ยื่นภาษี แบบคนมีครอบครัว แยกยื่น หรือ รวมยื่น เลือกแบบไหนดี?
วางแผนภาษี ฉบับคนมีครอบครัว จดทะเบียนสมรสแล้ว สามี-ภรรยา ควรยื่นแบบไหนดี ระหว่างแยกยื่น กับ รวมยื่น พร้อมตัวอย่างการคำนวณค่าใช้จ่ายแบบคร่าวๆก่อนตัดสินใจ
ช่วงนี้หลายคนอาจจะกำลังวางแผน ยื่นภาษี กันอยู่ เพราะอีกไม่กี่เดือนก็จะสิ้นสุดระยะเวลาให้ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปี 2564 แล้ว ในกลุ่มที่เป็นคนโสด การยื่นก็อาจจะไม่ยุ่งยากเท่าไหร่ แต่ในกรณีที่จดทะเบียนสมรสแล้ว อาจจะเพิ่มขั้นตอนการยื่นอีกนิดหน่อย แต่อาจจะยากในการคิดคำนวณกรณี มีค่าลดหย่อนภาษี วันนี้ TNN Online นำข้อมูลสำหรับ ผู้ยื่นภาษีกลุ่มมีครอบครัวแล้วหรือสามี ภรรยามาฝากกัน
สำหรับการพิจารณาทางเลือกในการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับคู่สามีภรรยานั้น มีอยู่ 3 วิธี ได้แก่
1. รวมยื่นแบบแสดงรายการ
โดยวิธีที่นี้เป็นการรวมเงินได้ทั้งหมดของทั้ง 2 ฝ่ายเข้าด้วยกัน แล้วนำไปให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ยื่นแบบ สามารถทำได้ 2 วิธี คือ
- รวมยื่นแบบแสดงรายการในนามสามี คือ การที่ภรรยานำเงินได้ทั้งหมดของตนไปรวมกับเงินได้ทั้งหมดของสามี แล้วให้สามีเป็นผู้ยื่นแบบ หรือ
- รวมยื่นแบบแสดงรายการในนามภรรยา คือ การที่สามีนำเงินได้ทั้งหมดของตนไปรวมกับเงินได้ทั้งหมดของภรรยา แล้วให้ภรรยาเป็นผู้ยื่นแบบ
โดยการรวมยื่นแบบแสดงรายการแบบนี้ เหมาะสำหรับกรณี สามีหรือภรรยา ที่คนใดคนหนึ่ง มีรายได้ต่างกับอีกฝ่ายหนึ่งมาก และฝ่ายที่มีรายได้ต่ำกว่านั้น ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เต็มสิทธิ จึงรวมรายได้กันและให้ฝ่ายมีรายได้มากกว่าเป็นผู้ยื่นแบบ ทำให้สามารถรวมสิทธิค่าลดหย่อนทางภาษีต่างๆ ของฝ่ายที่มีรายได้น้อย ที่ยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มสิทธิ ไปให้อีกฝ่ายที่มีภาระภาษีสูงกว่าได้ประโยชน์
ตัวอย่าง ยืนภาษี กรณีภรรยามีรายได้จากดอกเบี้ยทั้งปี 50,000 บาท แต่มีค่าลดหย่อน ได้แก่ ค่าลดหย่อนส่วนตัวและค่าลดหย่อนบิดา-มารดา รวมกันเท่ากับ 120,000 บาท ทำให้รายได้สุทธิของภรรยาติดลบ แต่เมื่อนำรายได้และค่าลดหย่อนไปรวมกับสามี จะทำให้ทั้งคู่เสียภาษีน้อยลงนั่นเอง
ภาพประกอบ : AFP
2. แยกยื่นเฉพาะเงินเดือน ส่วนเงินได้อื่นๆ นำไปยื่นรวมในนามอีกฝ่าย
ซึ่งวิธีนี้สามารถทำได้ 2 วิธีย่อย คือ
- ภรรยาแยกยื่นแบบภาษีเฉพาะเงินเดือนของตัวเอง ส่วนเงินได้อื่นๆ นำไปรวมกับเงินได้ของสามี แล้วยื่นภาษีรวมดันในนามสามี หรือ
- สามีแยกยื่นแบบภาษีเฉพาะเงินเดือนของตัวเอง ส่วนเงินได้อื่นๆ นำไปรวมกับเงินได้ของภรรยา แล้วยื่นภาษีรวมดันในนามภรรยา
เงินได้อื่นๆ เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่าบ้าน เงินรับจ้างทำของ เป็นต้น วิธีนี้เหมาะกับสามีภรรยาที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเงินเดือนมาก และมีรายได้จากทางอื่นด้วย แต่หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนในส่วนของเงินเดือนเต็มสิทธิทางกฎหมายแล้ว ทำให้รายได้อื่นที่เพิ่มมา นอกจากจะหักค่าใช้จ่ายเพิ่มไม่ได้ ยังเป็นรายได้ส่วนเพิ่มที่ทำให้ฐานภาษีสูงขึ้น และต้องเสียภาษีมากขึ้น ก็สามารถยื่นแบบเฉพาะเงินเดือน และนำเงินได้อื่นๆ ไปรวมกับอีกฝ่ายที่มีรายได้น้อยกว่า และยังใช้สิทธิค่าลดหย่อน และค่าใช้จ่ายยังไม่เต็มสิทธิ ก็จะช่วยประหยัดภาษีได้มากกว่า
ตัวอย่าง รายได้ทั้งปีของนาย A สามี มีเงินเดือนหลังหักค่าใช้จ่าย 1,000,000 บาท และมีเงินได้ประเภทอื่นหลังหักค่าใช้จ่าย 50,000 บาท ส่วนรายได้ทั้งปีของ B ภรรยา มีเงินเดือนหลังหักค่าใช้จ่าย 300,000 บาท และมีเงินได้ประเภทอื่นหลังหักค่าใช้จ่าย 100,000 บาท หากแยกยื่น A จะมีฐานภาษีอยู่ที่ 25% ส่วนB จะมีฐานภาษีอยู่ที่ 10% แต่ถ้านำรายได้ประเภทอื่นของ A ไปยื่นรวมกับ B B ก็ยังคงเสียภาษีในฐาน 10% ส่วน A ซึ่งยื่นเฉพาะเงินเดือนของตัวเอง ฐานภาษีจะลดลงมาอยู่ที่ 20%
3. แยกยื่นแบบแสดงรายการ
กรณีคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสกัน สามารถแยก ยื่นภาษี ได้ ต่างคนต่างยื่นแบบจากรายได้ส่วนตัวของตนเองได้ ไม่ต้องนำรายได้มารวมกัน และสามารถใช้สิทธิหักค่าลดหย่อน และค่าใช้จ่ายแยกกันตามกฎหมายได้เลย ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับกรณีที่ทั้ง 2 ฝ่าย มีรายได้พอๆ กัน เสียภาษีในอัตราฐานภาษีที่ใกล้เคียงกัน และมีค่าลดหย่อนต่างๆ ใกล้เคียงกัน เมื่อแยกยื่นจะเป็นการกระจายหน่วยภาษี ทำให้ต่างฝ่ายต่างเสียภาษีในอัตราที่เหมาะสม นอกจากนี้การแยกยื่นจะทำให้เกิดความสะดวกกับทั้ง 2 ฝ่าย หากไม่ต้องการให้อีกฝ่ายมายุ่งเกี่ยวในการบริหารเงินส่วนตัวของตนเอง
ตัวอย่าง ถ้ารายได้ของคู่สามีภรรยาอยู่ในฐานภาษีเดียวกัน เช่น อยู่ที่ฐานภาษี 20% เท่ากัน ถ้าลองคำนวณคร่าวๆแบบยื่นรวม หรือแยกยื่นเฉพาะเงินเดือนของตัวเองแล้วไม่ได้ช่วยให้ภาษีโดยรวมของทั้งคู่ลดน้อยลง ก็ให้ใช้วิธีแยกยื่นภาษีของแต่ละฝ่ายไปจะได้ประโยชน์มากกว่า
ส่วนแนวทางการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี คู่สมรสนั้น สามารถดูแนวทางสรุปคร่าวๆได้ตามตารางข้างล่างนี้
ค่าใช้จ่ายสำหรับลดหย่อนภาษี | กรณีรวมยื่น | กรณีแยกยื่น |
ส่วนตัวและคู่สมรส | รวมกันไม่เกิน 120,000 บาท | คนละ 60,000 บาท |
บุตร | รวมกันได้ 60,000 บาท ต่อบุตร 1 คน บุตรคนที่ 2 เป็นต้นไปที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2561 ได้คนละ 120,000 บาทต่อบุตร 1 คน | คนละ 30,000 บาท บุตรคนที่ 2 เป็นต้นไปที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2561 ได้คนละ 60,000 บาท |
บิดามารดา | ละ 30,000 บาท บิดามารดาคู่สมรสท่านละ 30,000 บาท | ละ 30,000 บาท บิดามารดาคู่สมรสท่านละ 30,000 บาท |
เบี้ยประกันชีวิต | รวมกันไม่เกิน 200,000 บาท (คนละ 100,000 บาท) | คนละ 100,000 บาท หากคู่สมรสไม่มีรายได้ ลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตของฝ่ายที่ไม่มีเงินได้อีก 10,000 บาท |
ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมซื้อบ้าน | ปีละไม่เกิน 100,000 บาทต่อผู้มีเงินได้ 1 คน สิทธิจะอยู่กับผู้ที่มีชื่อในสัญญาเป็นผู้กู้ โดยเฉลี่ยค่าลดหย่อนตามจำนวนผู้กู้ การลดหย่อนจึงขึ้นอยู่กับลักษณะการกู้ | |
- หากสามีภรรยากู้ร่วมกันและรวมยื่นแบบ จะลดหย่อนได้คนละครึ่งหนึ่งแต่ไม่เกิน 50,000 บาท และรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท - ต่างฝ่ายต่างกู้ไม่ว่าก่อนหรือระหว่างสมรส ใช้สิทธิของตนเองแต่ไม่เกิน 100,000 บาทและใช้สิทธิของคู่สมรสได้อีกไม่เกิน 100,000 บาท รวมกันไม่เกิน 200,000 บาท - หากมีเงินได้ฝ่ายเดียว แต่ฝ่ายที่ไม่มีเงินได้เป็นผู้กู้คนเดียว ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ | - หากสามีภรรยากู้ร่วมกันและแยกยื่นแบบ จะลดหย่อนได้คนละครึ่งหนึ่งแต่ไม่เกิน 50,000 บาท /กรณีกู้ร่วมกันแต่มีเงินได้ฝ่ายเดียว สามารถใช้สิทธิของฝ่ายที่ไม่มีเงินได้ได้ด้วย (รวมเป็นไม่เกิน 100,000 บาท) - ต่างฝ่ายต่างกู้ไม่ว่าก่อนหรือระหว่างสมรส ต่างฝ่ายต่างลดหย่อนได้ตามจริงสำหรับส่วนของตนเองแต่ไม่เกิน 100,000 บาท - หากมีเงินได้ฝ่ายเดียว แต่ฝ่ายที่ไม่มีเงินได้เป็นผู้กู้คนเดียว ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ |
ข้อมูลจาก : กรมสรรพากร,ธนาคารไทยพาณิชย์ ณ 25 ม.ค.65
การจะเลือกวางแผน ยื่นภาษี ของคู่สมรสไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ตาม ลองคำนวณค่าใช้จ่ายค่าลดหย่อนแบบคร่าวๆดูก่อน โดยจะต้องให้เราได้รับประโยชน์มากที่สุด หรือประหยัดค่าใช้จ่ายมากที่สุด หากวางแผนภาษีดีๆ เผลอๆจะได้คืนภาษีกลับมาเป็นค่าขนมให้ลูกๆหลานๆก็ได้ .....
อ้างอิงข้อมูลจาก : กรมสรรพากร ,https://www.scb.co.th/
ภาพประกอบ : AFP,เว็บไซต์ กรมสรรพากร