้องใช้ความพยายาม สู้ยิบตา เพราะตอนนี้นอกจากถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. เข้าสภาไปโหวตให้ใครไม่ได้ ยังอาจถูกเพื่อไทยและพรรคร่วมเท พลิกขั้วแกนนำตั้งรัฐบาลใหม่ หลังแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากเพื่อไทย เพิ่งออกมาประกาศว่าจะไม่มีมาตรา 112 อยู่ในการแก้ไขหรือยกเลิก ดังนั้นเราจะมาดูกันว่าสูตรการจัดตั้งรัฐบาลของเพื่อไทย มีอะไรบ้าง
ก่อนอื่นเราจะมาไล่เลียงกันก่อนว่าแต่ละพรรคมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และจำนวนเสียงเท่าไหร่กันบ้าง พรรคก้าวไกล มีจำนวนสส.150คน มีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคอันดับ 2 เป็นพรรคเพื่อไทย มีสส.141 เสียง โดยแคนดิเดต 3 คน คือแพทองธาร ชินวัตร เศรษฐา ทวีสิน ชัยเกษม นิติสิริ พรรคอันดับ 3 คือภูมิใจไทย ซึ่งมี 71 เสียง โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และมีอีกพรรคตัวแปรสำคัญอย่างพรรคพลังประชารัฐ มีสส. 40 เสียง แต่ก็มีชื่อพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
จากปรากฎการณ์เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา เมื่อเสียงข้างมากของที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่ให้เสนอชื่อ พิธา จึงเท่ากับการปิดประตูการเป็นนายกฯ ของหัวหน้าพรรคก้าวไกลไปอย่างน้อยหนึ่งสมัยประชุม
โจทย์สำคัญหลังจากนี้พรรคเพื่อไทยที่จะต้องเสนอแคนดิเดตนายกฯของพรรคที่มี 3 คน แพทองธาร ชินวัตร เศรษฐา ทวีสิน ชัยเกษม นิติสิริ ที่จะต้องเผชิญกับความท้าทายว่า จะสามารถดึงเสียงจาก สส. เสียงข้างน้อย จำนวน 188 เสียง และ สว. 250 เสียง ได้หรือไม่ เนื่องจากแคนดิเดตแต่ละคนมีปัจจัยเสี่ยงที่แตกต่างกัน
แต่ค่อนข้างจะชัดเจนแล้วว่า พรรคเพื่อไทยจะส่งเศรษฐา โหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 ก.ค.นี้ ซึ่งเจ้าตัวก็ได้ออกมาประกาศแล้วว่าพรรคจะเลือกตัวเองชิงนายกฯรอบที่ 3 พร้อมยืนยันว่าจะต้องไม่มีมาตรา 112 อยู่ในการแก้ไขหรือยกเลิก ดังนั้นต้องมาจับตาเส้นทางการเดินหน้าต่อของ 8 พรรคร่วมภายใต้การนำของเพื่อไทย ที่ก็มีความเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยและอีก 7 พรรคร่วมจะทำการเปลี่ยนขั้วหรือสลับขั้วใหม่ โดยหลายฝ่ายได้คิดสูตรการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยที่มีความเป็นไปได้
สูตรที่ 1 คือ 8 พรรคร่วม 312 เสียง พร้อมกับชู เศรษฐา เป็นแคนดิเดตนายกฯ ให้ที่ประชุมรัฐสภาเลือก แต่ยังติดปัญหาที่จะต้องเดินหน้าหาเสียงอีกอย่างน้อย 51 เสียง ถ้าไม่ได้เสียงจากขั้วรัฐบาลเดิม 188 เสียง โหวตข้ามขั้วมาสนับสนุน ก็จะต้องเดินหน้าเจรจากับ สว.ให้ได้ แต่อาจติดเงื่อนไขที่ สว.บางกลุ่มจะไม่โหวตให้หากมีพรรค ก.ก. ร่วมรัฐบาลด้วย แต่ด้วยชั้นเชิงทางการเมืองของพรรค พท. อาจออกเป็น ดีลพรรคอื่นเพิ่ม
สูตรที่ 2 ประกอบด้วย พรรคพท. 141 เสียง และอีก 6 พรรคร่วม โดยไม่มีพรรค ก.ก. จะมีเสียงอยู่ที่ 161 เสียง ผนึกกับขั้ว 188 เสียง โดยไม่มีพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่อาจติดเงื่อนไขและจุดยืนทางการเมืองที่ไม่ตรงกับพรรค พท. อีก 152 เสียง จะเป็นรัฐบาลผสม ที่มี 313 เสียง โดยมี เศรษฐา เป็นนายกฯ ต้องหาเสียง สว.มาสนับสนุนอีก 62 เสียง ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. ที่มีคอนเน็กชั่นกับกลุ่ม ส.ว.สาย พล.อ.ประวิตร ไม่ต่ำกว่า 80 คน
หากสูตรที่ 2 ยังตั้งไม่ได้ เนื่องจากยังติดเงื่อนไขที่ ส.ว.ไม่โหวตสนับสนุน แคนดิเดตนายกฯจากพรรค พท. อาจต้องเดินหน้ามาสู่การตั้งรัฐบาลสูตร 3 ด้วยการให้พรรค พปชร.เป็นแกนนำ โดยชู พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯคนที่ 30 โดยสูตรนี้ เป็นสูตรก้าวข้ามความขัดแย้ง ตามโมเดลของ พล.อ.ประวิตร ซึ่งฟันธงล่วงหน้าได้ว่า ส.ว.พร้อมเทเสียงสนับสนุนให้ พล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯ ได้อย่างไม่ยาก
แต่มีเงื่อนไขอยู่ที่พรรค พท.จะยอมรับดีลนี้หรือไม่ เนื่องจากความชอบธรรมในฐานะพรรคที่มีเสียง ส.ส.มากที่สุด 141 เสียง แต่ไม่สามารถผลักดันแคนดิเดตนายกฯของพรรคให้ขึ้นทำหน้าที่บริหารประเทศได้
ซึ่งทุกกระบวนการจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะขณะนี้พรรคเพื่อไทย ยังรอการเจรจา ซึ่งเวลาก็ใกล้เข้ามาแล้ว ซึ่งจะต้องโหวตกันในวันที่ 27 ก.ค.นี้ ซึ่งเพื่อไทย ยอมรับว่าจะต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อพูดคุยกับสว. และทุกสูตรการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะออกมาเป็นรูปแบบใด ล้วนมีต้นทุนทางการเมือง เพราะจะเป็นคำตอบให้แต่ละพรรคได้ชัดเจนที่สุดว่าใครมี จุดยืน และเคารพ ฉันทามติ ของประชาชนหรือไม่ ซึ่งจะนำไปสู่ผลการเลือกตั้งครั้งหน้า ?