แชร์วิธีเก็บเงินอย่างไร ให้ได้ 1 ล้านบาทแรกเร็วขึ้น?
เผยวิธีออมเงินให้ได้ประสิทธิภาพ พร้อมแชร์เทคนิคการเก็บเงินให้ได้ 1 ล้านแรกเร็วขึ้น ต้องทำอย่างไร?
เก็บเงิน 1 ล้านบาท ในยุคที่ค่าครองชีพพุ่งแบบนี้ดูจะเป็นเรื่องยากของใครหลายคน เพราะรายได้ ค่าใช้จ่าย ความจำเป็นก็แตกต่างกันออกไป แต่การมีเงินเก็บไว้คงจะอุ่นใจกว่าในเผื่อยามฉุกเฉินจะได้ไม่ต้องไปหยิบยืมใคร หรือเป็นหนี้เพิ่มขึ้นจากเดิม ดังนั้นวันนี้ TNN ONLINE จึงได้นำวิธี เก็บเงิน 1 ล้านแรก ให้ได้มาฝากกัน
เทคนิคให้มีเงินเก็บ
- แบ่งเงินเป็น 4 ส่วน
- ส่วนที่หนึ่ง เงินสำหรับใช้จ่ายประจำ เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ ไม่ใช้ไม่ได้ เช่น ค่ากิน ค่าบ้าน ค่ารถ ค่าเรียน
- ส่วนที่สอง เงินที่อาจไม่ได้จำเป็นต้องใช้ แต่เป็นเงินส่วนที่ช่วยเพิ่มความสุขให้กับชีวิต เช่น ค่าช้อปปิ้ง กินเลี้ยงสังสรรค์ ไปเที่ยว
- ส่วนที่สาม เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน เป็นส่วนที่เราเตรียมไว้สำหรับใช้จ่ายเวลาเกิดปัญหาใหญ่ หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น อุบัติเหตุ เจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล
- ส่วนที่สี่ เงินที่ต้องเก็บออม
การแบ่งเงินเป็นส่วนๆ จะช่วยควบคุมการใช้จ่ายของเรา และทำให้เราเริ่มมีเงินออมได้ ซึ่งเปอร์เซนต์ของแต่ละส่วนอาจปรับได้ตามความเหมาะสมของแต่ละคน โดยส่วนที่เป็นเงินเก็บออม จะต้องรีบดึงออกมาเก็บก่อนทันที ในทุกครั้งที่ได้รับเงิน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน เงินค่าจ้าง รายได้ต่างๆ เพื่อจะได้ไม่เผลอใช้เงินส่วนนี้ไป สำหรับส่วนที่หนึ่ง และสอง ถ้าในเดือนนั้นใช้แล้วเหลือ ก็รวมมาเป็นเงินเก็บเพิ่มได้อีก เมื่อแบ่งเงินเป็นส่วนๆ แล้ว ก็ต้องหาที่เก็บให้ดี หากอยากสะสมเป็นเงินสดแนะนำให้ฝากบัญชีออมทรัพย์ หรือถ้าอยากจำกัดวินัยเพิ่มขึ้นก็ให้ฝากแบบบัญชีฝากประจำไปเลย เพราะจะมีกำหนดจำนวนฝากและเวลาไถ่ถอน ซึ่งช่วยควบคุมวินัยไม่ให้เราถอนเงินไปใช้ง่ายๆ หรือการนำไปต่อยอดด้วยการลงทุนในสินทรัพย์ เช่น กองทุนรวม หุ้น กองทุนทองคำ ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่ต้องยอมรับได้ด้วย
แบ่งเงินออมมาต่อยอดให้ได้ถึงเป้า 1 ล้านบาทเร็วขึ้น
แน่นอนว่าหากเก็บแต่เงินสดอย่างเดียวเงินอาจจะไม่งอกเงยได้รวดเร็วตามที่ตั้งใจแน่นอน การจะเพิ่มพูนเงินออมของเราก็คือการนำไปต่อยอดลงทุน ซึ่งวิธีการฝากออมทรัพย์อย่างที่บอกไปข้างต้น ดอกเบี้ยอาจจะไม่ได้สูงเท่ากับนำไปลงทุนในกองทุน หรือสินทรัพย์อื่นๆเช่นหุ้น แต่จะเก็บหรือออมให้ได้ 1 ล้านบาทแรกนั้น มีอยู่ 2 วิธี ได้แก่
1.วางแผนจัดสรรเงินออมให้มากขึ้น
วิธีนี้ฟังดูเหมือนง่าย แต่เวลาต้องทำจริงช่างยากลำบากซะเหลือเกิน เพราะการที่เราจะเก็บเงินออมให้มากขึ้นได้ ก็เท่ากับเราต้องไปลดค่าใช้จ่ายบางอย่างให้น้อยลง เช่น จากเดิมเราเก็บเงินได้ 2,000 บาทต่อเดือน ถ้าจะเก็บไปให้ถึง 1 ล้านบาท เราจะใช้เวลาเก็บเงินทั้งหมดประมาณ 42 ปีเลยทีเดียว แค่เห็นตัวเลขนี้ กว่าจะมีเงินล้านได้ ก็ดูต้องใช้เวลายาวนานจนเกินไป ยิ่งถ้าเริ่มออมตอนอายุเยอะไปแล้วยิ่งเป็นไปได้ยากเลยว่าไหม
แต่ถ้าหากเราออมเงินมากขึ้น เช่น สามารถเพิ่มเงินออมเป็น 5,000บาท หรือใครมีการเก็บออมที่เยอะขึ้นถึง 10,000 บาท ก็ย่อมทำให้ไปถึงเป้าหมายเงินล้านได้เร็วขึ้น ซึ่งจำนวนเงินออมจะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารรายรับและรายจ่ายของแต่ละคน ใครเงินเดือนเยอะ หรือมีรายได้เสริมมากๆ และเก็บออมได้มากก็ย่อมไปสู่เป้าหมายได้เร็วกว่าคนอื่น
2. เพิ่มผลตอบแทนให้เงินงอกเงยมากขึ้น ด้วยการลงทุน
ถ้าเราเก็บเงินได้มากขึ้น จะยิ่งรวยเร็วขึ้น ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เดิมที่เราเก็บเงินไว้ 5,000 บาทต่อเดือน แล้วนำไปลงทุนแทนการฝากเงินในธนาคาร ถ้าจะไปให้ถึง 1 ล้านบาท ถ้าลองลองคำนวณจะพบว่า จากอัตราผลตอบแทนหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ยกตัวอย่างที่ 1% (ซึ่งแล้วแต่ธนาคาร )เราจะใช้เวลาเก็บเงินทั้งหมด 15 ปีกับอีก 5 เดือน
แต่ถ้าหากเราเพิ่มเงินลงทุนให้มากขึ้น เช่น เพิ่มเงินออม เป็นนำไปลงทุน 5,000 บาท หรือใครมีการลงทุนที่เยอะขึ้นถึง 10,000 บาท ก็ย่อมทำให้เราไปถึงเป้าหมายเงินล้านได้เร็วขึ้น ในส่วนนี้มันขึ้นอยู่กับการบริหารรายรับรายจ่ายของแต่ละคนด้วย โดยการแบ่งเงินบางส่วนที่เราออมได้ในแต่ละเดือนมาจัดพอร์ตการลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมตราสารหนี้ ซึ่งการลงทุนในกองทุนรวมนั้นตามสถิติแล้วจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินไว้ในธนาคารและทำให้เราไปสู่เงินล้านได้เร็วขึ้นไปอีก แต่ข้อดีนอกเหนือจากผลตอบแทนแล้วนั่นคือ การสร้างวินัยการออมให้กับตัวเอง ยิ่งเราออมมากก็ยิ่งถึงเป้าหมายได้เร็วกว่ากำหนด
ยกตัวอย่างเช่น ลงทุนแบบ DCA อัตราผลตอบแทนก็จะได้ตามตารางด้านล่างนี้ จะเห็นว่าหากต้องการได้ 1 ล้านบาทแรก เร็วก็ต้องเติมเงินลงไปมากขึ้น อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่ที่ความสามารถรวมถึงภาระค่าใช้จ่ายของแต่ละคนด้วย (แต่ถ้าออมเยอะเราก็จะมีเงินเก็บเยอะนะ )
ภาพประกอบจาก : https://www.kasikornasset.com/th
แชร์วิธีเก็บเงิน 1 ล้านบาทแรกจากชาวเน็ต
นอกจากการลงทุนในสินทรัพย์แล้ว บนโซเชียลมีเดียได้มีการได้มีการแชร์วิธี เก็บเงิน1 ล้านบาทเเรก อย่างไร โดยต่างก็มีคนนำวิธีเก็บเงินของตนเองมาแชร์ ซึ่งแตกต่างกันไป ขณะเดียวกันยังพบด้วยว่า มีการตั้งเป้าหมาย และระยะเวลา การเก็บเงินของเเต่ละคนไม่เท่ากัน เนื่องจากมีหลายปัจจัยและความจำเป็นแตกต่างกัน เช่น
แบ่งเก็บจากเงินเดือน
- - อายุ 22 ปี เก็บเดือนละ 20,000 บาท ปีละ 240,000 อายุ 26 ปี ได้ 1 ล้านแรก
ลงทุนในกองทุนรวม
- - ลงทุนในกองทุนรวม 2,000 บาทต่อเดือน หากคิดผลตอบแทนเฉลี่ย 7% ต่อปี เป้าหมาย 1 ล้านบาทจะทำได้ใน 20 ปี
ลงทุนในหุ้น
- - เจ้าของคอมเม้นระบุว่า "ล้านนึงใช้เวลา 2.5 ปีครับ แต่อยู่ในรูปแบบหุ้นนะครับ ได้ปันผลก็เอาปันผลไปซื้อหุ้นต่อ มันก็ทบไปเรื่อย ๆ ต่อไปล้านนึงก็จะใช้เวลาน้อยลงไปเรื่อย ๆ"
เก็บเงินแบงค์พันทุกวัน
- -คิดง่ายๆแค่เก็บแบงค์พัน ให้ได้ 1 พันใบ ถ้าวันละ 1ใบ ก็พันวัน คิดเป็นเวลา 2.73 ปี ก็จะได้ 1 ล้านแรก
ลงทุนด้วยทองคำ
- - เจ้าของคอมเม้นบอกว่า ซื้อทองแท่งไว้เรื่อย ๆ เฉลี่ยประมาณตกบาทละ 17,500 มีอยู่ 50 บาท ตอนนี้ราคาทองบาทละ 29,650 = 1.48 ล้าน ได้มูลค่ามาเพิ่ม 6 แสนบาท
ภาพ : พีอาร์ YLG
การออมเงินไม่ใช่เรื่องยากและก็ไม่ใช่เรื่องง่ายซะทีเดียว ในสภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ น้ำมันแพง ข้าวของเครื่องใช้ขึ้นราคาในปัจจุบัน หลายคนอาจต้องลดสัดส่วนการออมลง เพราะค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นในขณะที่การบริโภคเท่าเดิม แต่การออมถือเป็นส่วนสำคัญของการบริหารเงินในกระเป๋า และอย่าลืมว่าออมอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีสภาพคล่องที่ดีด้วยถึงจะเรียกว่า บริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
อ้างอิง : https://www.kasikornasset.com/th ,https://www.krungsri.com/t
ภาพ : AFP ,ออมสิน