TNN เทสลา ตั้งบริษัทในไทย ส่งผลต่อตลาดยานยนต์บ้านเราอย่างไร?

TNN

TNN Exclusive

เทสลา ตั้งบริษัทในไทย ส่งผลต่อตลาดยานยนต์บ้านเราอย่างไร?

เทสลา ตั้งบริษัทในไทย ส่งผลต่อตลาดยานยนต์บ้านเราอย่างไร?

ตลาดยานยนต์คึกคัก เมื่อ เทสลา มาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย ส่งผลดีต่อตลาดยานยนต์ไฟฟ้าบ้านเราอย่างไร?

ช่วงที่ผ่านมาตลาดยานยนต์ในบ้านเราเริ่มคึกคักมากขึ้น กระแสของรถพลังงานไฟฟ้าเริ่มมีเข้ามาเรื่อยๆ ขณะเดียวกันประชาชนเองก็ตื่นตัวกับการที่ค่ายรถยนต์ต่างๆเริ่มออกรถยนต์ไฟฟ้าออกมาแข่งขันกันในตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะการมาของ เทสลา ตัวพ่อของวงการยานยนต์และเทคโนโลยี ยิ่งทำให้หลายคนตื่นเต้นกับการที่จะได้สัมผัสกับยานยนต์ล้ำๆของเทสลา 


โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ปัจจุบัน บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิต-จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าชื่อดังระดับโลกของ " อีลอน มัสก์ "  ได้เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในไทยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2565 ด้วยทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์จดทะเบียนตั้งบริษัทในไทย คือ ประกอบกิจการขายรถยนต์ไฟฟ้า ระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้งและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง ระบบผลิตพลังงานและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบพลังงาน


เทสลา ตั้งบริษัทในไทย ส่งผลต่อตลาดยานยนต์บ้านเราอย่างไร?

ภาพจาก : TNN Thailand 


ข้อมูลของเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุ ว่า บริษัท เทสลา Tesla ของ อีลอน มัสก์ ได้เข้ามาจดทะเบียนตั้งบริษัทในประเทศไทย ในชื่อ "บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด" 

 

โดยจดทะเบียนจัดตั้งแต่วันที่  25 เมษายน 2565 ทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท ที่น่าสนใจ คือ รายชื่อคณะกรรมการ ที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในบริษัท Tesla ได้แก่ 

-นายเดวิด จอน ไฟน์สไตน์ (David Jon Feinstein) ตำแหน่ง Global Senior Director – Trade Market Access 

- นายไวภา ตเนชา (Vaibhav Taneja) ผู้บริหารระดับสูงด้านการเงิน(Chief Accounting Officer) และเคยเป็นผู้อำนวยการของ Tesla India Motors and Energy Private Limited ในช่วงมกราคม 2021

- นายยารอน ไคลน์  (Yaron Klein) ผู้บริหารด้านทรัพย์สินของ Tesla และเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินของบริษัทลูกอย่าง Tesla Energy Operations 


วัตถุประสงค์จดทะเบียนตั้งบริษัท เทสลา Tesla ในไทย คือ ประกอบกิจการขายรถยนต์ไฟฟ้า ระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้งและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง ระบบผลิตพลังงานและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบพลังงาน  จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าเป็นการ "ขาย"รถ เท่านั้น ยังไม่ถึงกับมาประกอบรถในไทย 


ทั้งนี้ ปัจจุบัน Tesla ดำเนินการผลิตรถอยู่ 4 รุ่น ได้แก่

  • Tesla Model S ราคาเริ่มต้น 3.1 ล้านบาท
  • Tesla Model X ราคาเริ่มต้น 3.6 ล้านบาท
  • Tesla Model 3 ราคาเริ่มต้น 1.4 ล้านบาท
  • Tesla Model Y ราคาเริ่มต้น 1.9 ล้านบาท

(หมายเหตุ : เป็นราคาในเว็บไซต์ Official ของต่างประเทศ)


 และในอนาคตจะเริ่มกระบวนการผลิตรถรุ่นอื่น ๆ อีก ได้แก่  Tesla Roadster (Gen 2), Tesla Semi และ Cybertruck


นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ ไฟฟ้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เห็นความชัดเจนในการเข้ามาประเทศไทย ซึ่งบริษัทเทสลาเองได้ลงทุนที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนอยู่แล้วเพื่อส่งออกในประเทศเอเชีย เป็นศักยภาพโรงงานขนาดใหญ่มาก หรือ Giga Factory สามารถผลิตได้ครอบคลุม 50% ของยอดขายทั่วโลก รวมถึงสินค้าอื่นๆ เช่น แหล่งบรรจุพลังงาน แบตเตอรี่ โซลาร์แพแนล ก็อาจนำเข้ามาทำตลาดในทวีปเอเชียได้หมด


ซึ่งการเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย อาจเป็นเพียงการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามาจำหน่าย หรือวางระบบชาร์จให้แก่รถ อีวี เท่านั้น แต่เชื่อว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นเรื่องดีทั้งกับผู้บริโภคที่จะมีตัวเลือกมากขึ้น และประเทศไทยที่กำลังเห็นการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า


เทสลา ตั้งบริษัทในไทย ส่งผลต่อตลาดยานยนต์บ้านเราอย่างไร?

ภาพจากเว็บไซต์ : https://www.dbd.go.th/


สิ่งที่รัฐบาลต้องผลักดันต่อ คือ สถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ ที่ภาครัฐควรให้การสนับสนุนต่อ เนื่องจากนับจากนี้ไป 3 ปี เป้าหมายของรัฐบาลตั้งไว้ว่าการจดทะเบียนรถยนต์ EV จะไม่ต่ำกว่า 30% ของการจดทะเบียนรถยนต์ทั้งหมด หรือประมาณ 225,000 คัน และไม่ใช่ทุกคนที่จะชาร์จที่บ้านได้ บางคนอาศัยอยู่ในคอนโด อยู่ในหอพัก ดังนั้นสถานีชาร์จต้องครอบคลุมด้วย


ด้านนายณัฐกร อุเทนสุต โฆษกกรมสรรพสามิต ได้เปิดเผยว่า เทสลา ยังไม่ได้มีการเข้ามาหารือกับกรมสรรพสามิต เพื่อขอเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของรัฐบาล เพื่อรับเงินอุดหนุนสูงสุด 150,000 บาท และสิทธิพิเศษทางภาษี ทั้งการลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% รวมถึงการลดอากรนำเข้าจากศุลกากร 20-40%  ทำให้การตั้งบริษัทตัวแทนจำหน่าย หรือดีลเลอร์ เชื่อว่าจะเป็นการเข้ามาทดลองทำตลาดในไทยก่อน แต่ยังไม่ได้มีแผนเข้ามาจัดโรงงานการผลิตในประเทศไทย 


สำหรับ ปัจจุบันมีค่ายรถยนต์ ที่เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเรียบร้อยแล้วจำนวน 5 ราย ประกอบด้วย บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) ,บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำกัด ,บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด ,บริษัทเอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และอีกหนึ่งบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า บริษัท เดโก กรีน เอนเนอร์จี จำกัด


หลายฝ่ายมองว่ามีความเป็นไปได้ว่า เทสลา Tesla อาจเข้ามาจดทะเบียนทิ้งไว้ ซึ่งยังต้องติดตามความเคลื่อนไหวของ เทสลา อีกครั้ง แต่ที่แน่ๆคือ ข่าวคราวการมาของเทสลาก็ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าบ้านเราตื่นตัวขึ้นมาก จากที่เราจะเห็นว่ามีค่ายรถยนต์หลายค่าย ทยอยปล่อยรถยนต์พลังงานไฟฟ้าออกมา ทั้งแบบไฮบริด และแบบไฟฟ้า 100% ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ซื้อที่จะมีทางเลือกมากขึ้นหากกำลังจะพิจารณาซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสักคัน


ข้อมูลจาก : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  https://www.dbd.go.th/

ภาพจาก : TNN Online , tesla.com



ข่าวแนะนำ