"โรคเครียดสะสม" คืออะไร แนะสังเกตตัวเอง มีอาการต่อไปนี้หรือไม่?
"โรคเครียดสะสม" คืออะไร ทำไมถึงเป็นภัยเงียบอันดับต้นๆ ในสังคมไทย แนะสังเกตตัวเอง มีอาการต่อไปนี้หรือไม่?
"โรคเครียดสะสม" คืออะไร? ทำไมถึงเป็นภัยเงียบอันดับต้นๆ ในสังคมไทย แนะสังเกตตัวเองตอนนี้ "คุณ" กำลังเผชิญโรคนี้อยู่หรือไม่?
ในเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Thai Health Watch The Series 2022 สร้างภูมิคุ้มใจให้แข็งแรง เรียนรู้ วิธีจัดการกับกลุ่มอาการสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเกิดกับตัวเองหรือคนที่คุณรัก หัวข้อ “เรื่องใจเรื่องใหญ่ ชวนเสริมภูมิคุ้มใจในภาวะเศรษฐกิจถดถอย” เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดพื้นที่เพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยน เกี่ยวกับ "โรคเครียดสะสม"
เครียดสะสม คืออะไร? ทำไมถึงเป็นภัยเงียบอันดับต้นๆ ในสังคมไทย
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ความเครียดสะสม ทำไมถึงเป็นภัยเงียบอันดับต้นๆ ในสังคมไทย เพราะหากมีความเครียดสะสม ไม่รู้ทางออก ไม่สามารถสื่อสาร หรือยกภูเขาออกจากอกไม่ได้ ไม่มีความหวัง ซึ่งสิ่งนี้จะกลายเป็นโรคทางใจ ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสังคมกำลังอยู่ในภาวะเครียด
ความเครียดสะสม เป็นภาวะที่ส่งผลให้คนเสี่ยงฆ่าตัวตายสูง ผลการทำสำรวจปี 2561 พบว่า ค่าครองชีพและเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่เข้ามากระทบกับสุขภาพใจคนไทยมากที่สุด และคนกรุงเทพฯ ที่เผชิญปัญหาด้านสภาพแวดล้อมและค่าครองชีพที่สูงกว่าต่างจังหวัด มีความสุขน้อยต่ำกว่าปกติถึง 2 เท่า หากเทียบกับผลสำรวจความสุขทั้งประเทศ
กรมสุขภาพจิต ได้เผยว่า ภาวะโควิด-19 ที่ผ่านมาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ มิติ ทำให้คนไทยเครียดสะสม นำพาไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าและอาการอื่นๆ ที่นำไปสู่ความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายสูงขึ้นจากปกติถึง 10 เท่า
ทั้งนี้ หากรู้สึกเครียดเรื้อรัง ไม่ควรละเลย เพราะอาจพัฒนาเป็นปัญหาสุขภาพจิต ต้องดูแลใจตัวเอง เข้ารับคำปรึกษาอย่างถูกวิธี
ขณะที่กูรูสุขภาพใจ ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้งเพจ Here to heal ได้เปิดเผยข้อมูลในเรื่องนี้ไว้ว่า ความเครียดหากอยู่กับเรานานๆ ไม่หาย เกิดขึ้นซ้ำๆ ส่งผลต่อการใช้ชีวิต ส่งผลกับอารมณ์เป็นระยะๆ จะกลายเป็น "ความเครียดสะสม"
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าเราเป็น "โรคเครียดสะสม" โดยให้สังเกตว่ามีอาการต่อไปนี้หรือไม่
- หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูง
- ประสิทธิภาพในการทำงานและการใช้ชีวิตลดลง
- ไม่อยากเข้าสังคม วิตกกังวลความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว
- กลัว เครียด กังวล อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
- เบื่อ เฉยชา รู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่า
- พฤติกรรมการกินผิดปกติ
- ดื่มแอลกอฮอล์หนักขึ้น หรือ สูบบุหรี่
- สมาธิจดจ่อไม่ดี หลงๆ ลืมๆ
- ท้อแท้หมดหวัง รู้สึกไร้ค่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่
ภาพจาก Youtube ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะสสส.
3 จุดสังเกต ชวนเช็กง่ายๆ ดูว่าเรากำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิตอยู่หรือเปล่า?
1. ความคิด
เกิดความคิดเชิงลบในชีวิตประจำวัน หรือ ความคิดว่าเราไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้วหรือเปล่า จากปกติที่ไม่เคยคิดมาก่อน หรืออยู่ดีๆ เกิดความกลัวสายตาคนอื่น หรือ ความคิดของคนอื่นขึ้นมาว่าเขาอาจทำร้ายเรา
2. พฤติกรรม
พฤติกรรมนับรวมหมด ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการใช้ชีวิต พฤติกรรมการทำงาน หรือแม้กระทั่งการนอน ดูว่าเรามีพฤติกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงกะทันหันหรือไม่ หรือ เกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้างจากพฤติกรรมปกติ เช่น นอนไม่หลับไม่ทราบสาเหตุ หรือ จากที่เคยมีนิสัยคิดถี่ถ้วนก่อนใช้เงิน กลายเป็นฟุ่มเฟือยขึ้นมากะทันหัน และไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมที่แปลกไปของตัวเองได้
3. อารมณ์และความรู้สึก
อารมณ์แปรปรวนง่ายๆ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือ มีความแตกต่างจากไปจากเดิมโดยไม่ทราบสาเหตุไม่สามารถควบคุมความเศร้าที่มากเกินไป หรือความโกรธที่มากเกินไปของตัวเองได้
ภาพจาก Youtube ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะสสส.
เรายังสามารถรู้ทันความเครียดได้ ด้วยการทำแบบประเมินสุขภาพจิตจากเว็บไซต์ Mental Health Check-in จากความร่วมมือของกรมสุขภาพจิต และเครือข่าย โดยจะมีอยู่เกณฑ์อยู่ 4 ระดับ เขียว เหลือง ส้ม แดง
แล้วรู้ได้อย่างไร? อาการเครียดสะสม หรือ เริ่มมีภาวะทางสุขภาพจิต
4 ระดับของความเครียด/ซึมเศร้า
สีเขียว เครียด แต่ "เอาอยู่"
ผลข้างเคียง : แม้ทุกคนมีความเครียดแต่ยังพอรับมือได้ด้วยตัวเอง
การช่วยเหลือ : แก้ปัญหาเชิงบวกเช่น ออกกำลังกาย ใช้เวลากับคบที่ตัวเองรัก
สีเหลือง เครียดจัดยังพอ "ประคองไปได้"
ผลข้างเคียง : อยู่ระหว่างป่วยกับปกติเครียดสูง แต่ยังประคองตัวได้เป็นฟางเส้นสุดท้าย
การช่วยเหลือ : ปรับวิธีแก้ปัญหาหาคนรอบข้างรับฟังอย่างเข้าใจ
สีส้ม ซึมเศร้า กระทบกับงาน และการใช้ชีวิต
ผลข้างเคียง : ประสิทธิภาพการทำงานลดลง มีปัญหาปฏิสัมพันธ์ กับผู้อื่น
การช่วยเหลือ : พบแพทย์ หาคนรอบข้างที่รับฟังอย่างเข้าใจ
สีแดง ซึมเศร้า ทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตาย
ผลข้างเคียง : เสี่ยงทำร้ายตัวเอง ผู้อื่น สิ่งของ และฆ่าตัวตาย
การช่วยเหลือ : ไม่ควรให้ผู้ป่วยอยู่คนเดียว คนรอบข้าง ต้องเปิดใจรับฟัง
ภาพจาก Youtube ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะสสส.
รู้สึกไม่ไหว ปรึกษาใครดี?
ปรึกษาทางโทรศัพท์
สายด่วนสุขภาพจิต
1323 ตลอด 24 ชม.
Depress We Care
โรงพยาบาลตำรวจ
081-932-0000
ตลอด 24 ชม.
สายด่วนสุขภาพจิต
1323
08.00-16.00 น.
สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย
02-713-6793
12.00-22.00 น.
ปรึกษาช่องทางออนไลน์
CHATBOT 1323
น้องสายด่วนสุขภาพจิต
แชทบอทประเมินความเครียด
ประเมินความเครียด
ประเมินความเครียดในเบื้องต้น
ให้คำแนะนำ
ให้คำแนะนำในการจัดการ ความเครียดในเบื้องต้น
ติดตาม ส่งต่อ
ให้ข้อมูลและส่งต่อสถานพยาบาลด้านสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้อง
LINE ID @147nzgad
ภาพจาก Youtube ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะสสส.
ด้านครูมะขวัญ วิภาดา แหวนเพชร ผู้สอนวิชาแห่งความสุข สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) ได้แชร์เคล็ดลับการสร้างพลังใจด้วยการสร้างกิจวัตรประจำวัน โดยระบุว่า
สร้างพลังใจด้วยการสร้างกิจวัตรประจำวัน
1. ออกกำลังกาย วันละ 15 นาที ทำทุกวัน / impact สูง
2. พูดขอบคุณในสิ่งดีๆ ของผู้อื่น พูดต่อหน้า ส่งโปสการ์ด ส่งข้อความ
3. เขียนขอบคุณอะไรก็ได้ 3 สิ่งก่อนนอน ทำทุกวัน / ห้ามเขียนซ้ำกัน
4. คิดถึงสิ่งที่มีความสุข วันละ 3 สิ่ง ทำทุกวัน / ห้ามเขียนซ้ำกัน
5. ทำสมาธิวันละ 2 นาที ด้วยวิธีการดูลมหายใจเข้าออกตามธรรมชาติ
ภาพจาก Youtube ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะสสส.
ข้อมูลจาก เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Thai Health Watch The Series 2022
ภาพจาก Youtube ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะสสส. / AFP