รู้จัก ประเพณี "สวดพระมาลัย" หนึ่งเดียวในลพบุรี มุ่งสั่งสอน "คนเป็น" ในงาน "คนตาย"
ร่วมสืบทอดประเพณีเก่าแก่ หนึ่งเดียวในลพบุรี คือ “การสวดพระมาลัย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสั่งสอนคนเป็น ในงานศพ …ความเป็นมาของประเพณีนี้ คืออะไร ตามไปหาคำตอบกัน
บรรยากาศในงาน "ประเพณีสวดพระมาลัยงานศพ" เป็นประเพณีเก่าแก่เกือบ 200 ปี ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ และใกล้จะเลือนหายไปจากสังคม แต่ชาวบ้าน บ้านบัวชุม ต.บัวชุม อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ยังคงอนุรักษ์ไว้
โดยจัดให้มีชาวบ้านร่วมเป็นผู้สวดที่เป็นต้นเสียงกับลูกคู่ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป มีการประยุกต์บทสวดให้เกิดการประสานเสียง ซึ่งมีเสียงดังโหยหวน,อ่อนโยน,นิ่งเรียบ,และดุดัน ตามแต่และบทของตัวอักษร
นายกลั่น โม่งแสวง อายุ 73 ปี หัวหน้าและต้นเสียงการสวดพระมาลัย เล่าว่า เดิมเมื่อครั้งอดีต การสวดชนิดนี้มักจัดขึ้นในงานแต่งงาน
ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า การอ่านพระมาลัย โดยมีผู้อาวุโสประจำหมู่บ้านเป็นคนอ่าน เพื่อให้คู่บ่าวสาวและชาวบ้านแขกเหรื่อที่มาร่วมงานฟัง
แต่ระยะหลัง พบว่า การอ่านพระมาลัยในงานแต่งงานไม่ค่อยเป็นผลมากนัก เนื่องจากผู้ร่วมงานส่วนใหญ่มักตั้งวงดื่มแอลกอฮอล์กันอย่างสนุกสนาน จึงไม่มีใครฟังการอ่านพระมาลัยเท่าที่ควร ภายหลังจึงเปลี่ยนมาอ่านในงานศพที่มีผู้ร่วมงานสนใจฟังมากกว่า
แล้วที่บอกว่า ประเพณีนี้มีขึ้นเพื่อสั่งสอนคนเป็น ในงานศพ นั้น หมายความว่าอย่างไร?
คำตอบ คือ ในเนื้อหาของ พระมาลัย นั้น เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ให้รู้ถึงผลของบาป ของบุญ ว่า ช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ ใครทำบุญด้วยอะไร วิธีไหน เมื่อตายไป จะได้รับผลบุญอย่างไร และขึ้นสวรรค์ชั้นไหน
แต่ในทางกลับกัน ผู้ที่ทำบาป เมื่อตายไปแล้ว จะต้องได้รับผลกรรมตกนรกขุมไหน ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างไร ซึ่งในบทสวด จะอธิบายถึงผลของบุญและบาปแต่ละชนิดโดยละเอียด จนผู้ที่ได้รับฟัง เกิดความเกรงกลัวต่อบาป และสามารถมองเห็นผลแห่งการกระทำได้อย่างชัดเจน
"สวดพระมาลัยสั่งสอนคนเป็น ในงานศพของคนตาย"
สำหรับการสวดพระมาลัยนั้น โดยในการสวดนั้นจะเริ่มขึ้นหลังจากพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงจะเริ่มลงมือสวด และเนื่องจากหนังสือบทสวดพระมาลัย มีความยาวมากผู้สวดทุกคนจึงจำเป็นต้องนั่งสวดจนถึงรุ่งเช้า ซึ่งถือว่าได้กุศลทั้งผู้ที่สวดและผู้ที่ได้รับฟัง พร้อมทั้งยังอยู่เป็นเพื่อนเจ้าภาพงานศพจนถึงรุ่งแจ้งอีกด้วย จึงนับได้ว่าเป็นการ "สวดพระมาลัยสั่งสอนคนเป็น ในงานศพของคนตาย"
ดังนั้นชาวบ้านจึงช่วยกันอนุรักษ์ปฎิบัติสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นยังที่หมู่บ้านบัวชุม จังหวัดลพบุรีแห่งนี้ เพราะไม่ใช่เป็นการสวดเพื่ออุทิศให้กับผู้เสียชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการสั่งสอนคนเป็นๆที่ยังมีชีวิตให้เกรงกลัวต่อบาป ซึ่งในยุคปัจจุบันที่ผู้คนมีจิตใจที่โหดร้าย มุ่งหวังชิงดีชิงเด่น ทำร้ายเข่นฆ่ากันไม่เว้นแต่ละวันไม่ได้เกรงกลัวต่อบาป ดังนั้นจึงน่าอนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญหาย
ภาพ ผู้สื่อข่าว จ.ลพบุรี