TNN เช็ก 9 อาการ "ออฟฟิศ ซินโดรม" พร้อมพิกัดคลินิกรักษาฟรี!

TNN

TNN Exclusive

เช็ก 9 อาการ "ออฟฟิศ ซินโดรม" พร้อมพิกัดคลินิกรักษาฟรี!

เช็ก 9 อาการ ออฟฟิศ ซินโดรม พร้อมพิกัดคลินิกรักษาฟรี!

"ออฟฟิศ ซินโดรม" (Office syndrome) โรคยอดฮิตของพนักงานออฟฟิศ โดยพบคนไทยกว่า 80% มีอาการออฟฟิศซินโดรม เนื่องจากพฤติกรรมของคนทำงานส่วนใหญ่ ที่ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่เป็นเวลานาน

"ออฟฟิศ ซินโดรม" (Office syndrome) โรคยอดฮิตของพนักงานออฟฟิศ โดยพบคนไทยกว่า 80% มีอาการออฟฟิศซินโดรม เนื่องจากพฤติกรรมของคนทำงานส่วนใหญ่ ที่ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่เป็นเวลานาน โดยไม่ได้ขยับตัวเปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการตึง และกล้ามเนื้ออักเสบได้ 

"ออฟฟิศ ซินโดรม" คืออะไร?

"ออฟฟิศ ซินโดรม" (office syndrome) เป็นชื่อเรียกอาการความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกาย ที่มักพบบ่อยในคนที่ทำงานออฟฟิศ เนื่องจากลักษณะงานที่ต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าทางซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนอาจส่งผลให้เกิดโรคและอาการผิดปกติในระบบต่างๆ ของร่างกาย 

ทั้งอาการความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบการย่อยอาหารและการดูดซึม ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบฮอร์โมน นัยน์ตาและการมองเห็น

สาเหตุของการเกิด "ออฟฟิศ ซินโดรม"

"ออฟฟิศ ซินโดรม" (office syndrome) มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ดังนี้

1. การนั่งทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าทางซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานานมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน

2. ท่าทางในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งหลังค่อม ท่าก้มหรือเงยคอมากเกินไป

3. สภาพแวดล้อมหรืออุปกรณ์ในการทำงานไม่เหมาะสม เช่น ความสูงของระดับโต๊ะทำงาน เก้าอี้ที่นั่งทำงานแข็งเกินไป หรืออุปกรณ์ที่ใช้ไม่เหมาะสมกับการทำงานเป็นเวลานาน

4. สภาพร่างกายที่อาจส่งผลต่ออาการเจ็บป่วย เช่น ภาวะเครียดจากงาน การอดอาหาร การพักผ่อนไม่เพียงพอ 

เช็ก 9 อาการ ออฟฟิศ ซินโดรม พร้อมพิกัดคลินิกรักษาฟรี!

ภาพจาก AFP

9 อาการ "ออฟฟิศ ซินโดรม" ที่พบบ่อย

อาการทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่เกิดจากการทำงานที่พบได้บ่อยและสามารถดูแลโดยนักภาพภาพบำบัด

- กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง (myofascial pain syndrome)

- เอ็นรัดข้อมืออักเสบกดทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome)

- ความผิดปกติของความตึงตัวของเส้นประสาท (nerve tension)

- กล้ามเนื้อบริเวณแขนท่อนล่างด้านนอกอักเสบ (tennis elbow)

- ปลอกหุ้มเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณฐานนิ้วโป้งอักเสบ (De Quervain’s tendonitis)

- นิ้วล็อก (trigger finger)

- เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (tendinitis)

- ปวดหลังจากท่าทางผิดปกติ (postural back pain)

- หลังยึดติดในท่าแอ่น (back dysfunction)

เช็ก 9 อาการ ออฟฟิศ ซินโดรม พร้อมพิกัดคลินิกรักษาฟรี! ภาพจาก Reuters

มึนหัว  ปวดหัว ใช่อาการ "ออฟฟิศ ซินโดรม" หรือไม่?

อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายแบบผิดปกตินั้น ก็เสี่ยงที่จะเป็นออฟฟิศซินโดรมได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น

"ปวดกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง" มักมีอาการปวดแบบว้างๆ ไม่สามารถชี้จุดหรือระบุตำแหน่งที่ปวดได้อย่างชัดเจน เช่น คอ บ่า ไหล่ สะบัก

อาการ "ปวดศีรษะเรื้อรัง" หรือในบางครั้งมีอาการปวดหัวไมเกรนร่วมด้วย ซึ่งมีสาเหตุมาจากความเครียดหรือการที่ใช้สายตาเป็นระยะเวลานานเช่นกัน

อาการ "ปวดหลังเรื้อรัง" เป็นอาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคออฟฟิศซินโดรม เนื่องจากการนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หลายชั่วโมง นั่งไม่ถูกท่า นั่งหลังค้อม อาจทำให้กล้ามเนื้อต้นคอ เมื่อย เกร็งอยู่ตลอด รวมถึงงานที่ต้องยืนนานๆ โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่ใส่ส้นสูง

อาการ "ปวดตึงที่ขา หรือเหน็บชา" อาการชาเกิดจากการนั่งนานๆ ทำให้เส้นเลือดดำถูกกดทับและส่งผลให้เลือดไหลเวียนผิดปกติ

อาการ "ปวดตา ตาพร่า" เนื่องจากต้องมีการมองหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ หรือใช้สายตาอย่างหนักเป็นเวลานาน

อาการ "มือชา นิ้วล็อค ปวดข้อมือไ เพราะการใช้คอมพิวเตอร์จับเมาส์ในท่าเดิมๆ นาน ทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นจนอักเสบ เกิดพังผืดทำให้ปวดปลายประสาท นิ้วหรือข้อมือล็อคได้

เช็ก 9 อาการ ออฟฟิศ ซินโดรม พร้อมพิกัดคลินิกรักษาฟรี!

ภาพจาก AFP

ระดับของ อาการ "ออฟฟิศ ซินโดรม" พร้อมวิธีแก้ไขเบื้องต้น

ระดับที่ 1 อาการเกิดขึ้น เมื่อทำงานไประยะหนึ่ง พักแล้วดีขึ้นทันที

วิธีแก้ คือ พักสลับทำงานเป็นระยะๆ ยืดกล้ามเนื้อเพื่อผ่อนคลาย นวดผ่อนคลาย และออกกำลังกาย

ระดับที่ 2อาการเกิดขึ้น พักนอนหลับแล้ว แต่ยังคงมีอาการอยู่

วิธีแก้ คือ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน และเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องอย่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ระดับที่ 3 อาการปวดมากแม้ทำงานเพียงเบาๆ พักแล้วอาการก็ยังไม่ทุเลาลง

วิธีแก้ คือ พักงาน/ปรับเปลี่ยนงาน และเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องอย่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

เช็ก 9 อาการ ออฟฟิศ ซินโดรม พร้อมพิกัดคลินิกรักษาฟรี!

ภาพจาก AFP

"ออฟฟิศ ซินโดรม" รักษาอย่างไร?

สำหรับแนวทางการรักษากลุ่มอาการ "ออฟฟิศ ซินโดรม" นั้น สามารถทำได้ดังนี้

- การรักษาด้วยยารับประทาน ยาฉีด ยาทา

- การรักษาด้วยวิธีทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูและการทำกายภาพบำบัดเพื่อยืดกล้ามเนื้อและปรับอิริยาบถให้ถูกต้อง

- การปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน และลักษณะงานให้เหมาะสม

- การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มสมรรถภาพร่างกายโดยรวม

- การรักษาด้วยศาสตร์ทางเลือกอื่น เช่น การฝังเข็ม การนวดแผนไทย

ท่าบริหารป้องกัน "ออฟฟิศ ซินโดรม"

1.บริหารมือ โดยการกำมือ-แบมือ และชูแขนขึ้นฟ้า ทำค้างไว้ท่าละ 10 วินาที

2.ยืดเส้นคอ เอียงและยืดสลับซ้าย-ขวา ทำค้างไว้ท่าละ 10 วินาที

3.บริหารไหล่ ยกไหล่ขึ้น-ลง ทำค้างไว้ท่าละ 10 วินาที

4.แก้ปวดหลัง ให้ใช้มือดันหลังแอ่นอกขึ้น ทำค้างไว้ท่าละ 10 วินาที

5.คลายขาตึง โดยการยกขึ้นลงสลับกัน ทำค้างไว้ท่าละ 10 วินาที

เช็ก 9 อาการ ออฟฟิศ ซินโดรม พร้อมพิกัดคลินิกรักษาฟรี!

แจกพิกัด คลินิกรักษา "ออฟฟิศ ซินโดรม" สิทธิประกันสังคม รักษาฟรี!

สำนักงานประกันสังคม ให้บริการรักษาฟรีที่ “คลินิกโรคจากการทำงาน” ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลลูกจ้างที่เจ็บป่วยด้วยโรคจากการทำงานเพื่อให้ลูกจ้างได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคและเข้ารักษาพยาบาลที่มีมาตรฐาน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

สำหรับ ลูกจ้าง พนักงานออฟฟิศ ที่สงสัยว่า เจ็บป่วยด้วย โรคจากการทำงาน สามารถปฏิบัติได้ตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้

- ยื่นแบบ กท.16 ต่อสำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่ของสถานที่ทำงาน หรือ ตามภูมิลำเนาของนายจ้าง

- เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่เลือกไว้ และมีคลินิกโรคจากการทำงาน สามารถเข้ารับบริการได้ทันที

- หากไม่ได้แจ้งการประสบอันตราย แต่ตรวจพบว่า ลูกจ้างเจ็บป่วยจากการทำงาน ให้นายจ้างยื่นแบบ (กท.16) ที่สำนักงานประกันสังคม และยื่นแบบ (กท.44) ให้โรงพยาบาลเพื่อให้ทางโรงพยาบาลเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการรักษาจากกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม    

- หากตรวจพบว่า ไม่ได้ป่วยด้วยโรคจากการทำงาน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

เช็กโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการได้ที่นี่ https://bit.ly/3CpEwqn


ข้อมูลจาก

ศูนย์โรคกระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา

โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ

สำนักงานประกันสังคม


ข่าวแนะนำ