TNN Exclusive : ไขปม "รอยเลื่อน" ซ่อนตัวปล่อยพลังได้ในอนาคต
การเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.5 ที่จังหวัดพิษณุโลก ถือเป็นการพบ “รอยเลื่อนตัวใหม่” ที่วางตัวในแนว "ตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้" พาดผ่านอยู่ในละแวกจากทาง “เหนือเมืองสุโขทัย” ไป “ตอนใต้ของเมืองพิษณุโลก” ศาสตราจารย์ดอกเตอร์เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และประธานศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ มองว่าแม้จะเป็นรอยเลื่อนใหม่ ก็ยังไม่น่ากังวล แต่ก็อยากให้จังหวัดที่อยู่ในภาคเหนือและภาคอีสาน ให้สร้างอาคารที่แข็งแรง เพราะโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.8 หรือขนาด 7ขึ้นไปได้ในอนาคต
ศาสตราจารย์ดอกเตอร์เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และประธานศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ว่ายังไม่น่ากังวลเนื่องจากเป็นแผ่นดินขนาดไม่ใหญ่มาก พร้อมให้ข้อมูลว่า ถ้าขนาดเพียง 1 ถึง 4 เรียกว่าขนาดเล็ก ขนาด 5-6 เรียกว่าขนาดกลาง ส่วนขนาด 7 เรียกว่าใหญ่ ดังนั้นที่เกิดขึ้นในไทย อยู่ในระดับไม่อันตรายต่อโครงสร้างหรือทำลายโครงสร้างได้ จึงไม่น่าเป็นห่วง ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ดอกเตอร์เป็นหนึ่ง ยอมรับว่าประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะเกิดแรงกว่านี้ได้ ในบริเวณเหนือ ภาคกลางที่ใกล้กับภาคเหนือ และภาคอีสานตอนบน
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดพิษณุโลกนี้ เรียกได้ว่าตำแหน่งของมันไม่ได้อยู่ใกล้รอยเลื่อนที่รู้จัก หรือรอยเลื่อนที่กรมทรัพยากรธรณีได้กำหนดในแผนที่ แต่มันเป็นรอยแตก รอยร้าวในแผ่นเปลือกโลกที่เราสามารถเห็นได้ ซึ่งในประเทศไทยมีรอยแตก รอยร้าวอีกจำนวนมากและขนาดเล็กกว่าที่เราเห็นซึ่งซ่อนอยู่ในเปลือกโลก ซึ่งรอยแตกรอยร้าวที่เล็กเหล่านี้ สามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้เหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดแผ่นดินไหวที่ไม่ตรงกับรอยเลื่อนที่เรารู้จัก ซึ่งภาคเหนือก็เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวหลายครั้งไม่ตรงรอยเลื่อนที่เราไม่เคยรู้จัก
ศาสตราจารย์ดอกเตอร์เป็นหนึ่ง เปิดเผยด้วยว่าประเทศไทยมีรอยเลื่อนกว่า 10 รอย ซึ่งภาคเหนือจะมีจำนวนมากที่สุดตามมาด้วยภาคตะวันตก และภาคอีสานที่มีประมาณ 2-3 รอย ที่มาจากทางสปป.ลาว โดยเป็นเรื่องที่เราจะต้องเฝ้าระวังเนื่องจากมีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหว ขนาด 6.8 หรือ 6.9 และขนาดมากกว่า 7 ได้ แต่ยังไม่เคยเห็นในปัจจับัน แต่อดีตเคยเกิดมาแล้ว ทำให้ตนเองรู้สึกเป็นห่วงสภาพบ้านเรือนที่อาจจะสั่นสะเทือนพังทลายได้ ดังนั้นเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเข้าใจผลักดันให้มีการเตรียมการให้เหมาะสม และทำให้บ้านเรือนแข็งแรงทนต่อแผ่นดินไหวได้ เพราะเราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเกิดขึ้นและหากเกิดขึ้น อาคารบ้านเรือนจะต้องไม่พังทลายลงมา จนทำให้คนในอาคารเสียชีวิต
ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว บอกด้วยว่า ยังมีจุดเป็นปัญหาด้านกฎหมาย แม้จะมีกฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคารออกมาแล้ว โดยกรมโยธาธิการได้กำหนดให้ทุกพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ต้องออกแบบอาคารให้แข็งแรงตามที่ได้กำหนดไว้ แต่กฎหมายไม่ได้บอกว่าอาคารต้องออกแบบทุกหลัง แต่ระบุเพียงว่าอาคารที่อยู่ในภาคเหนือ และสูงระดับ 3 ชั้นขึ้นไป ที่ต้องออกแบบให้ได้มาตรฐาน แต่ถ้าหากเกิดในพื้นที่อื่นที่ไม่ได้ออกแบบอาคารถูกต้อง ก็จะมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นควรจะบังคับใช้ทั่วทั้งประเทศ พร้อมแนะนำว่าถ้าใครเป็นห่วงกังวลเรื่องความเสี่ยงแผ่นดินไหวรุนแรง แนะนำให้ออกแบบอาคารไปตามมาตรฐานกรมโยธาฯไม่ว่าเราจะอยู่ตรงไหนของประเทศไทย หากทำตามกฎของกรมโยธาฯก็ถือว่าปลอดภัย
ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ มีจุดศูนย์กลางที่ไม่ได้อยู่บนรอยเลื่อนมีพลัง (Active Fault) และกลไกการเกิดแผ่นดินไหว เกิดจากแนวรอยเลื่อน ที่มีทิศทางการวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ วางตัวตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกประมาณ 30 กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองพิจิตรประมาณ 15 กิโลเมตร ถือว่าจุดศูนย์กลางไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตัวเมือง ทำให้บ้านเรือนส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเสียหาย
สำหรับสถิติการเกิดแผ่นดินไหวในจังหวัดพิษณุโลก นับตั้งแต่ปี2533-2566 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4 ถึง 4.9 จำนวน 1 ครั้ง และขนาดเล็กกว่า 3 จำนวน 5 ครั้ง ทั้งนี้ เพื่อสร้างการรับรู้ และลดความตื่นตระหนก ให้กับประชาชน กรมทรัพยากรธรณี ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจ ตรวจสอบ และประเมินผลกระทบ และให้คำแนะนำแก่ประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องมือตรวจวัด แผ่นดินไหวบริเวณโดยรอบ เพื่อติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวอย่างใกล้ชิด
เรียบเรียงโดย อาภารัตน์ ดีรักษา
ภาพ : TNN ข่าวดึก