"ขับรถลุยน้ำท่วม" มัดรวมวิธีไม่ให้รถดับ-เครื่องพัง น้ำระดับไหนไม่ควรขับลุย?
มัดรวมวิธี "ขับรถลุยน้ำ" ทำอย่างไรไม่ให้รถดับ-เครื่องพัง น้ำท่วมระดับไหนไม่ควรขับลุย รถยนต์-รถมอเตอร์ไซค์ อ่านเลยที่นี่
เปิดเทคนิคขับ "รถลุยน้ำท่วม" อย่างไรให้ปลอดภัยหลังฝนตกหนักหลายพื้นที่ น้ำท่วมระดับไหนไม่ควรขับลุย รถยนต์-รถมอเตอร์ไซค์ อ่านเลยที่นี่
สภาพอากาศ ประเทศไทยตอนนี้ กำลังเผชิญฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยกรมอุตุฯได้พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก
และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย
จากเหตุดังกล่าวทำให้หลายจังหวัดประสบปัญหาน้ำท่วมขัง รอการระบาย กระทบประชาชนที่ต้องใช้รถในการออกไปทำงานเพราะต้องขับรถลุยน้ำ เสี่ยงเครื่องพัง วันนี้ TNN Online ได้มัดรวมวิธี
ขับรถลุยน้ำอย่างไรให้ปลอดภัยมาให้อ่านกัน โดยข้อมูลจาก กรมการขนส่งทางบก PR.DLT.News / ขับขี่ปลอดภัย by DLT
น้ำท่วมระดับไหน ไม่ควรขับรถลุย
- ระดับน้ำ 5-10 ซม. ขับผ่านได้ทุกคัน แต่ยังต้องมีสติ ระมัดระวัง ไม่ควรใช้ความเร็วสูง อาจทำให้สูญเสียการควบคุมได้ เพราะถนนลื่น
- ระดับน้ำ 10-20 ซม. รถทุกประเภทยังขับผ่านไปได้ รถขนาดเล็กอาจได้ยินเสียงน้ำใต้ท้องรถ ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะยังมีโอกาสที่น้ำจะเข้าไปในตัวรถ
- รถอีโคคาร์ต้องระวัง ระดับน้ำ 20-40 ซม. เพราะส่วนใหญ่ถูกออกแบบให้มีความสูงจากระดับพื้น 15-17 ซม. อาจทำให้เกิดปัญหาท่อไอเสียจม แต่ยังสามารถขับลุยน้ำผ่านได้ ส่วนรถกระบะยังผ่านไปได้
- ระดับน้ำ 40-60 ซม. รถเก๋ง รถขนาดเล็กต้องเลี่ยง
รถกระบะยังฝ่าไปได้ ปิดแอร์ขณะขับ ป้องกันพัดลมแอร์หน้ารถดูดละอองน้ำเข้าไปในเครื่องยนต์ จะทำให้เครื่องยนต์ดับ ขับขี่ให้ช้าลง ลดการเกิดคลื่นน้ำซัดเข้าหารถ จากรถคันอื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่น้ำจะกระจายเข้าสู่ห้องเครื่องยนต์
- ระดับน้ำ 60-80 ซม. อันตรายต่อรถทุกคัน
ไม่ควรขับลุย เพราะน้ำอาจไหลเข้าห้องเครื่องยนต์ ทำให้เครื่องยนต์ดับ หยุดชะงัก ก่อให้เกิดความเสียหายในระบบต่างๆ ได้ ซึ่งการขับลุยน้ำท่วมระดับนี้ต้องใช้ความชำนาญเป็นพิเศษ ที่สำคัญอย่าปะทะคลื่นโดยตรง เพื่อหลีกเลี่ยงเครื่องดับกลางอากาศ
- ระดับน้ำสูงเกินกว่า 80 ซม. ควรใช้เส้นทางอื่น
ขับรถลุยน้ำ ไม่ให้ รถดับ-เครื่องพัง
1. ปิดแอร์ เมื่อเจอน้ำท่วมขัง เพราะหากน้ำท่วมถึงตัวพัดลม พัดตีน้ำขึ้นมาโดนบริเวณห้องไฟฟ้าอาจช็อตและทำให้เครื่องยนต์ดับได้
2. รักษาระยะห่างจากรถคันอื่น เพราะระบบเบรกที่แช่น้ำนานๆ ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานต่ำลง
3. ลดความเร็ว และรักษาความเร็วให้คงที่ ห้ามจอดและไม่ควรอยู่ใกล้รถคันอื่น
4. ใช้เกียร์ต่ำ เพื่อประคองเครื่องยนต์ไม่ให้ดับหากเป็นรถยนต์เกียร์ออโต้ให้ใช้เกียร์ L รถยนต์เกียร์ธรรมดาให้ใช้เกียร์ 1 หรือ 2
5. เมื่อขับพ้นน้ำท่วม เหยียบเบรกย้ำๆ เพื่อไล่น้ำออกจากผ้าเบรก
6. ถึงที่หมาย อย่าเพิ่งดับเครื่องทันที ให้ติดเครื่องยนต์ไว้สักพัก เพื่อไล่น้ำและความชื้นที่ค้างอยู่ตามเครื่องยนต์
รถมอเตอร์ไซค์ต้องลุยน้ำ ขับขี่อย่างไรจึงจะปลอดภัย
ระดับน้ำต้องสูงไม่เกิน 1 ฟุตจากพื้นถนน ห้ามท่วมถึงกรองอากาศ หรือสูงเกินท่อไอเสีย ผู้ขับขี่ต้องมีทักษะการขับขี่ที่ดีโดยคำนึงความปลอดภัยของตนเองและเพื่อนร่วมทาง ดังนี้
-ไม่ควรขับขี่ด้วยความเร็วสูง ให้ใช้เกียร์ต่ำ รักษาความเร็วให้คงที่ในระหว่างลุยน้ำ เพราะพื้นถนนอาจมีหลุมบ่อที่ผู้ขับขี่มองไม่เห็น อาจเกิดอุบัติเหตุได้
-หากเครื่องยนต์ดับ ห้ามสตาร์ทรถโดยเด็ดขาดให้รีบเข็นไปไว้บนที่แห้ง แล้วทำการตรวจเช็ก และระบายน้ำออกจากท่อไอเสียด้วยการสตาร์ทเครื่องและเร่งเครื่องไว้สัก 3-5 นาที
ให้เครื่องยนต์เกิดความร้อนแล้วจึงขับต่อไปได้
-อย่าเพิ่งดับเครื่องยนต์เมื่อถึงที่หมาย ให้ติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ เพื่อให้ความร้อนในท่อไอเสียไล่น้ำออกจากระบบ ช่วยลดการเกิดสนิมในท่อไอเสีย ช่วยรักษาเครื่องยนต์
-หลังลุยน้ำ ผู้ขับขี่สามารถตรวจสภาพรถเบื้องต้นด้วยตนเอง โดยปัญหาที่มักเกิดขึ้น คือ นำ้มันโซ่แห้ง จากการโดนน้ำเป็นระยะเวลานาน
ควรรีบหยอดน้ำมันเพื่อเป็นการถนอมโซ่และความปลอดภัยในการขับขี่
หลังขับรถลุยน้ำท่วมควรเช็กอะไรบ้าง?
หลังจากขับรถลุยน้ำ อย่าลืมตรวจเช็คการทำงานของระบบเบรก เหยียบเบรกย้ำๆ เพื่อไล่น้ำออก และขับขี่ให้ช้าลง เพื่อความปลอดภัยของทุกคน
อ้างอิง ขับขี่ปลอดภัย by DLT / กรมการขนส่งทางบก PR.DLT.News
ภาพจาก TNN Online